นโยบาย “จีน” ยุคโลก 2 ขั้ว รุกเอเชีย-มองเพื่อนบ้าน

โลกกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ จากสงครามการค้าซึ่งส่งผลกระทบต่อระเบียบโลกในปัจจุบัน ทำให้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลง ขณะที่มหาอำนาจเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลกอย่าง “จีน” ซึ่งได้รับผลกระทบ
เริ่มปรับตัว ทั้งการปฏิรูปภายในและปรับนโยบายต่างประเทศเพื่อรับมือกับความท้าทายในปัจจุบัน ในงานเสวนาความรู้ “จีนกับนโยบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเมื่อกระแสโลกเปลี่ยน” ของธนาคารกรุงเทพ ได้เชิญวิทยากรที่น่าสนใจเพื่อมาให้ความรู้ต่อนโยบายของจีนที่เปลี่ยนไป ดังนี้

มิติทับซ้อน “สงครามการค้า”

ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร์ ผู้ช่วยคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึง “สงครามการค้า” ว่าไม่ใช่แค่เรื่องของการค้า แต่คาบเกี่ยวความขัดแย้งที่ทับซ้อนกันอยู่ 3 มิติ 1) เรื่องการขาดดุลการค้าของสหรัฐอเมริกาต่อจีน 2) การแข่งขันเพื่อชิงความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีของสองมหาอำนาจ อาทิ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI), 5G และอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (IOT) ดังนั้น ปมขัดแย้งเรื่องที่ 3) คือความขัดแย้งด้านความมั่นคงจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งมีมิติความมั่นคงด้านข้อมูลมาเกี่ยวข้อง

ดร.อาร์มกล่าวเพิ่มว่า มิติความมั่นคงจากเทคโนโลยีสมัยใหม่กำลังทำให้เกิดการแบ่งเศรษฐกิจโลกออกเป็น 2 ห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งทางวิชาการเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “การแบ่งเศรษฐกิจโลก 2 ขั้ว” (The great decoupling) ซึ่งจะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจโลกทำให้เติบโตช้าลง

เข้าสู่ยุคเศรษฐกิจโลก 2 ขั้ว

กูรูผู้เชี่ยวชาญด้านจีน “ดร.อาร์ม” ชี้ว่า เศรษฐกิจในอดีตมีความเชื่อมโยงกันอย่างลึกซึ้ง ดังนั้น หากจีนและสหรัฐพยายามแยกออกจากกันจึงทำให้ต่าง “เจ็บตัว” ทั้งคู่ อย่างไรก็ตาม การแตกห่วงโซ่อุปทาน 2 ขั้วจะเกิดขึ้นในระยะยาวอย่างแน่นอน นอกจากนี้ อาจมีการแยกโลกอินเทอร์เน็ต รวมถึงสกุลเงินดิจิทัลเป็น 2 โลก ขณะที่ประเทศต่าง ๆ ก็ต้องเลือกว่าจะเชื่อมต่อกับจีนหรือสหรัฐฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

ดร.อาร์มกล่าวทิ้งท้ายว่า “เรากำลังจะเห็นการสงบศึกการค้าในระยะสั้น แต่จะไม่ยุติความขัดแย้งทั้งหมด การลงนามข้อตกลงการค้าจะตกลงกันได้เฉพาะเฟสแรกเท่านั้น เนื่องจากเป็นการคุยกันว่าจะไม่มีการขึ้นภาษีรอบใหม่ แต่สำหรับเฟสต่อไปที่อาจรวมไปถึงการอุดหนุนรัฐวิสาหกิจ การพัฒนาเทคโนโลยีของจีน รวมถึงทรัพย์สินทางปัญญามาเกี่ยวข้อง ก็อาจจะคุยกันยาก”

จีนเสริมแกร่ง “บริโภคภายใน”

นอกจากนี้ ในเวทีเสวนายังมี ฯพณฯ พิริยะ เข็มพล อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปักกิ่งและที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีที่กล่าวว่า จีนพยายามปฏิรูปเศรษฐกิจภายในประเทศให้แข็งแกร่งขึ้น เพื่อรองรับสังคมผู้บริโภคอย่างเต็มรูปแบบโดยรัฐบาลจีนได้แก้กฎหมายการลงทุนของต่างประเทศเพื่อให้ชาวต่างชาติสามารถลงทุนได้ 100% ในหลายกิจการ เช่น ธุรกิจบันเทิง, ธุรกิจพลังงาน เป็นต้น นอกจากนี้ จีนยังออกวีซ่าพิเศษแก่ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เช่น นักวิจัย หรือนักธุรกิจ รวมถึงการเพิ่มโควตาให้รัฐบาลท้องถิ่นออกพันธบัตรเพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านหยวน ซึ่งจะทำให้เกิดการลงทุนอย่างต่อเนื่องในระดับมณฑล และการลดภาษีภาคธุรกิจเพื่อกระตุ้นการบริโภคภายใน

นอกจากนี้ การเข้าสู่สังคมผู้บริโภคอย่างเต็มรูปแบบ จึงจำเป็นต้องหาฐานการผลิตใหม่เพื่อรองรับการบริโภคภายในประเทศที่มากขึ้น ดังนั้น จะเห็นทุนจีนหาฐานผลิตใหม่นอกประเทศมากขึ้น

ผนึกกำลัง BRI กับอาเซียน

ฯพณฯ พิริยะ กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลจีนให้ความสนใจ “อาเซียน” อย่างมาก โดยมองว่าเป็นเขตเศรษฐกิจที่มีการเติบโตเร็ว โดยยุทธศาสตร์โครงการเส้นทางสายไหมใหม่ (Belt and Road Initiatives : BRI) เปลี่ยนจากการตอบโจทย์ภายในประเทศมาสู่การมองหาตลาดและพันธมิตรใหม่ ๆ นอกประเทศผ่านการเชื่อมโยงเข้ากับกรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคต่าง ๆ เช่น ACMECS, MLC รวมถึงแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน 2025 (MPAC 2025)

ทูตพิริยะมองว่า “โครงการ EEC ของไทยเปรียบเสมือนศูนย์กลางของกรอบความร่วมมือที่กล่าวมาทั้งหมด โดยจีนเป็นตัวผลักดันขับเคลื่อน ขณะที่โครงการ EEC ของไทยก็เป็นสิ่งใหม่ที่สามารถสร้างความจูงใจให้สอดรับกับ BRI เราจะเห็นสิ่งดี ๆ ไหลบ่าเข้ามาในภูมิภาคนี้ ดังนั้น เราต้องสร้างเขื่อนกักไว้โดยเฉพาะสตาร์ตอัพที่กำลังจะย้ายฐานจากแรงกดดันของสหรัฐ ซึ่งประเทศไทยจะต้องสร้างระบบนิเวศเพื่อรองรับ เพราะแค่การชักชวนการลงทุนไม่พอ”

“ไทย-จีน” ยังเชื่อมโยงกันน้อย

ขณะที่ ดร.ไจ๋ คุน รองผู้อำนวยการสถาบันอาณาบริเวณศึกษา มหาวิทยาลัยปักกิ่ง กล่าวว่า จากการจัดทำดัชนีความเชื่อมโยงด้านต่าง ๆ ระหว่างจีนกับอาเซียน พบว่าความเชื่อมโยงระหว่างไทยกับจีนยังถือว่าน้อย โดยอยู่อันดับที่ 3 ของอาเซียน ซึ่งยังเป็นรองจากมาเลเซีย และสิงคโปร์ สาเหตุจากความล่าช้าของไทยในการดำเนินการเพื่อเชื่อมต่อกับยุทธศาสตร์ BRI ตั้งแต่ปี 2013 แต่ปัจจุบันไทยเริ่มปรับตัวดีขึ้น มีการดำเนินการที่ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งคาดว่าในอนาคตจะมีการเชื่อมโยงกันที่ดีกว่านี้