เศรษฐกิจ 3 ยักษ์เจอทางตัน กระสุนด้าน…เสี่ยงถดถอย

เศรษฐกิจโลกปี 2019 เผชิญกับภาวะชะลอตัวจากปัญหาความขัดแย้งทางการค้า ส่งผลให้ธนาคารกลางหลายแห่ง เช่น ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (เฟด), ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) และธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) จำเป็นต้องดำเนินมาตรการผ่อนคลายทางการเงินต่อเนื่อง นับตั้งแต่ วิกฤตเศรษฐกิจปี 2008 แต่การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับต่ำ และมีมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) ติดต่อกันเป็นเวลานาน ส่งผลให้มาตรการทางการเงินขาดประสิทธิภาพในการกระตุ้นเศรษฐกิจ

นำมาซึ่งการคาดการณ์ว่ารัฐบาลอาจจำเป็นต้องดำเนินมาตรการทางการคลังเพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจ

บลูมเบิร์กคาดการณ์ว่า ในปี 2020 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาลโดยเฉพาะประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจโลกจากภาวะถดถอย อย่างไรก็ตาม การดำเนินนโยบายการคลังของแต่ละประเทศจะเผชิญกับอุปสรรคที่แตกต่างกัน เช่น การมีหนี้สาธารณะจำนวนมหาศาล และปัญหาการเมือง เป็นต้น

จากก่อนหน้านี้ รัฐบาล “ญี่ปุ่น” ได้ประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2016 ล่าสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี ชินโสะ อาเบะ ประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นเม็ดเงินกว่า 120,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากกังวลว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นอาจมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอยมากขึ้นจากหลายปัจจัย อาทิ ภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย, การปรับเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น 10% รวมถึงภาวะชะลอตัวหลังการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในปี 2020 อย่างไรก็ตาม รายงานแสดงความกังวลว่ามาตรการดังกล่าวอาจส่งผลต่อภาระหนี้สาธารณะของประเทศที่มากกว่า 230% ของจีดีพี

ขณะที่สหภาพยุโรป (อียู) ก็เผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยเช่นกัน โดยรายงานประเมินภาวะเศรษฐกิจยุโรป ปี 2019 ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ระบุว่า เศรษฐกิจยุโรปกำลังเผชิญกับภาวะถดถอยจากความไม่แน่นอน กรณีความขัดแย้งทางการค้า รวมถึงการถอนตัวของอังกฤษ หรือ “เบร็กซิต”

โดยไอเอ็มเอฟแนะนำว่า รัฐบาลประเทศต่าง ๆ จำเป็นต้องดำเนินมาตรการการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจควบคู่กับนโยบายของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี)

ทั้งนี้ มีหลายประเทศในยุโรปที่ยังเผชิญปัญหาหนี้สาธารณะจำนวนมหาศาลอย่าง อิตาลี กรีซ และสเปน ส่งผลให้รัฐบาลไม่สามารถเพิ่มรายจ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้

ขณะที่ “อียู” ฝากความหวังไว้กับ “เยอรมนี” ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในยุโรป ที่ยังมีสถานะการคลังที่แข็งแกร่ง โดยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเยอรมันจะเป็นปัจจัยสำคัญช่วยให้ยุโรปพ้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย

อย่างไรก็ตาม รอยเตอร์สรายงานว่า เยอรมนีมีนโยบายควบคุมการใช้จ่ายของรัฐบาลที่เข้มงวด ที่เรียกว่า “แบล็กซีโร่” (black zero) โดยรัฐบาลจัดทำงบประมาณเกินดุลติดต่อกันนับตั้งแต่ปี 2014

นอกจากนี้ รัฐบาลเยอรมันสามารถจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลได้ไม่เกิน 0.35% ของจีดีพีเท่านั้น แม้ภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันกดดันให้ต้องปรับวิธีการดำเนินนโยบายการคลัง “แบบขาดดุล” เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก เพราะการจัดทำงบประมาณที่เข้มงวดเป็นแนวคิดหลักของพรรคประชาธิปไตยสังคม (SPD) ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ขณะที่การจัดทำงบประมาณขาดดุล รวมถึงการเพิ่มเพดานการขาดดุลงบประมาณ จำเป็นต้องได้จำนวนเสียงสนับสนุนถึง 2 ใน 3 ของรัฐสภา

ส่วน “สหรัฐอเมริกา” แม้ว่ากระบวนการจัดทำงบประมาณไม่ได้เข้มงวดอย่างเยอรมนี แต่ปัญหาภาระหนี้สาธารณะจำนวนมหาศาลได้ก่อให้เกิดข้อถกเถียงในสภาคองเกรสต่อการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเช่นกัน

“ซีเอ็นเอ็น” รายงานว่า รัฐบาลสหรัฐดำเนินนโยบายงบประมาณขาดดุลมากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปีงบประมาณ 2019 ซึ่งเป็นการทำงบประมาณขาดดุลมากที่สุดในรอบ 7 ปี เพิ่มขึ้น 19% เทียบกับปี 2018

ขณะเดียวกัน ตั้งแต่ที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เข้ารับตำแหน่งในปี 2017 หนี้สาธารณะได้เพิ่มขึ้นจาก 19 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ สู่ระดับ 22 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 106% ของจีดีพี

นอกจากนี้ นายทรัมป์ยังได้ลงนามกฎหมายระงับเพดานหนี้ ซึ่งส่งผลให้รัฐบาลสามารถเพิ่มหนี้สินและดำเนินงบประมาณขาดดุลจำนวนมหาศาลถึงปี 2021 ซึ่งสร้างความกังวลต่อสมาชิกสภาคองเกรสจำนวนมาก และอาจส่งผลต่อการพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมของรัฐบาล

ทั้งนี้ “ฮันนา แอนเดอร์สัน” นักกลยุทธ์เศรษฐกิจมหภาคของเจพี มอร์แกน ระบุว่า ในปีหน้าสหรัฐอาจไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ผลพวงจากความเห็นที่แตกต่างต่อประเด็นการขาดดุลงบประมาณในสภาคองเกรส