ย้อนเหตุการณ์ “สหรัฐ-อิหร่าน” เขย่าโลก

เหตุการณ์สังหารลอบสังหารนายทหารระดับสูงของอิหร่านพลตรี คัสเซม โซไลมานี” โดยกองกำลังของสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 3 ม.ค. ที่ผ่านมา สร้างความวิตกกังวลไปทั่วโลกที่เกรงว่าจะเกิดการใช้กำลังทหารตอบโต้กันอย่างรุนแรง และอาจลุกลามบานปลายจนกลายเป็น “สงครามเต็มรูปแบบ” ซึ่งจะส่งผลกระทบซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวอยู่ในปัจจุบัน

สถานการณ์ในตะวันออกกลางตึงเครียดขึ้นอีกครั้ง หลังจากที่ “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา ได้ออกคำสั่งให้กองกำลังสหรัฐใช้ปฏิบัติการทางการทหารลอบสังหารโซไลมานี ผู้บัญชาการกองกำลังคุดส์ของหน่วยปฏิบัติการพิเศษของกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม โดยใช้อากาศยานไร้คนขับ (โดรน) บุกเข้าโจมตีบริเวณท่าอากาศยานนานาชาติกรุงแบกแดด ประเทศอิรัก

เหตุการณ์ดังกล่าวได้สร้างความโกรธแค้นให้กับชาวอิหร่านเป็นอย่างยิ่ง ท่ามกลางความกังวลของทั่วโลกว่าความตึงเครียดในตะวันออกกลางครั้งใหม่นี้จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมน้ำมัน ส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลงทันที สวนทางกับราคาน้ำมันและทองคำที่เพิ่มสูงขึ้นในวันเดียวกันนั้น

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ได้คลี่คลายลงในเวลาต่อมา โดยนักวิเคราะห์ต่างมองว่า ความตึงเครียดครั้งนี้แม้จะมีโอกาสที่อิหร่านจะตอบโต้ทางการทหารต่อสหรัฐและชาติพันธมิตร แต่ยังจะไม่พัฒนาไปถึงขั้นสงครามเต็มรูปแบบอย่างที่กังวล

“อิหร่าน” ประกาศล้างแค้นอย่างสาสม

หลังการสังหารโซไลมานี ทางการอิหร่านได้ประกาศให้มีการไว้ทุกข์เป็นเวลา 3 วันก่อนที่จัดพิธีฝังศพในวันนี้ (7 ม.ค.) สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า ชาวอิหร่านจำนวนมากได้เดินทางไปร่วมพิธีศพของโซไลมานี ที่ถูกจัดขึ้นอย่างสมเกียรติที่เมืองเคอร์แมนของอิหร่าน ซึ่งเป็นบ้านเกิดของโซไลมานี

ขณะที่ ช่วงเวลาไว้ทุกข์ก่อนหน้านี้ถูกจัดขึ้นที่กรุงเตหะราน เมืองหลวงของอิหร่าน ซึ่งก็มีผู้เข้าร่วมพิธีเป็นจำนวนมากเช่นกัน โดยบรรยากาศเต็มไปด้วยความเศร้าโศกและความโกรธแค้น และในวันที่ 6 ม.ค. ที่ผ่านมา “อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี” ผู้นำสูงสุดของอิหร่านยังได้เป็นผู้นำสวดในพิธี พร้อมกับหลั่งนำตาแสดงความอาลัยต่อการจากไปของโซไลมานี ท่ามกลางชาวอิหร่านจำนวนมากที่มาเข้าร่วมพิธีประมาณการว่ามีผู้คนเข้าร่วมพิธีศพมากถึงล้านคน

ทั้งนี้ โซไลมานีนับว่าเป็นบุคคลที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของอิหร่าน รองจากคาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่านคนปัจจุบัน แต่สหรัฐมองว่าโซไลมานีเป็นผู้อยู่เบื้องหลังกลุ่มก่อการร้ายหลายกลุ่มในตะวันออกกลาง

ซึ่งภายหลังเหตุการณ์ครั้งนี้ คาเมเนอีระบุว่า การกระทำดังกล่าวจะเพิ่มแรงจูงใจในการต่อต้านสหรัฐเป็นเท่าตัว ขณะที่ “ฮัสซัน รูฮานี” ประธานาธิบดีของอิหร่านกล่าวว่า “เราทุกคนจะแก้แค้น” ส่วน “เอสมาเอล กานี” รองผู้บัญชาการกองกำลังคุดส์ที่ได้ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการแทนโซไลมานี ได้ประกาศว่าจะต้องมีการ “แก้แค้นอย่างถึงที่สุด”

ทั้งนี้ รัฐบาลอิหร่านได้ประกาศยกเลิกการปฏิบัติตามข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2015 ซึ่งกำหนดให้อิหร่านจำกัดการผลิตแร่ยูเรเนียมซึ่งเป็นส่วนประกอบของการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ เพื่อแลกเปลี่ยนกับการยกเลิกมาตรการแซงก์ชั่นทางเศรษฐกิจของสหรัฐ และยังได้ส่งเรื่องถึงสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เพื่อประณามปฏิบัติการทางการทหารของสหรัฐครั้งนี้ โดยระบุว่าเป็น “การก่อการร้ายและเป็นการก่ออาชญากรรมที่ผิดกฎหมาย”

ล่าสุดสำนักข่าวซีซีทีวีรายงานว่า “อัสซาดุลลาห์ อับบาซี” ประธานคณะกรรมาธิการรัฐสภาอิหร่าน ได้เปิดเผยว่า รัฐสภาอิหร่านกำลังผลักดันร่างกฎหมายเร่งด่วน 3 ฉบับ เพื่อตอบโต้การกระทำของสหรัฐ โดยยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดทั้งหมด แต่ในวันนี้ (7 ม.ค.) รัฐสภาอิหร่านได้ลงมติรับรองกฎหมายขึ้นบัญชี “กองทัพและกระทรวงกลาโหมของสหรัฐ” ในประเภท “องค์การก่อการร้าย”

 

“อิรัก” ขับ “ทหารมะกัน” พ้นประเทศ

รัฐสภาของอิรักได้ลงมติให้สหรัฐถอนกองกำลังทหารออกจากประเทศอิรัก เพื่อหลีกเลี่ยงความรุนแรง ในกรณีที่อิหร่านตัดสินใจตอบโต้ทางการทหารต่อกองกำลังสหรัฐในอิรัก ที่อาจสร้างความเสียหายและส่งผลให้อิรักกลายเป็นสมรภูมิในการสู้รบสองฝ่าย แม้ว่าประธานาธิบดีทรัมป์ของสหรัฐข่มขู่จะใช้มาตรการแซงก์ชั่นอิรักอย่างรุนแรง หากมีการขับไล่กองกำลังอเมริกันออกจากอิรัก

ล่าสุด “เยอรมนี” ซึ่งเป็นมีกองกำลังพันธมิตรต่อต้านไอเอสในอิรัก ได้ดำเนินการถอนกำลังทหารบางส่วนแล้ว แต่สหรัฐยังคงยืนยันว่า ยังไม่มีการถอนกำลังทหารสหรัฐออกจากอิรัก แม้จะมีการเปิดเผยหนังสือของผู้นายทหารระดับสูงของสหรัฐที่ระบุว่า อาจมีการถอนกำลังทหารสหรัฐจริง

“นานาชาติ” วอน อดทนอดกลั้นรักษาสันติ

หลังเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ได้มีการเรียกประชุมประเทศสมาชิกเป็นกรณีเร่งด่วนเมื่อวันที่ 6 ม.ค. ที่ผ่านมา เพื่อหารือสถานการณ์ในตะวันออกกลาง โดย “เจน สโตลเลนเบิร์ก” เลขาธิการนาโต ได้กล่าวภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมว่า “กลุ่มประเทศสมาชิกนาโตขอประณามการสนับสนุนกลุ่มผู้ก่อการร้ายและกองกำลังติดอาวุธของอิหร่าน พร้อมเรียกร้องให้อิหร่านยุติการสร้างความรุนแรงและการยั่วยุต่าง ๆ  นอกจากนี้ ประเทศสมาชิกนาโตขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายมีความอดทนอดกลั้น และเร่งหาทางออกเพื่อลดความขัดแย้ง”

ขณะที่ ผู้นำของสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศสและเยอรมนี ได้ออกแถลงการณ์ร่วมกันเรียกร้องให้อิหร่านระงับการใช้ความรุนแรงตอบโต้สหรัฐ และขอให้ทุกฝ่ายเร่งหาทางออกจากสถานการณ์ความขัดแย้ง ซึ่ง สหภาพยุโรป (อียู) เตรียมจัดประชุมเร่งด่วนระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในวันที่ 10 ม.ค. ที่จะถึงนี้ เพื่อหาแนวทางยุติความขัดแย้งในตะวันออกกลาง โดยจะมีเชิญ “จาวาด ซารีฟ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิหร่านเข้าร่วมการประชุมด้วย

ทั้งนี้ “อังเกลา แมร์เคิล” นายกรัฐมนตรีเยอรมนียังมีกำหนดจะเดินทางเยือนรัสเซียอย่างเป็นทางการในวันที่ 11 ม.ค. นี้ เพื่อหารือกับประธานาธิบดี “วลาดิเมียร์ ปูติน” ของรัสเซียในประเด็นระหว่างประเทศ รวมถึงความตึงเครียดในตะวันออกกลางที่เพิ่มสูงขึ้นในขณะนี้ด้วย

อย่างไรก็ตาม “หวัง อี้” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน ได้ออกมาประณามสหรัฐ โดยได้เปิดเผยว่า มีการหารือทางโทรศัพท์กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอิหร่านถึงการกระทำของสหรัฐ ซึ่งถือได้ว่าเป็นการละเมิดหลักความสัมพันธระหว่างประเทศและยิ่งทำให้สถานการณ์ในภูมิภาคบานปลายยิ่งขึ้น พร้อมทั้งเตือนสหรัฐให้ยุติการเป็น “อันธพาลทางการทหาร” และเรียกร้องให้มีการเจรจาเพื่อยุติความขัดแย้งโดยเร็ว

สหรัฐหวั่นถูกโต้กลับ-สภาเตรียมลดอำนาจทรัมป์

ด้านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ของสหรัฐต่างออกมาแสดงความไม่พอใจต่อปฏิบัติการทางการทหารของสหรัฐในอิรักครั้ง เนื่องจากเป็นคำสั่งโดยตรงจากประธานาธิบดีทรัมป์ที่ไม่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภา ซึ่งอาจเป็นการใช้อำนาจทางการทหารของประธานาธิบดีเกินขอบเขต “แนนซี เพโลซี” ประธานสภาผู้แทนราษฎสหรัฐได้ออกมาเปิดเผยว่า ส.ส. กำลังเตรียมการลงมติเพื่อผ่านกฎหมายจำกัดอำนาจทางการทหารของประธานาธิบดีทรัมป์ภายในสัปดาห์นี้

สถานการณ์ความตึงเครียดยังส่งผลให้ สถานทูตสหรัฐประจำอิสราเอลออกประกาศเตือนพลเรือนสหรัฐในตะวันออกกลางให้ใช้ความระมัดระวังยิ่งขึ้น เนื่องจากมีความเสี่ยงที่อาจจะถูกโจมตี ขณะเดียวกันก็มีรายงานว่า นักท่องเที่ยวชาวอิหร่านที่จะเดินทางข้ามพรมแดนเข้าไปในประเทศสหรัฐยังถูกกักตัว เพื่อตรวจสอบความปลอดภัยอย่างเข้มงวดอีกด้วย

ล่าสุดสหรัฐยังปฏิเสธการให้วีซ่าแก่จาวาด ซารีฟ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของอิหร่าน ในการเดินทางเข้าร่วมการประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่นครนิวยอร์กในวันที่ 9 ม.ค. นี้ ซึ่งนับว่าเป็นการละเมิดข้อตกลงสหประชาชาติที่รับรองว่า เจ้าหน้าที่ต่างชาติสามารถเข้าถึงสำนักงานใหญ่ขององค์การสหประชาชาติได้อีกด้วย