IMF ชี้ เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ยุค “เกรทล็อกดาวน์” ถดถอยซ้ำรอย “เกรทดีเปรสชั่น” หลังสงครามโลกครั้งที่ 1

สำนักข่าวรอยเตอรส์รายงานว่า กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะหดตัวลงถึง 3% ในช่วงปี 2020 จากการแพร่ระบาดของโรค โควิด-19 ซึ่งอาจส่งผลให้เศรษฐกิจโลกเสี่ยงจะเข้าสู่ภาวะถดถอยที่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่เหตุการณ์ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่หรือ “เกรทดีเปรสชั่น” ในช่วงต้นทศวรรษ 1930 หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลง

ทั้งนี้ รายงานประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจ 2020 ของไอเอ็มเอฟยังคาดการณ์ด้วยว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2021 จะกลับมาฟื้นตัวบางส่วน โดยเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวราว 5.8% แต่ไอเอ็มเอฟระบุว่า การคาดการณ์ดังกล่าวยังมี “ความไม่แน่นอนสูง” และผลลัพธ์อาจเลวร้ายกว่าที่คาดการณ์ ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของภาวะโรคระบาด

นางกีตา โกปินาถ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของไอเอ็มเอฟกล่าวว่า “การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปี 2021 จะมีเพียงบางส่วนเท่านั้น เนื่องจากระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในปี 2021 ต่ำกว่าที่เราคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งยังไม่มีสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัส” โดยในกรณีที่สถานการณ์อยู่ในระดับดีที่สุด เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มที่จะสูญเสียผลผลิตทางเศรษฐกิจราว 9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงระยะเวลา 2 ปี ซึ่งสูงกว่าจีดีพีของเยอรมนีและญี่ปุ่นรวมกัน

นอกจากนี้ นางโกปินาถชี้ว่า การระบาดของโควิด-19 นำไปสู่การจำกัดการเดินทางและการทำลายซับพลายเชน ทำให้ผลผลิตทางเศรษฐกิจทั่วโลกลดลงและนำไปสู่ภาวะถดถอยยาวนาน ซึ่งอาจรุนแรงกว่าความเสียหายในเหตุการณ์เกรทดีเปรสชั่นระหว่างปี 1929-1932

ทั้งนี้ เหตุการณ์เกรทดีเปรสชั่นเป็นผลสืบเนื่องจากการความเสียหายทางเศรษฐกิจในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และความพยายามฟื้นฟูบูรณะเศรษฐกิจในยุโรปและอเมริกาในระยะเวลาอันสั้น ที่นำไปสู่ภาวะฟองสบู่และสร้างความเสียหายขยายวงกว้างไปทั่วโลก ทำให้ผลผลิตทางเศรษฐกิจทั่วโลกในขณะนั้นลดลงราว 10% ขณะที่ประเทศอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ในเวลานั้นมีจีดีพีหดตัวราว 16%

อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ปัจจุบันไอเอ็มเอฟชี้ว่า ผลกระทบทางเศรษฐกิจของประเทศส่วนใหญ่ในโลกจะรุนแรงสุดในช่วงไตรมาส 2/2020 จากสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างหนักที่ทำให้หลายประเทศต้องใช้มาตรการปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่สถานการณ์จะคลี่คลายในช่วงครึ่งปีหลัง หากสถานการณ์ดีขึ้นและรัฐบาลต่าง ๆ ทั่วโลกเริ่มผ่อนคลายมาตรการกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจอีกครั้ง

แต่หากการแพร่ระบาดยังเยื้อไปจนถึงไตรมาส 3/2020 จะทำให้เศรษฐกิจโลกหดตัวลงอีก 3% และทำให้การฟื้นตัวในปี 2021 ช้ามากขึ้น ซึ่งเป็นผลของ “แผลเป็น” จากการล้มละลายของกิจการจำนวนมากและปัญหาการว่างงานที่ยืดเยื้อ ยิ่งไปกว่านั้น หากมีการแพร่ระบาดครั้งที่ 2 ในปี 2021 จะทำให้การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักมากยิ่งขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่การหดตัวของเศรษฐกิจโลกอีก 5-8% และทำให้โลกเข้าสู่ภาวะถดถอย 2 ปีติดต่อกัน

“มีความเป็นไปได้สูงว่าในปีนี้ เศรษฐกิจโลกจะประสบกับภาวะถดถอยที่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่เกรทดีเปรสชั่น เลวร้ายยิ่งกว่าวิกฤตการณ์การเงินโลกในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา อาจเรียกได้ว่านี่คือ ‘เกรทล็อกดาวน์’ ที่ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกหดตัวลงอย่างมาก” รายงานของไอเอ็มเอฟระบุ