สงครามกลางเมือง “เยเมน” ปะทุ มือที่ 3 แทรกแซง “ปั่นราคาน้ำมัน”

(Photo by Saleh Al-OBEIDI / AFP)

“ตะวันออกกลาง” เป็นภูมิภาคที่มีความขัดแย้งและความรุนแรงที่สุดแห่งหนึ่งของโลกจากแหล่งพลังงานจำนวนมหาศาล โดยเฉพาะ “เยเมน” ซึ่งเผชิญกับสงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อมากว่า 5 ปี และอาจกลับมารุนแรงอีกครั้ง หลังจากกลุ่มแบ่งแยกดินแดนทางตอนใต้ของประเทศประกาศจัดตั้งพื้นที่ปกครองตนเอง และสถานการณ์ยังอาจทวีความรุนแรงมากขึ้นจากการแทรกแซงของประเทศภายนอก ที่ต้องการส่งเสริมความขัดแย้งเพื่อ “ปั่นราคาน้ำมัน” ที่กำลังเผชิญแรงกดดันอย่างหนัก

สงครามกลางเมืองเยเมนมีความซับซ้อนตามแบบฉบับของความขัดแย้งภูมิภาคตะวันออกกลาง ที่มีผู้เล่นและการแทรกแซงจากประเทศภายนอกจำนวนมาก โดยรัฐบาลของเยเมนซึ่งได้รับการสนับสนุนจากซาอุดีอาระเบีย ได้เปิดฉากปะทะกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนทางตอนใต้ที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) หนุนอยู่ ภายหลังทั้งสองร่วมกันต่อสู้กับกลุ่มกบฏฮูตี ที่ได้รับความช่วยเหลือจากอิหร่าน โดยเมื่อ ส.ค. 2019 กลุ่มแบ่งแยกดินแดนได้บุกเข้ายึดเมืองเอเดน ซึ่งเป็นเมืองสำคัญทางภาคใต้และฐานที่มั่นของรัฐบาล “ฮาดี” สร้างความขัดแย้งที่รุนแรง ทำให้ทั้งซาอุฯและยูเออีเข้ามาเป็นตัวกลางสร้างสันติภาพระหว่างคู่ขัดแย้งในเยเมนทั้งสอง จนกลายเป็นข้อตกลงสันติภาพระหว่างสองคู่ขัดแย้งที่เกิดขึ้นเมื่อปลายปี 2019 ที่สงบความรุนแรงลงชั่วคราว

ทั้งนี้ สถานการณ์เต็มไปด้วยความเปราะบาง และอาจกลับมาปะทุได้อีกครั้ง โดยอัลจาซีร่ารายงานว่า กลุ่มแบ่งแยกดินแดนของเยเมนได้ล้มโต๊ะเจรจาสันติภาพ ด้วยการประกาศแผนจัดตั้งเขตปกครองตนเองบริเวณเมืองเอเดน และพื้นที่อื่น ๆ ทางภาคใต้ เมื่อ 25 เม.ย. 2020 ขณะที่ฝ่ายรัฐบาล “ฮาดี” กล่าวตือนว่า การกระทำของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนอาจนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เลวร้ายตามมา ซึ่งสร้างความกังวลว่าสงครามกลางเมืองอาจกลับมารุนแรงอีกครั้ง รวมถึงการแทรกแซงจากประเทศมือที่ 3 ที่ต้องการจุดพลุสงครามเพื่อผลประโยชน์ของตน โดยความตึงเครียดในเยเมนและตะวันออกกลางจะนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบ จากความกังวลต่ออุปสรรคในการขนส่งและการหยุดชะงักลงของแหล่งผลิตน้ำมันในภูมิภาค ซึ่งก่อให้เกิดภาวะขาดแคลนด้านอุปทาน

จากความสำคัญด้านพลังงานของภูมิภาคส่งผลให้เกิดความพยายามจุดพลุความขัดแย้งของตะวันออกกลาง เพื่อเป็นปัจจัยการพยุงราคาน้ำมันที่ดิ่งลงเหว จากปัญหาดีมานด์ลดลงจากการระบาดของโควิด-19 ด้านประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” ขู่กองทัพอิหร่าน เมื่อ 23 เม.ย.ที่ผ่านมาว่า ได้ออกคำสั่งอนุญาตให้กองทัพเรือของสหรัฐสามารถทำลายเรือปืนของกองทัพอิหร่านที่ยั่วยุเรือรบของสหรัฐ ซึ่งคำขู่ของ “ทรัมป์” เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบของสหรัฐพุ่งขึ้นกว่า 20% สู่ระดับ 16.65 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ในวันนั้น บิสสิเนส อินไซเดอร์ รายงานอ้างบทวิเคราะห์ของ “ราโบแบงก์” สถาบันการเงินข้ามชาติของเนเธอร์แลนด์ชี้ว่าการกระทำของประธานาธิบดีทรัมป์เป็นกลเม็ดเก่า ๆ ที่ต้องการปั่นราคาน้ำมันดิบ ด้วยการสร้างความตึงเครียดในตะวันออกกลาง

ถึงแม้ว่าเยเมนจะไม่ใช่ผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลก อย่างไรก็ตาม เยเมนมีปริมาณน้ำมันดิบสำรองจำนวนมาก โดยข้อมูลจาก สำนักข่าวกรองกลางของสหรัฐ (ซีไอเอ) ระบุว่า ประเทศเยเมนมีปริมาณน้ำมันสำรองที่ได้รับการพิสูจน์แล้ว อย่างน้อย 3,000 ล้านบาร์เรล โดยทางซีไอเอเคยออกรายงานระบุว่า บริเวณพื้นที่ทางภาคใต้ของเยเมนมีปริมาณน้ำมันสำรองที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์มากกว่า 5,000 ล้านบาร์เรล ซึ่งจำนวนดังกล่าวเทียบเท่ากับปริมาณน้ำมันดิบสำรองของอียิปต์ทั้งประเทศ

รวมถึงพื้นที่ทางตอนใต้ยังเป็นแหล่งผลิตน้ำมันที่สำคัญของประเทศ คิดเป็นสัดส่วนมากกว่าครึ่งของทั้งประเทศ ส่งผลให้พื้นที่ภาคใต้ของเยเมนเป็นอีกหนึ่งแหล่งน้ำมันที่สำคัญ นอกจากนี้ ประเทศเยเมนโดยเฉพาะพื้นที่ทางภาคใต้ยังเป็นจุดสำคัญทางภูมิรัฐศาสตร์ของการเดินเรือบริเวณช่องแคบ “บับ แอลมันเดป” ที่มีความสำคัญอย่างมากในด้านความมั่นคงทางพลังงาน ซึ่ง สำนักงานสารสนเทศพลังงานของสหรัฐ (อีไอเอ) ประเมินว่า มีการขนส่งน้ำมันผ่านทางช่องแคบดังกล่าวมากถึง 6.2 ล้านบาร์เรล/วัน


ดังนั้น ความขัดแย้งที่กลับมารุนแรงอีกครั้งในเยเมนและตะวันออกกลาง จะเป็นอีกปัจจัยที่จะช่วยดันราคาน้ำมันขึ้นมา ทั้งยังอาจทำให้เกิดการแทรกแซงจากมหาอำนาจ ซึ่งอาจไม่ใช่เพียงแค่สหรัฐเท่านั้น ที่มีวัตถุประสงค์เพิ่มขับเคลื่อนความขัดแย้งภูมิภาคตะวันออกกลางเพื่อพยุงราคาน้ำมัน ซึ่งจะเป็นการรักษาผลประโยชน์ของบางประเทศบนสงครามที่ยืดเยื้อมากว่า 5 ปี ที่คร่าชีวิตผู้คนมากกว่า 100,000 ชีวิต และทำให้ประชากรมากกว่าล้านคนต้องอดอยากและไร้ที่อยู่อาศัย