‘แอร์เอเชีย’ เลิกจ้าง 30% ขายหุ้นเพิ่ม 10% ระดมทุนรักษาสภาพคล่อง

Lillian SUWANRUMPHA / AFP

สำนักข่าวนิกเคอิเอเชี่ยนรีวิวรายงานว่า “แอร์เอเชียกรุ๊ป” สายการบินราคาประหยัดที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดเผยว่ากำลังปรับลดจำนวนพนักงานลงราว 30% ของจำนวนพนักงานทั้งหมด เพื่อลดค่าใช้จ่ายสำหรับรักษาสภาพคล่องทางการเงิน ขณะเดียวกันก็กำลังพิจารณาขายหุ้นเพิ่มเติมอีก 10% เพื่อระดมทุนเพิ่มรายได้ให้กับสายการบินด้วย

โดยการปรับลดจำนวนพนักงานครั้งนี้นับความพยายามลดค่าใช้จ่ายของแอร์เอเชีย เพื่อหลีกเลี่ยงการเข้าสู่ภาวะขาดสภาพคล่องทางการเงิน หลังจากที่สายการบินทั่วโลกต่างได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำลายอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการเดินทาง

ทั้งนี้ การปรับลดพนักงานดังกล่าวจะเป็นตำแหน่งนักบินและพนักงานบนเครื่องบินในสัดส่วน 60% โดยจะปรับลดพนักงานทั้งในส่วนของสายการบิน “แอร์เอเชีย” และ “แอร์เอเชียเอ็กซ์” โดยพนักงานในปัจจุบันกว่า 20,000 คนได้รับการประเมินรายบุคคลตามฐานเงินเดือนและผลการปฏิบัติงานตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา และคาดว่ากระบวนการปรับลดพนักงานจะดำเนินไปจนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้

ส่วนพนักงานที่ยังไม่ถูกเลิกจ้าง บริษัทจะพิจารณาปรับลดเงินเดือนลงราว 15%- 75% รวมถึงระงับสวัสดิการต่าง ๆ ทั้งสิทธิส่วนลดหรือฟรีเที่ยวบิน และคูปองสิทธิพิเศษสำหรับพนักงาน ขณะที่นายโทนี เฟอร์นานเดสและนายคามารูดิน เมอรานูน ผู้ก่อตั้งร่วมของแอร์เอเชียก็ตกลงที่จะไม่รับเงินเดือนในช่วงเวลานี้เช่นกัน นอกจากนี้ แหล่งข่าวของนิกเคอิยังระบุว่า นายเฟอร์นานเดสกำลังพิจารณาขายสายการบินที่ไม่ทำกำไรในญี่ปุ่นและอินเดีย เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้วย

อย่างไรก็ตาม แอร์เอเชียกำลังพิจาณาขายหุ้นเพิ่มเติมอีก 10% ของมูลค่าหุ้นที่เรียกชำระแล้ว (paid-up shares) ของบริษัทเพื่อระดมเงินสดเพิ่มเติม ซึ่งผู้บริหารของแอร์เอเชียได้เพิ่มจำนวนหุ้นดังกล่าวในการประชุมผู้ถือหุ้นตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

ซึ่งขณะนี้ “เอสเคคอร์ป” กลุ่มบริษัทรายใหญ่อันดับสามของเกาหลีใต้ได้แสดงความสนใจที่จะเข้าซื้อหุ้นดังกล่าว โดยหนังสือพิมพ์เดอะสตาร์ของมาเลเซียระบุว่า เอสเคคอร์ปอาจเสนอซื้อหุ้นในราคา 1 ริงกิต/หุ้น ซึ่งทำให้แอร์เอเชียสามารถระดมทุนได้ถึง 78.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ