“ทรัมป์” สานต่อ “ปักหมุดเอเชีย” เยือน 5 ชาติ ร่วมกดดัน “โสมแดง”

ความบ้าคลั่งของ “เกาหลีเหนือ” กลายเป็นหายนะประจำคาบสมุทรเกาหลี ปัจจุบันลุกลามกลายเป็นปัญหาของโลก เป็นเหตุทำให้ “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีสหรัฐ ต้องแสดงแสนยานุภาพตอบโต้อยู่เรื่อย ๆ ขณะที่ “เอเชีย” ถือว่าเป็นภูมิภาคที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก รวมถึงต่อสหรัฐ ทั้งในแง่ทางการทูตและเศรษฐกิจ

รอยเตอร์สรายงานว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มีกำหนดเดินทางเยือนภูมิภาคเอเชียระหว่าง 3-14 พฤศจิกายนนี้ เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง โดยทรัมป์จะเดินทางเยือนญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน เวียดนาม และฟิลิปปินส์

แม้ว่าโฆษกทำเนียบขาวยังไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดในการเดินทางเยือนแต่ละประเทศ แต่ทั้งซีเอ็นเอ็นและวอชิงตันโพสต์ ระบุว่า ประธานาธิบดีทรัมป์ จะเดินทางเยือนญี่ปุ่นในวันที่ 5 พฤศจิกายน และพบปะกับนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ในวันที่ 6 พฤศจิกายน

ขณะที่นักวิเคราะห์จากซีเอ็นเอ็น ระบุว่าไม่มีอะไรน่าสงสัยเกี่ยวกับเหตุผลในการเยือนเอเชียของนายทรัมป์ ซึ่งมีขึ้นตามวัตถุประสงค์ต้องการโน้มน้าวนานาประเทศให้ร่วมมือกันทำให้คาบสมุทรเกาหลีเป็นเขตปลอดนิวเคลียร์ ที่ผ่านมาทรัมป์แสดงจุดยืนชัดเจนกับ “ยุทธศาสตร์โดดเดี่ยวเกาหลีเหนือ” กับเวทีโลกมาตลอด

ความเสี่ยงที่อาจรุนแรงขึ้นตลอดช่วงเดือนตุลาคมนี้ ที่เชื่อว่าประธานาธิบดี คิม จอง อึน อาจจะทำการยั่วยุในประเด็นขีปนาวุธต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคมนี้ ที่เป็นวันครบรอบก่อตั้ง “พรรคแรงงานเกาหลีเหนือ” วันที่ 18 ตุลาคม จีนจะจัดการประชุมสมัชชาใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์

นักวิเคราะห์มองว่า เหตุรุนแรงอาจมาจากแรงส่งที่รัฐบาลจีนร่วมคว่ำบาตรเกาหลีเหนือตามคำเรียกร้องของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ทั้งออกคำสั่งปิดบริษัทเกาหลีเหนือที่ทำธุรกิจในจีน ภายใน 120 วันนับตั้งแต่วันที่มติของยูเอ็น เมื่อวันที่ 11 กันยายนที่ผ่านมา

นอกจากนี้ จีนยังได้จำกัดปริมาณการส่งออกก๊าซธรรมชาติไปยังเกาหลีเหนือ ตั้งแต่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งวงในคาดว่าการจำกัดปริมาณน้ำมันในครั้งนี้น่าจะลดลงกว่าครึ่ง ซึ่งจะส่งผลให้ราคาน้ำมันในเปียงยางพุ่งขึ้นถึง 20% และคาดว่าจะยังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

นอกจากนี้ ในวันที่ 22 ตุลาคมจะมีการเลือกตั้งสภาใหม่ของญี่ปุ่น หลังจากที่นายกฯ อาเบะ ประกาศยุบสภาเมื่อ 28 กันยายน โดยอ้างว่าเพื่อเป็นการขอฉันทานุมัติครั้งใหม่ในการแก้วิกฤตภัยคุกคามของเกาหลีเหนือ

นักวิเคราะห์มองว่า นัยที่น่าสนใจของการเยือนเอเชียในครั้งนี้ คือ ท่าทีของประธานาธิบดีทรัมป์ที่เปลี่ยนไป จากที่เคยเมินนโยบาย “ปักหมุดเอเชีย” ของ นายบารัก โอบามา กลับหันมาสร้างมิตรภาพกับประเทศในเอเชียมากขึ้น นอกจากการหาแนวร่วมกดดันเกาหลีเหนือ ยังมุ่งหาประโยชน์ในแง่ของเศรษฐกิจด้วย เห็นได้จากการที่ทรัมป์ ยืนยันจะเข้าร่วมการประชุมกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) ที่เวียดนาม และร่วมการประชุมสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ที่ฟิลิปปินส์ แสดงถึงการรักษาตำแหน่ง “ตำรวจโลก” ซึ่งเป็นฉายาที่นานาประเทศต่างเรียกแทนสหรัฐอเมริกามาตลอด

“การเติบโตของเศรษฐกิจโลกหลังจากนี้ ล้วนมาจากแถบเอเชียเป็นหลัก การที่ทรัมป์ยกเลิก ความร่วมมือหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก TPP ตั้งแต่วันแรกที่เข้ารับตำแหน่ง อาจเพราะต้องการเจรจาการค้าเป็นรายประเทศไป ซึ่งการมาเยือน 5 ประเทศในเอเชียครั้งนี้ ถือเป็นการส่งสัญญาณว่าเอเชียยังมีความสำคัญต่อสหรัฐ และเป็นก้าวแรกสู่การปรองดองความสัมพันธ์ที่ดี” นักวิเคราะห์อาวุโสกล่าว

ทั้งนี้ อีกประเด็นที่ทั่วโลกจับตาก็คือ การพบกันระหว่างประธานาธิบดี “โรดริโก ดูเตอร์เต” ของฟิลิปปินส์ และประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่งเป็นคู่อริเก่าประชันฝีปากกันมาก่อน โดย “เอพี” รายงานว่า การพบกันระหว่าง 2 ผู้นำปากเปราะอาจเป็นเพียงระดับ “ผิวเผิน”

เพราะที่ผ่านมาผลประโยชน์จากฟิลิปปินส์ ถือว่าอยู่นอกสปอตไลต์ของอเมริกา เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียน
ถึงแม้ว่าสัปดาห์ก่อน ผู้นำของมะนิลาได้เปลี่ยนท่าทีกล่าวยกย่องอเมริกา ว่า “มิตรแท้ด้านความมั่นคง” ก็อาจเป็นเพียงเพื่อผลประโยชน์ทางการทหารเท่านั้น โดยเชื่อว่าการปรองดองระยะสั้นของผู้นำสหรัฐและฟิลิปปินส์ อาจเป็นเหตุมาจากการสู้รบนองเลือดบนเกาะซามาร์ที่ผ่านมา

โดยผู้นำดูเตอร์เต กล่าวยอมรับว่า “เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเกือบทุกพื้นที่ของฟิลิปปินส์ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ทำให้เราตระหนักว่าอาวุธสงครามของกองทัพอาจยังมีไม่เพียงพอ ขณะที่ในโลกนี้มีเพียงไม่กี่ประเทศที่มีอำนาจในการสนับสนุนการต่อสู้เพื่อสันติภาพ เช่น สหรัฐ ที่ให้ยุทโธปกรณ์ที่สำคัญแก่ทหารของเราในมาราวีเพื่อสู้กับผู้ก่อการร้าย ดังนั้น เราเชื่อว่าความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ดี จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประเทศด้วยเช่นกัน”