แอร์เอเชีย จ่อปิดกิจการที่ญี่ปุ่น หลังไร้วี่แววนักเดินทาง

แอร์เอเชียปิดกิจการในญี่ปุ่น
ภาพจากเฟซบุ๊ก Chubu Centrair International Airport, Nagoya

แหล่งข่าวเผย “แอร์เอเชีย” ตัดสินใจปิดการดำเนินงานที่ญี่ปุ่น คาดประกาศเป็นทางการสัปดาห์หน้า

วันที่ 30 กันยายน 2563 เว็บไซต์นิคเคอิ เอเชีย รายงานว่า แอร์เอเชีย กรุ๊ป ซึ่งมีฐานอยู่ในมาเลเซีย และเป็นของนักธุรกิจชื่อดัง “โทนี เฟอร์นันเดส” กำลังจะปิดการดำเนินงานในญี่ปุ่น โดยจะมีการประกาศกำหนดอย่างเป็นทางการในช่วงต้นสัปดาห์หน้า หลังจากพรมแดนระหว่างประเทศส่วนใหญ่ยังคงปิด เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

แหล่งข่าวใกล้ชิดกับบริษัทให้ข้อมูลกับ นิคเคอิ เอเชียน รีวิว ว่า บรรดาผู้อำนวยการฝ่ายต่างๆ ของแอร์เอเชีย ซึ่งประชุมกันเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ที่สำนักงานใหญ่ของสายการบิน ใกล้กับสนามบินนานาชาติกรุงกัวลาลัมเปอร์ ได้ตัดสินใจยุติการดำเนินงานของแอร์เอเชีย เจแปน ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง แอร์เอเชีย และ พันธมิตรในญี่ปุ่น

สำนักข่าวเกียวโดรายงานเมื่อวันพุธ โดยอ้างถึงเจ้าหน้าที่ที่ไม่ระบุชื่อว่า แอร์เอเชีย เจแปน ได้แจ้งให้รัฐบาลท้องถิ่นในจังหวัดไอจิรับทราบถึงการตัดสินใจเลิกทำธุรกิจดังกล่าว โดยขณะนี้ทางบริษัทมีเครื่องบิน 2 ลำ ที่ประจำการอยู่ที่สนามบินนานาชาตินาโกย่าชูบุเซนแทรร์ ในจังหวัดไอจิ

ตามการยื่นของตลาดหลักทรัพย์ของสายการบินเมื่อเดือนที่แล้ว แอร์เอเชียถือหุ้น 66.91% ในแอร์เอเชีย เจแปน ที่เหลือเป็นของพันธมิตรในญี่ปุ่น ได้แก่ บริษัทอีคอมเมิร์ซชั้นนำในญี่ปุ่นอย่าง “ราคูเท็น”, กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน “อ็อกเทฟ เจแปน”, ผู้ผลิตเครื่องสำอาง “โนเอเวีย โฮลดิ้ง” และ ผู้ผลิตอุปกรณ์กีฬา “อัลเพน”

แหล่งข่าวที่ไม่สามารถระบุชื่อได้ เผยด้วยว่า การประกาศคาดว่าจะมีขึ้นในวันจันทร์หน้า และการดำเนินงานในญี่ปุ่นจะยุติลง

แหล่งข่าวรายนี้ บอกด้วยว่า ปัจจัยที่นำมาสู่การตัดสินใจครั้งนี้ รวมถึงการที่แอร์เอเชีย เจแปน ต้องหยุดจำหน่ายตั๋วโดยสารเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา เนื่องจากขาดดีมานด์การเดินทางในญี่ปุ่น

ก่อนหน้านี้ แอร์เอเชีย เคยล้มเหลวในความพยายามสร้างสายการบินราคาประหยัดในญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก โดยครั้งนั้นเป็นการร่วมทุนกับสายการบิน ออล นิปปอน แอร์เวย์ส ของ เอเอ็นเอ โฮลดิ้ง ภายในเวลา 1 ปี หลังจากเปิดตัวเมื่อเดือนสิงหาคม 2012 ขณะที่การดำเนินธุรกิจในปัจจุบันของแอร์เอเชีย เจแปน เพิ่งเปิดตัวเมื่อ 3 ปีที่แล้ว

ต่อมา เอเอ็นเอ ได้ซื้อหุ้นของแอร์เอเชีย เพื่อดำเนินการในฐานะผู้ประกอบการสายการบินวานิลลา ซึ่งเป็นสายการบินต้นทุนต่ำ