‘อินเดีย’ ดูดยักษ์เทคโนโลยีขึ้นฮับการผลิตแห่งใหม่โลก

อินเดียดูดยักษ์เทคโนโลยี

อุตสาหกรรมเทคโนโลยีในปัจจุบันได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งระดับโลก ระหว่างสองมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างจีนและสหรัฐอเมริกา ซึ่งการปะทะกันด้วยมาตรการปิดกั้นหลายต่อหลายครั้งได้สร้างความเสียหายอย่างหนักให้กับบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ “อินเดีย” ซึ่งเป็นประเทศที่มีความพร้อมทั้งด้านเทคโนโลยีและแรงงาน จึงกลายเป็นทางเลือกที่บริษัทเทคโนโลยีระดับโลกหันมาให้ความสนใจลี้ภัยออกจากสนามความขัดแย้ง

ซีเอ็นเอ็นรายงานว่า กระทรวงอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีสารสนเทศของอินเดียประกาศเดินหน้าโครงการ “แรงจูงใจที่เชื่อมโยงการผลิต” (Production Linked Incentive) ภายใต้โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ 6,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยให้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ แก่บริษัทเทคโนโลยีทั้งในและต่างประเทศ เพื่อจูงใจขยายการลงทุน ช่วยเร่งการฟื้นตัวของอุตฯเทคโนโลยีอินเดีย ในช่วง 5 ปีข้างหน้า

บริษัทที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับสิทธิประโยชน์อำนวยความสะดวกต่าง ๆ รวมทั้งเงินอุดหนุนจากรัฐบาล 4-6% ของยอดขายสินค้าบางรายการที่ผลิตในอินเดียในช่วง 5 ปี แต่บริษัทที่เข้าร่วมโครงการต้องมีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนด และต้องมียอดขายถึงเกณฑ์จึงจะได้รับสิทธิประโยชน์ต่อเนื่อง

ขณะนี้ปรากฏรายชื่อบริษัทใหญ่ที่เข้าร่วมโครงการแล้ว 16 บริษัท เช่น “ซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์” ของเกาหลีใต้, เอทีแอนด์เอส ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของออสเตรเลีย รวมถึงซัพพลายเออร์รายใหญ่ของแอปเปิล อย่าง ฟ็อกซ์คอนน์, วิสตรอน คอร์ป และเพกาตรอน คอร์ป ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ไต้หวันและบริษัทชั้นนำของอินเดียเองอย่าง ลาวา อินเตอร์เนชั่นแนล, ดิกซอน เทคโนโลยีส์ และออปตีมุส อินฟราคอม ก็เข้าร่วมโครงการ

ถือเป็นนโยบายของนายกรัฐมนตรี “นเรนทรา โมดี” ที่ต้องการเปลี่ยนโฉมประเทศให้เป็นศูนย์กลางการผลิตแห่งใหม่ของโลก หลังจากที่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีทั่วโลกสะดุด ส่งผลให้รัฐบาลอินเดียหันมาส่งเสริมการผลิตภายในประเทศมากขึ้น ทั้งยังดึงดูดบริษัทเทคโนโลยีที่กำลังหาลู่ทางย้ายฐานผลิตออกจากจีน เพื่อเลี่ยงผลกระทบจากมาตรการกดดันของสหรัฐ

รัฐบาลอินเดียคาดหวังว่าโครงการนี้จะสามารถดูดเม็ดเงินเข้าอุตฯเทคโนโลยีอินเดียได้ถึง 110,000 ล้านรูปี (1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) แม้ว่าจะไม่มีการเปิดเผยว่าแต่ละบริษัทจะลงทุนเท่าใด แต่รอยเตอร์สอ้างอิงแหล่งข่าวว่า ฟ็อกซ์คอนน์, วิสตรอน และเพกาตรอน วางแผนจะลงทุนเกือบ 900 ล้านดอลลาร์ ในเวลา 5 ปี

พร้อมกับตั้งเป้าหมายส่งเสริมให้อุตสาหกรรมเทคโนโลยีของอินเดีย มีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึง 10.5 ล้านล้านรูปี (143,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และผลักดันการส่งออกเป็น 60% รวมทั้งการสร้างงานภายในประเทศอีกอย่างน้อย 2 แสนตำแหน่ง

โดยข้อมูลของสมาคมเซลลูลาร์และอิเล็กทรอนิกส์อินเดียระบุว่า อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของอินเดียขณะนี้มีมูลค่าอยู่ที่ 230,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยในปีงบประมาณ 2019 อินเดียมียอดการผลิตมือถือในประเทศราว 330 ล้านเครื่อง คิดเป็นมูลค่าถึง 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นกว่า 5 เท่าจากปี 2014

ความตึงเครียดระหว่างจีนและสหรัฐทำให้หลายบริษัทหันมาเพิ่มกำลังการผลิตในอินเดียมาก่อนแล้ว อย่าง “เสี่ยวหมี่” ของจีนที่ได้ขยายลงทุนในอินเดียเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า ด้วยเป้าหมายการเป็นผู้นำในตลาดระดับภูมิภาค เช่นเดียวกับซัมซุง ที่ลงทุน “โรงงานมือถือใหญ่ที่สุดในโลก” ใกล้กรุงนิวเดลี ปี 2018 ขณะที่ “แอปเปิล” ก็เริ่มใช้โรงงานในบังคาลอร์ เป็นฐานการผลิตไอโฟนบางรุ่นตั้งแต่ปี 2017 เป็นต้นมา และล่าสุดได้เริ่มผลิตไอโฟน 11 บางส่วนในอินเดียด้วย