คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก นงนุช สิงหเดชะ
ปรากฏการณ์ที่ตลาดหุ้นสหรัฐปรับตัวขึ้นมาค่อนข้างมาก ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจร้ายแรง อันเนื่องจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 สวนทางกับภาวะเศรษฐกิจแท้จริงที่อ่อนแอถึงขั้นติดลบ ทำให้ “โทเบียส เอเดรียน” ผู้อำนวยการฝ่ายตลาดทุนและตลาดเงิน ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ออกมาเตือนว่า ในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้า ตลาดหุ้นอาจปรับตัวลงแรง ถ้าหากวิกฤตไวรัสยังคงอยู่และเศรษฐกิจฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด
เอเดรียนชี้ว่า ขณะนี้เกิดความไม่สอดคล้องกันระหว่างตลาดเงิน-ตลาดทุนกับกิจกรรมเศรษฐกิจ กล่าวคือราคาหุ้นของบริษัทจดทะเบียนปรับขึ้นต่อเนื่อง ในขณะที่กิจกรรมเศรษฐกิจอ่อนแอและมีความไม่แน่นอน โดยดัชนีเอสแอนด์พี 500 ปรับขึ้นมาราว 8% ตั้งแต่ต้นปีนี้ ส่วนดัชนีแนสแดค ซึ่งเป็นดัชนีหุ้นเทคโนโลยีปรับขึ้นเกิน 30% จะเห็นได้ว่าตลาดหุ้น-ตลาดเงินมีผลประกอบการโดดเด่นมาก ทั้งที่เกิดการระบาดของไวรัส
ผู้อำนวยการตลาดเงิน-ตลาดทุนไอเอ็มเอฟระบุว่า ปัจจุบันสินทรัพย์หลายอย่างรวมทั้งราคาหุ้นบางเซ็กเมนต์มีราคาเกินตัว และท่ามกลางวิกฤตไวรัสเช่นนี้ ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจ การที่ตลาดหุ้นฟื้นตัวก็ต้องยอมรับว่ามีส่วนช่วยรักษาการเติบโตของเศรษฐกิจ และทำให้เศรษฐกิจกลับมาได้ แต่การที่ราคาหุ้น
และสินทรัพย์ยังขยับขึ้นไปเรื่อย ๆ ก็มีความเปราะบางต่อข่าวร้าย เกิดความเสี่ยงที่จะปรับตัวอย่างรุนแรงเมื่อมีข่าวร้ายมากระทบ หรือไม่ก็จะเกิดความผันผวนเป็นระยะ ตราบใดที่นักลงทุนเชื่อว่าตลาดจะยังได้รับประโยชน์จากมาตรการสนับสนุน เศรษฐกิจจากภาครัฐและธนาคารกลาง ราคาสินทรัพย์จะปรับตัวขึ้นต่อไป แต่ถ้ามีข่าวร้าย เช่น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจล่าช้ากว่าคาด ตลาดอาจปรับตัวแรงดังกล่าว
ไม่เพียงไอเอ็มเอฟเท่านั้นที่มองเห็นความไม่สอดคล้องกันระหว่างตลาดกับภาวะเศรษฐกิจ แต่ “แกรี่ ชิลลิ่ง” นักวิเคราะห์ที่มีชื่อเสียงในการทำนายการถดถอยของตลาดหุ้น เคยประเมินเอาไว้ก่อนหน้านี้ว่า ตลาดหุ้นปีหน้าอาจปรับตัวลง 30-40% แบบเดียวกับที่เคยเกิดขึ้น
ในทศวรรษ 1930 ซึ่งโลกเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ ถ้าหากนักลงทุนเริ่มตระหนักว่าเศรษฐกิจจะใช้เวลาในการฟื้นตัวนานกว่าที่คาดไว้ชิลลิ่งบอกว่าประวัติศาสตร์อาจซ้ำรอยได้ เพราะการฟื้นตัวของตลาดหุ้นสหรัฐในครั้งนี้มีลักษณะคล้ายกับเมื่อปี 1929 โดยครั้งนั้นในช่วงแรกหลังเกิดวิกฤต ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ปรับลงรุนแรง แต่ไม่นานก็พุ่งขึ้นมาได้ เพราะหวังว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้ในเวลาไม่นาน แต่เมื่อนักลงทุนเห็นภาพชัดเจนแล้วว่าเศรษฐกิจมีความเสียหายรุนแรงแค่ไหน ดัชนีก็กลับมาร่วงลงอย่างรุนแรง
วันเดียวกัน “ไอเอ็มเอฟ” ได้แถลงคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปรับปรุงใหม่ล่าสุด โดยปรับให้ดีขึ้นจากคาดการณ์เมื่อเดือน มิ.ย.เล็กน้อย จากเดิมที่ประเมินว่าจะติดลบราว -4.9 % ในปีนี้ เป็นติดลบน้อยลงที่ -4.4% เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้ว รวมทั้งจีนในไตรมาส 2 เติบโตดีกว่าคาด และมีสัญญาณฟื้นตัวเร็วขึ้นในไตรมาส 3 ส่วนปีหน้าเศรษฐกิจโลกจะสามารถกลับมาเป็นบวก แต่ไอเอ็มเอฟได้ปรับลดคาดการณ์ลงจากเดิมที่เชื่อว่าจะเติบโตได้ 5.4% ปรับลงเหลือ 5.2% เนื่องจากการฟื้นตัวของทั่วโลกเกิดความไม่สม่ำเสมอและไม่แน่นอน
ไอเอ็มเอฟระบุว่า ปีนี้คาดว่าเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาจะหดตัว -3.3% แต่บางประเทศ เช่น อินเดีย น่าจะหดตัวเกิน -10% ขณะที่สหรัฐจะติดลบราว -4.3% แต่อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี และ
สเปน จะติดลบราว -10% ดังนั้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจึงไม่มีอะไรรับประกันในขณะที่ไวรัสยังระบาดอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ไอเอ็มเอฟกระตุ้นให้รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ยังคงใช้นโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจต่อไป เพื่อป้องกันความเหลื่อมล้ำด้านกระจายรายได้ แม้ว่าหนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้น ซึ่งในประเทศพัฒนาแล้ว หนี้สาธารณะจะขึ้นไปแตะ 125% ของจีดีพีภายในปลายปีหน้า ส่วนประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่จะขึ้นไปแตะ 65% ของจีดีพี เหตุที่ไอเอ็มเอฟไม่กังวลเรื่องหนี้สาธารณะมากนัก เป็นเพราะอัตราดอกเบี้ยต่ำมาก และการที่ปีหน้าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวก็จะช่วยให้รัฐบาลจ่ายหนี้ใหม่ได้