โลกกู้เงินสู้ ‘โควิด’ เศรษฐกิจจม ‘สึนามิหนี้’

REUTERS/Andrew Kelly

ความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีนกำลังเป็นที่ตื่นเต้นของทั่วโลก แต่ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่รุนแรงในช่วงที่ผ่านมา ก็ยังคงจะทำให้เศรษฐกิจโลกไม่สามารถฟื้นตัวได้ในทันที โดยเฉพาะในหลายประเทศที่ต้องกู้เงินจำนวนมหาศาล เพื่อรับมือกับโรคระบาด ส่งผลให้เกิดปัญหาหนี้พุ่งสูงกลายเป็นภาวะ “สึนามิหนี้” ที่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ต้องใช้เวลาในการแก้ไขต่อไป แม้โควิด-19 จะสิ้นสุดลง

ไฟแนนเชียล ไทมส์ รายงานว่า สถาบันการเงินระหว่างประเทศ เปิดเผยรายงานฉบับใหม่เมื่อ 18 พ.ย.ที่ผ่านมาระบุว่า ระดับการก่อหนี้โดยรวมทั่วโลกในปี 2020 เพิ่มขึ้น 15 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ยอดหนี้รวมทั่วโลกปีนี้จะสูงถึง 227 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากรัฐบาลและบริษัทต่าง ๆ ยังคงใช้จ่ายเพื่อรับมือกับการระบาดของโควิด-19 โดยตัวเลขดังกล่าวจะทำให้สัดส่วนหนี้ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ทั่วโลกปีนี้เพิ่มขึ้น 365% จาก 320% ในปี 2019

รายงานของไอไอเอฟระบุว่า อัตราการก่อหนี้ทั่วโลกสูงขึ้นในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน โดยระดับหนี้ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วเพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 50% จากปี 2019 ทำให้สัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีสูงถึง 432% โดยสหรัฐมีสัดส่วนหนี้สูงมากที่สุดเกือบครึ่งหนึ่งของหนี้ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งการสะสมหนี้ที่สูงเช่นนี้จะเป็นปัจจัยลบต่อรัฐบาลต่าง ๆ ทั่วโลกให้ต้องแสวงวิธีการลดการกู้ยืมในอนาคต โดยที่ไม่กระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศ

ขณะที่ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่พึ่งพาการกู้ยืมจำนวนมากเพื่อการลงทุนภายในประเทศมาโดยตลอด ก็มีระดับการก่อหนี้สูงขึ้น 26% จากปีที่ผ่านมา ทำให้หนี้ของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในปีนี้คาดว่าจะมีสัดส่วนหนี้เพิ่มเกือบ 250% ต่อจีดีพี อยู่ที่ 76 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่การจัดสรรงบประมาณสำหรับการชำระหนี้ของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ก็เพิ่มสูงขึ้นกว่า 10% จาก 7% ในปี 2019

แม้ว่ากลุ่มประเทศมหาอำนาจเศรษฐกิจอย่าง “จี 20” จะมีโครงการช่วยเหลือกลุ่มประเทศยากจนที่สุดในโลก 46 ประเทศ ด้วยการชะลอการชำระหนี้ประมาณ 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีนี้ และยังผลักดันความช่วยเหลือผ่านโครงการเงินกู้ในกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) สำหรับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ทั่วโลก แต่โครงการเหล่านี้อาจไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหาหนี้สินประเทศกำลังพัฒนา ที่มีรายได้การจัดเก็บภาษีลดลงและกำลังมีความเสี่ยงเผชิญหน้ากับวิกฤตการคลัง

“ลูอิส ออกาเนส” หัวหน้าฝ่ายวิจัยตลาดเกิดใหม่ของเจพี มอร์แกน วิเคราะห์ว่า ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่มีความเสี่ยงที่ต้องเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อรุนแรง หากใช้วิธีการพิมพ์เงินเพื่อชำระหนี้ หรือการที่ธนาคารกลางเข้าไปซื้อพันธบัตรรัฐบาล แต่ถ้าหากประเทศต่าง ๆ ปล่อยให้ภาวะหนี้สะสมมากขึ้นก็จะเกิด “ธนาคารผีดิบ” และ “บริษัทผีดิบ” เพิ่มขึ้น ที่ดำรงอยู่ได้ด้วยการอุดหนุนจากภาครัฐและนำไปสู่ภาวะเงินฝืดภายในประเทศ

ผลสำรวจของไอไอเอฟระบุว่า ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ยังจะต้องเผชิญหน้ากับภาระหนี้มูลค่ารวม 7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐที่ต้องชำระภายในสิ้นปี 2021 ซึ่งเป็นความท้าทายในการวางแผนการชำระหนี้ไปพร้อมกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจยุคหลังโควิด-19