‘เทสลา’ ธุรกิจติดปีก ความท้าทายใหม่ปี 2021

ปี 2020 ขณะที่หลายธุรกิจต้องเผชิญกับความยากลำบากจากการระบาดของโรคโควิด-19 แต่บริษัทรถยนต์ไฟฟ้า “เทสลา” ของ “อีลอน มัสก์” ประสบความสำเร็จอย่างมาก

ไตรมาส 4 ของปี 2020 เทสลามียอดขาย 180,570 คัน ทำให้ทั้งปีมียอดขายรวม 499,550 คัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 40% ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมาย 500,000 คัน เพียง 450 คัน โดยรถยนต์รุ่นยอดนิยมอย่างเทสลา “โมเดล วาย” หรือรถยนต์ไฟฟ้าครอสโอเวอร์ขนาดเล็กมียอดขายมากถึง 442,511 คัน หลังรับรู้ถึงตัวเลขนี้

นิวยอร์กไทมส์รายงานว่า สาเหตุหลักที่ทำให้ “เทสลา” ประสบความสำเร็จท่ามกลางโรคระบาด เป็นผลจากที่บริษัทเพิ่มประสิทธิภาพกำลังผลิตมากขึ้น ทำให้สามารถผลิตและทำยอดขายเพิ่มขึ้นอย่างมาก “จีน มันสเตอร์” ผู้จัดการหุ้นส่วน บริษัทวิจัย “ลูปเวนเจอร์ส” ระบุว่า รถยนต์ไฟฟ้าของเทสลา เป็น “สูตรสำเร็จ” ตามที่ผู้บริโภคต้องการ และการที่บริษัทสามารถผลิตรถยนต์ตามอุปสงค์ของผู้บริโภคได้ ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก

ถึงแม้เทสลาจะปิดโรงงานที่รัฐแคลิฟอร์เนียไปช่วงหนึ่ง แต่การเปิดโรงงานใหม่ที่จีน เมื่อปี 2019 พร้อมกับที่เทสลาได้บริษัทอื่นเข้ามาเป็นซัพพลายเออร์แบตเตอรี่รายใหม่ จากเดิมที่มีเพียง “พานาโซนิค” ทำให้เสริมประสิทธิภาพการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของเทสลาได้มากขึ้น ส่งผลให้ปี 2020 เทสลาสามารถผลิตรถยนต์ไฟฟ้าได้มากถึง 509,737 คัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 40%

โดยปีนี้เทสลาวางแผนจะสร้างโรงงานแห่งใหม่ที่ชานเมืองเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี และรัฐเทกซัส สหรัฐอเมริกา “บ้านใหม่” ของ อีลอน มัสก์ เพื่อขยายฐานการผลิตให้ครอบคลุมทั่วโลกให้ได้มากยิ่งขึ้น พร้อมกับแผนเริ่มทำตลาดอินเดียในปีนี้

“แดน อิเวส” นักวิเคราะห์บริษัทที่ปรึกษาการเงิน เวดบุช ซีเคียวริตี้ ระบุว่า การที่เทสลาสามารถทำยอดขายได้ครึ่งล้าน แสดงให้เห็นว่าเป็น “ธุรกิจติดปีก” ท่ามกลางโรคระบาดและกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง กล่าวคือธุรกิจยังคงสามารถขยายตัวได้ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจโลก ถึงแม้ในไตรมาสสุดท้าย มีนักวิเคราะห์หลายคนคาดการณ์ว่าจะทำยอดขายได้ไม่ถึงตามเป้าหลายพันคัน แต่ที่สุดก็ทำได้เกือบถึงเป้าหมาย ขาดเพียง 450 คัน

นอกจากยอดขายที่เพิ่มมากขึ้น เทสลาประสบความสำเร็จในตลาดหุ้นอย่างมาก หลังจากที่เข้าดัชนีเอสแอนด์พี 500 ราคาหุ้นพุ่งจากที่ไม่ถึง 100 ดอลลาร์สหรัฐช่วงปลายปี 2019 ขึ้นมาอยู่ระดับสูงกว่า 700 ดอลลาร์สหรัฐต่อหุ้นในปลายปี 2020 เพิ่มขึ้นถึง 743% และทำให้กลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่า 6.69 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมูลค่ามากกว่า 6 บริษัทแถวหน้าในอุตสาหกรรมรถยนต์โลกรวมกัน ซึ่งด้วยการเติบโตของยอดขายและกำไรบริษัท 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้มูลค่าหุ้นเทสลายังคงสูงขึ้นเรื่อย ๆ

อย่างไรก็ดี เทสลาจะต้องเผชิญกับคู่แข่งในอนาคต ที่เข้ามาตีตลาดรถยนต์ไฟฟ้าอย่างบริษัท “ฟอร์ด มอเตอร์ส” ที่เริ่มส่งมอบรถยนต์พลังงานไฟฟ้ารุ่น “มัสแตง มัชอี” บริษัทสตาร์ตอัพ “ริเวียน” ก็จะเริ่มจำหน่ายรถบรรทุก และรถเอสยูวีพลังงานไฟฟ้า รวมถึง “โตโยต้า มอเตอร์ส” ที่จะเริ่มผลิตรถยนต์ไฟฟ้าพร้อมกับผลิตแบตเตอรี่เองด้วย รวมทั้งค่ายรถยนต์อื่น ๆ ที่กำลังหันมาให้ความสนใจกับรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น

รวมถึงความท้าทายของเทสลา จากยอดขายบางรุ่นอย่างรถซีดาน “โมเดลเอส” และรถเอสยูวี “โมเดลเอ็กซ์” ที่ขายได้น้อยลง ขณะที่หน่วยกำกับดูแลด้านความปลอดภัยของสหรัฐ กำลังตรวจสอบปัญหาของระบบกันสะเทือนในรถเหล่านั้น รวมถึงคำถามเกี่ยวกับคุณภาพของรถยนต์ไฟฟ้า และสัญญาที่เทสลาเคยประกาศไว้ว่าจะสร้างรถยนต์ไฟฟ้าที่ขับเคลื่อนอัตโนมัติได้ก่อนสิ้นปี 2020 ยังคงไม่มีบทพิสูจน์ว่าสามารถเป็นไปได้จริง


“จีน มันสเตอร์” ระบุว่า ถึงแม้เทสลาตอบโจทย์ผู้บริโภค แต่ต้องเร่งผลิตรถออกมาให้ทันความต้องการของผู้บริโภคให้ได้ ดังนั้น การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตจะเป็นบททดสอบสำคัญที่สุดสำหรับเทสลาในปีนี้