ทำไม “อินโดนีเซีย” ไม่ฉีดวัคซีนโควิดให้ผู้สูงอายุก่อน?

Antara Foto/FB Anggoro via REUTERS ATTENTION EDITORS - THIS IMAGE WAS PROVIDED BY A THIRD PARTY. MANDATORY CREDIT. INDONESIA OUT. REFILE - CORRECTING BYLINE

ทั้งสหรัฐฯ และในยุโรป เริ่มฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเสี่ยงคือผู้สูงอายุ เป็นกลุ่มแรก ๆ แต่ “อินโดนีเซีย” มีแนวทางที่แตกต่างออกไป 

วันที่ 13 มกราคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานกรณีอินโดนีเซียเริ่มฉีดวัคซีน “ซิโนแวค” เข็มแรกในประเทศวันนี้ โดยเริ่มที่ประธานาธิบดี “โจโค วิโดโด” ก่อน

ย้อนไปเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2564 รอยเตอร์ส รายงานว่า อินโดนีเซียเตรียมจะฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้ประชากรจำนวนมาก โดยวางแผนจะฉีดให้กับคนวัยทำงานก่อนผู้สูงอายุ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) อย่างรวดเร็ว และฟื้นฟูเศรษฐกิจ ท่ามกลางการจับตาอย่างใกล้ชิดของหลายประเทศ

หลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา และ อังกฤษ เริ่มฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มผู้สูงอายุก่อน เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อโรคทางเดินหายใจนี้มากกว่า

ต่อไปนี้คือมุมมองของผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับข้อดีและความเสี่ยงที่อินโดนีเซียเลือกใช้แนวทางนี้ ซึ่งผู้ใหญ่วัยทำงานจะได้รับการฉีดวัคซีน ต่อจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและข้าราชการ

ทำไมต้องฉีดวัคซีนให้กลุ่มอายุ 18-59 ปี ก่อน?

อินโดนีเซีย ซึ่งวางแผนจะเริ่มฉีดวัคซีน ที่พัฒนาโดย “ซิโนแวค ไบโอเทค” (Sinovac Biotech) ของจีน เผยว่า ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนในผู้สูงอายุ เนื่องจากการทดลองทางคลินิกที่กำลังดำเนินอยู่ในอินโดนีเซีย เกี่ยวข้องกับผู้ที่มีอายุระหว่าง 18-59 ปี

“เราไม่ได้ตกขบวน” ซิติ นาเดีย ตาร์มิซิ เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขระดับสูงของอินโดนีเซีย กล่าว พร้อมกับระบุว่า เจ้าหน้าที่จะรอคำแนะนำจากหน่วยงานกำกับดูแลด้านยาของประเทศ เพื่อตัดสินใจวางแผนการฉีดวัคซีนสำหรับผู้สูงอายุ

ในขณะที่อังกฤษและสหรัฐฯ เริ่มฉีดวัคซีน ที่พัฒนาโดย “ไฟเซอร์ อิงค์ แอนด์ ไบโอเอ็นเทค” ซึ่งผลลัพธ์เป็นไปด้วยดีกับคนทุกช่วงอายุ อินโดนีเซียยังเพิ่งเข้าถึงวัคซีน “ซิโนแวค” ได้เพียงขั้นแรกเท่านั้น

อินโดนีเซียได้ทำข้อตกลงรับวัคซีนโคโรนาแวคของซิโนแวค จำนวน 125.5 ล้านโดส โดยวัคซีนลอตแรก 3 ล้านโดส ส่งถึงอินโดนีเซียเรียบร้อยแล้ว

ขณะที่วัคซีนของไฟเซอร์ คาดว่าจะส่งถึงอินโดนีเซียในช่วงไตรมาส 3 เป็นต้นไป ส่วนวัคซีนที่พัฒนาโดยแอสตราเซเนกา และ มหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ด จะเริ่มแจกจ่ายในช่วงไตรมาส 2

“ผมไม่คิดว่าจะมีใครดันทุรังเกี่ยวกับแนวทางที่ถูกต้องมากเกินไป” ปีเตอร์ คอลลิกนอน ศาสตราจารย์ด้านโรคติดเชื้อ มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย กล่าว พร้อมระบุว่า กลยุทธ์ของอินโดนีเซียอาจชะลอการแพร่กระจายของโรคได้ แม้ว่าอาจจะไม่ส่งผลต่ออัตราการเสียชีวิตก็ตาม

“การที่อินโดนีเซียทำสิ่งที่แตกต่างจากสหรัฐฯ และยุโรป นั้น เป็นสิ่งที่มีคุณค่า เนื่องจากอินโดนีเซียกำลังจะทำให้เราเห็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นมากกว่าในยุโรปหรือสหรัฐฯ ด้วยแนวทางที่พวกเขากำลังทำ แต่ผมว่าคงไม่มีใครรู้ว่าผลลัพธ์ดังกล่าวจะออกมาเป็นอย่างไร”

ด้านศาสตราจารย์ เดล ฟิชเชอร์ จากโรงเรียนแพทย์หยงลูหลินในสิงคโปร์ กล่าวว่า เขาเข้าใจเหตุผลของอินโดนีเซีย

“ผู้ใหญ่วัยทำงานโดยทั่วไปมีความกระตือรือร้นมากกว่า ชอบเข้าสังคมมากกว่า และเดินทางมากกว่า ดังนั้น กลยุทธ์นี้อาจช่วยลดการแพร่เชื้อในชุมชนได้เร็วกว่าการฉีดวัคซีนให้ผู้สูงอายุ” เขากล่าว

“แน่นอนว่าคนแก่มีความเสี่ยงที่จะมีอาการของโรคและเสียชีวิตได้มากกว่า ดังนั้น การฉีดวัคซีนให้คนแก่ก็เป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล ซึ่งผมก็เห็นข้อดีของทั้งสองกลยุทธ์”

อินโดนีเซียจะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้รวดเร็วหรือไม่?

ด้วยการฉีดวัคซีนให้กลุ่มที่มีความเคลื่อนไหวทางสังคมและเศรษฐกิจมากกว่าเป็นกลุ่มแรก รัฐบาลอินโดนีเซียหวังว่ารัฐบาลจะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้อย่างรวดเร็ว

บูดิ กูนาดิ ซาดิกิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขอินโดนีเซีย กล่าวว่า อินโดนีเซียจำเป็นต้องฉีดวัคซีนให้ประชากร 181.5 ล้านคน หรือประมาณ 67% ของประชากรทั้งหมด เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ และต้องการวัคซีนเกือบ 427 ล้านโดส กรณีที่ต้องฉีดวัคซีนให้ประชากรคนละ 2 ครั้ง เพื่อลดอัตราการสูญเสีย 15%

ผู้เชี่ยวชาญบางคนยังสงสัยเกี่ยวกับการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ เนื่องจากจำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม เพื่อค้นคว้าว่าผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนสามารถแพร่เชื้อไวรัสได้หรือไม่

“อาจมีความเสี่ยงที่ผู้ที่ได้รับวัคซีน จะสามารถแพร่กระจายโรคไปยังผู้อื่น” ฮัสบุลลาห์ ธาบรานี ประธานสมาคมเศรษฐกิจเพื่อสุขภาพชาวอินโดนีเซีย กล่าว

กลยุทธ์นี้ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจได้หรือไม่?

นักเศรษฐศาสตร์มองว่า โครงการฉีดวัคซีนที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งจะครอบคลุมประชากรประมาณ 100 ล้านคน จะช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างก้าวกระโดด เนื่องจากทำให้ประชากรมีแนวโน้มกลับมาทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เช่น การใช้จ่าย และการผลิต

ไฟซาล ราชแมน นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารแมนดิรี แสดงความเห็นว่า กลุ่มช่วงอายุ 18-59 ปี เป็นกลุ่มที่มีความต้องการบริโภคสูงกว่ากลุ่มอื่น ๆ

“พวกเขาจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวเร็วขึ้น เนื่องจากการบริโภคในครัวเรือนมีส่วนช่วยเศรษฐกิจของอินโดนีเซียมากกว่า 50%” เขากล่าว พร้อมเตือนว่า จำนวนผู้ติดโควิดที่เพิ่มขึ้นในประเทศอาจเสี่ยงต่อต่อการลดความเชื่อมั่นของประชาชน

การระบาดของโควิดผลักให้อินโดนีเซีย ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เข้าสู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจเป็นครั้งแรกในรอบกว่าสองทศวรรษ เมื่อปีที่แล้ว โดยรัฐบาลประมาณการณ์ว่า เศรษฐกิจจะหดตัวมากถึง 2.2%