ปมร้อน ‘ชิป’ ขาดตลาด สะเทือน ‘ค่ายรถ-ยักษ์เทค’

ปี 2020 ที่ผ่านมา อุตสาหกรรม “เซมิคอนดักเตอร์” เติบโตอย่างน่าสนใจ จากความต้องการอุปกรณ์เทคโนโลยีต่าง ๆ ในช่วงล็อกดาวน์ ส่งให้ยอดขายเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลกอยู่ที่ 4.33 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโต 5.1% จนทำให้เกิดภาวะขาดแคลน “เซมิคอนดักเตอร์”

ไม่ว่าจะเป็นค่ายรถยักษ์ใหญ่อย่าง “เจเนอรัล มอเตอร์ส” บริษัทเทคโนโลยี “แอปเปิล” ไปจนถึง “โซนี่” เจ้าของเครื่องเล่นเกม “เพลย์สเตชั่น 5” ต่างเผชิญปัญหาในการผลิตสินค้า

ซีเอ็นบีซีรายงานว่า การระบาดของโรคโควิดทำให้ยอดขายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สูงขึ้นอย่างมาก ยอดขายคอมพิวเตอร์พีซีปีที่แล้วอยู่ที่ 275 ล้านยูนิต เพิ่มขึ้น 4.8% สูงสุดในรอบ 10 ปี ขณะที่สินค้าแก็ดเจตต่าง ๆ ทำยอดขายได้มากถึง 4.42 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้ต่างต้องใช้เซมิคอนดักเตอร์มหาศาล ไม่ใช่เพียงแค่เป็นชิปประมวลผล แต่ยังต้องใช้เซมิคอนดักเตอร์จำนวนมากสำหรับฟังก์ชั่นอื่น

อีกปัจจัยคือบริษัทเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่โลกมีการปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจเป็น “แฟบเลส” คือบริษัททำหน้าที่ออกแบบพัฒนาและจำหน่ายชิป ไม่ได้ผลิตเอง ใช้วิธีจ้างผลิต หรือขายสิทธิบัตรสินค้าให้ผู้อื่นนำไปผลิต ขณะที่บริษัทผู้ผลิตรายใหญ่อย่าง “ทีเอสเอ็มซี” ของไต้หวัน “เอเอ็มดี” ของสหรัฐ และ “ซัมซุง” ของเกาหลีใต้ ต่างผลิตตามกำลังผลิตสูงสุดแล้ว แต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ

ขณะที่ขั้นตอนการผลิตเซมิคอนดักเตอร์มีความซับซ้อน ต้นทุนสูง และใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือน

ท่ามกลางความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ยังคงสูงขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่โรคโควิด-19 ยังระบาดอยู่ ยังคงทำให้ “เซมิคอนดักเตอร์” มีแนวโน้มขาดตลาดต่อเนื่อง และอาจขาดตลาดมากขึ้น ถ้าหากไม่มีการแก้ไข ซึ่งสมาคมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ คาดการณ์ว่า ยอดขายทั่วโลกปีนี้จะอยู่ที่ 4.69 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นมากถึง 8.4% จากปีที่แล้ว

Advertisment

แต่ดูเหมือน “อุตสาหกรรมรถยนต์” จะได้รับผลกระทบหนักสุด เนื่องจากผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ตัดสินใจที่จะป้อนชิปให้กับบริษัทเทคโนโลยีต่าง ๆ ก่อนที่จะผลิตให้กับค่ายรถยนต์ เนื่องจากบริษัทเทคมีการสั่งชิปเซมิคอนดักเตอร์จำนวนมากกว่ากลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ ทำให้มีกำไรที่สูงกว่า นอกจากนี้ บริษัทเทคมีแนวโน้มต้องการเซมิคอนดักเตอร์เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และส่วนใหญ่ยักษ์เทคได้เซ็นสัญญาระยะยาวกับผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ทำให้บริษัทรถยนต์ต่อคิวและเข้าถึงซัพพลายทีหลัง

จากข้อมูลของ “ทีเอสเอ็มซี” พบว่าปีที่แล้ว บริษัทซัพพลายเซมิคอนดักเตอร์ให้กับบริษัทสมาร์ทโฟน 48% ขณะที่ป้อนให้บริษัทรถยนต์เพียง 3% และปีนี้ก็มีแนวโน้มที่จะเป็นเช่นนี้ต่อไป

Advertisment

ขณะที่บริษัทรถยนต์มีความต้องการชิปตามฟังก์ชั่นรถที่ซับซ้อนมากขึ้น และหากรถยนต์ขาดเซมิคอนดักเตอร์เพียง 1 ตัว ซึ่งอาจมีมูลค่าเพียง 10 เซนต์ ก็ไม่สามารถขายรถยนต์ทั้งคันได้

ปัญหาดังกล่าวทำให้ขณะนี้ “เจเนอรัล มอเตอร์ส” ต้องปิดโรงงานชั่วคราว 3 แห่ง เนื่องจากปัญหาขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ พร้อมระบุว่าหากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไป โดยไม่ได้มีการแก้ไข อาจทำให้ปีนี้บริษัทต้องสูญเสียกำไรมากถึง 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ ฟอร์ด มอเตอร์, โฟล์คสวาเกน, นิสสัน มอเตอร์ ต่างชะลอการผลิตรถยนต์บางรุ่น เนื่องจากปัญหาขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์เช่นกัน

ด้านสมาคมผู้ผลิตรถยนต์ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ในสหรัฐก็ออกมาเคลื่อนไหวทำจดหมายถึง “โจ ไบเดน” ให้เร่งแก้ปัญหาดังกล่าว รวมทั้งเพิ่มกำลังการผลิต “ซิลิกอนเวเฟอร์” สำหรับรถยนต์ เพราะปัญหาขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์กำลังส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ในสหรัฐ รวมถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่คาดว่าจะลากยาวไปถึงไตรมาส 2-3 จึงจำเป็นต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน

ส่วน “แอปเปิล” และ “โซนี่” ถึงแม้จะได้เซมิคอนดักเตอร์จากซัพพลายเออร์ก่อน แต่มีจำนวนจำกัดจนไม่สามารถผลิตสินค้าอย่าง “ไอโฟน” และ “เพลย์สเตชั่น 5” ได้ตามความต้องการของตลาด และคาดการณ์ว่าสินค้าอาจขาดตลาดไปอีกอย่างน้อยครึ่งปี

ล่าสุดสมาคมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งประกอบด้วยยักษ์ใหญ่อย่าง เอเอ็มดี, อินเทล, ไอบีเอ็ม, เอนวิเดีย และอื่น ๆ รวม 20 ราย ซึ่งครองส่วนแบ่ง 98% ของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ได้ยื่นหนังสือถึง ไบเดนเพื่อขอให้เร่งออกมาตรการพิเศษจัดสรรงบประมาณสร้างแรงจูงใจต่อกลุ่มผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ขยายกำลังการผลิตเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างถาวร

โดย “เจน ซากี” โฆษกทำเนียบขาวระบุว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการหารือกับยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมเพื่อเร่งแก้ปัญหาและระบุว่า ไบเดนเตรียมออกคำสั่งพิเศษในเร็ว ๆ นี้ เพื่อแก้วิกฤตซัพพลายเชนของอุตสาหกรรม “เซมิคอนดักเตอร์” อย่างครอบคลุม