“บัฟเฟตต์” ปรับพอร์ตลงทุน สะท้อนมุมมองเศรษฐกิจโลกอย่างไร

“วอร์เรน บัฟเฟตต์” มหาเศรษฐีวัย 90 ปี หนึ่งในนักลงทุนที่โลกขนานนามว่าเป็นต้นแบบ “นักลงทุนคุณค่า” หรือวีไอ เจ้าของบริษัท “เบิร์กเชียร์ แฮทาเวย์ อิงก์” ได้เปิดเผยรายงานที่ยื่นต่อตลาดหลักทรัพย์ เกี่ยวกับหุ้นที่บริษัทลงทุนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2020 พบว่าเบิร์กเชียร์มีการปรับพอร์ตครั้งสำคัญ คือ ได้เข้าซื้อหุ้นบริษัทโทรคมนาคม “เวอไรซอน คอมมิวนิเคชั่น” มูลค่า 8.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงบริษัทพลังงาน “เชฟรอน” มูลค่า 4.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และบริษัทประกันภัย “มาร์ช แอนด์ แมคเลนแนน” 499 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ขณะเดียวกันเบิร์กเชียร์ได้ลดการลงทุนในบริษัท “แอปเปิล อิงก์” รวมทั้งสถาบันการเงินอย่าง “เวลล์ ฟาร์โก แอนด์ โค” “เจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค” “เอ็มแอนด์ที แบงก์” และ “พีเอ็นซี ไฟแนนเชียล”

ซีเอ็นเอ็น รายงานว่า การที่เบิร์กเชียร์ แฮทาเวย์เข้าลงทุนในบริษัทเชฟรอน สะท้อนมุมมองของบัฟเฟตต์ต่อภาวะเศรษฐกิจโลกในปีนี้ที่เปลี่ยนไป จากปีที่แล้ว นักลงทุนส่วนใหญ่ลังเลที่จะถือหุ้นบริษัทน้ำมันและก๊าซ เพราะการระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วโลก ทำให้ความต้องการพลังงานที่ลดลงนำมาสู่ราคาน้ำมันที่ลดฮวบตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม 2020 ขณะที่บริษัทเชฟรอนก็ขาดทุนมากถึง 5.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2020

นอกจากนี้ เทรนด์ของนักลงทุนรุ่นใหม่ ไม่อยากเดิมพันกับบริษัทน้ำมันที่ไม่มีแผนการปรับเปลี่ยนธุรกิจมาลงทุนด้านพลังงานสะอาดอย่าง “เชฟรอน” ที่ยังคงลงทุนกับบริษัทน้ำมันเหมือนเดิม และยังสวนกระแสโลกขยายฐานการผลิตพลังงานฟอสซิล โดยปีที่แแล้วเชฟรอนได้ซื้อบริษัทสำรวจขุดเจาะน้ำมันและก๊าซ “โนเบิล เอเนอร์จี้” มูลค่า 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

การตัดสินใจลงทุนในเชฟรอน สะท้อนว่าบัฟเฟตต์เชื่อว่า ความต้องการน้ำมันมีแนวโน้มจะกลับมาฟื้นฟูเหมือนแต่ก่อน และมีโอกาสที่อุตสาหกรรมจะยังขยายตัวในอีกหลายสิบปีข้างหน้า โดยตอนนี้สัญญาณที่ดีของเชฟรอนคือเมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบปรับขึ้นอยู่ที่ 60 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล สูงสุดในรอบ 1 ปี ซึ่งราคาอาจเพิ่มขึ้นอีกมาก หากความต้องการหลังการระบาดของโควิด-19 เพิ่มขึ้น ขณะที่หลายบริษัทลดศักยภาพการผลิตน้ำมันลง

ด้านสำนักข่าวบาร์รอน รายงานว่า บัฟเฟตต์ซึ่งเป็นนักลงทุนระยะยาว เน้นถือหุ้นบริษัทที่จะสามารถทำรายได้อย่างมั่นคง มีกระแสเงินสดเข้าบริษัทโดยไม่ต้องพึ่งปัจจัยภายนอก มีทีมงานดูแลด้านการจัดการที่เก่ง และมีกลยุทธ์การแข่งขันที่ยั่งยืน ซึ่ง “เวอไรซอน” เป็นบริษัทที่มีคุณสมบัติดังกล่าวเกือบทั้งหมด ถึงแม้จะมีการระบาดของโรคโควิด-19 เศรษฐกิจสหรัฐจะตกต่ำ และผู้คนตกงานสูงเป็นประวัติการณ์ ชาวอเมริกันยังคงจ่ายเงินค่าบริการมือถือ ไม่ได้เลิกใช้ โดยเมื่อปีที่แล้วรายได้บริษัทลดลงเพียง 3% และกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 0.5% จากปีก่อนหน้า

อย่างไรก็ตาม แม้ธุรกิจเวอไรซอนยังคงเติบโต แต่นักลงทุนหลาย ๆ คนมองว่ารายได้จะไม่เพิ่มขึ้นเท่าไร เนื่องจากการลงทุนพัฒนาเครือข่าย 5G ของบริษัทต้องใช้เงินทุนหลายพันล้านดอลลาร์ ซึ่งปัจจัยนี้ทำให้ราคาหุ้นของเวอไรซอนลดลงมาอย่างมากช่วงปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังสวนทางกับเทรนด์ของนักลงทุนปัจจุบันที่ต้องการลงทุนธุรกิจที่มีสินทรัพย์น้อย (asset-light) และใช้ต้นทุนน้อย (capital-light) แต่บัฟเฟตต์ไม่ใช่คนที่ตามเทรนด์เหล่านี้ เน้นการคว้าโอกาสลงทุนหุ้นขณะที่มูลค่าต่ำ และยังคงเชื่อมั่นในโมเดลธุรกิจของเวอไรซอนอยู่

ในทางกลับกัน “ดัก แคส” หุ้นส่วนผู้จัดการ บริษัท ซีบรีซ แคปิตอล อินเวสต์เมนต์ อิงก์ มองว่า การลดสัดส่วนหุ้นกลุ่มสถาบันการเงิน อาจสะท้อนว่าบัฟเฟตต์วิตกกังวลเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยซึ่งอยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง และมีหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากการระบาดของโรค

ขณะที่บัฟเฟตต์เคยให้สัมภาษณ์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาจะกลับมาฟื้นฟูและขยายตัวอีกครั้ง ช่วงครึ่งหลังของปี 2021 ซึ่งบิสซิเนส อินไซเดอร์ รายงานว่า มูฟการลงทุนของบัฟเฟตต์ ทั้งสำหรับเชฟรอนและเวอไรซอน สะท้อนให้เห็นว่าอุตสาหกรรมดั้งเดิมจะกลับมาฟื้นฟู และบัฟเฟตต์ระบุกับผู้จัดการลงทุนของบริษัทไว้ตั้งแต่ช่วงโควิดเริ่มระบาดว่า “อย่าเพิ่งยอมแพ้กับบริษัทอเมริกา”