สหรัฐ-อียู งัด “มาตรการคว่ำบาตร” เพิ่ม หวังกดดันกองทัพเมียนมา

สหภาพยุโรปจ่อวางมาตรการคว่ำบาตร มุ่งออกกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ของผู้บัญชาการทหาร และสหรัฐอเมริกาเตรียมวางมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มกับผู้บัญชาการทหาร 2 คน ขณะที่ “พล.อ. มิน อ่อง หล่าย” ผู้บัญชาการกองทัพบกวางแผนพลิกฟื้นเศรษฐกิจประเทศ ตัดงบประมาณรัฐบาล ลดการนำเข้าสินค้า เน้นการส่งออกมากขึ้น

วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงาน สหภาพยุโรป (อียู) จ่อวางมาตรการคว่ำบาตรผู้บัญชาการกองทัพเมียนมา ขณะที่สหรัฐอเมริกาเตรียมวางมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มกับผู้บัญชาการทหาร 2 คน หวังกดดันให้กองทัพเลิกใช้ความรุนแรงต่อผู้ประท้วงภายในประเทศ

ทางการอียูกำลังพิจารณาวางมาตรการคว่ำบาตร ซึ่งจะเป็นการออกกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ของผู้บัญชาการทหาร อย่างไรก็ตาม จะไม่เข้าไปมีผลกระทบกับการค้าระหว่างภูมิภาค โดยให้เหตุผลว่ากลัวจะเข้าไปมีผลกระทบกับแรงงานภายในเมียนมา

Photo by Mladen ANTONOV / AFP

ขณะที่สหรัฐอเมริกาได้วางมาตรการคว่ำบาตรผู้บัญชาการทหารอีก 2 คน ได้แก่ “นายพลจัตวา โม มยินต์ ตุน” ( Moe Myint Tun) อดีตเสนาธิการทหารและผู้บัญชาการหนึ่งในกองบัญชาการพิเศษกองทัพ และ “พลอากาศเอก หม่องหม่องจ่อ” (Maung Maung Kyaw) ผู้บัญชาการทหารอากาศ หลังจากก่อนหน้านี้วางมาตรการคว่ำบาตร แบนการเดินทางเข้าประเทศกับอายัดสินทรัพย์ผู้บัญชาการทหารที่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหารไปหลายคนแล้ว

“ไฮโก มาส” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศเยอรมันกล่าวว่า เราไม่สามารถยืนรอดูสถานการณ์ได้อีกต่อไป และพร้อมจะออกมาตรการคว่ำบาตรถ้าหากเจรจาทางการฑูตไม่สำเร็จ

“พล.อ. มิน อ่อง หล่าย” ผู้บัญชาการกองทัพบกเมียนมา แถลงการณ์ระหว่างการประชุมของรัฐบาลว่า อยากให้ตอนนี้ประเทศกลับมามุ่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ ตัดงบประมาณรัฐบาลและการนำเข้าสินค้า มาเน้นการส่งออกแทน หลังจากเหตุการณ์ที่ประชากรเมียนมาทั่วประเทศนัดหยุดทำงาน ลงถนนประท้วงเมื่อวันที่ 22 ก.พ. ที่ผ่านมา ซึ่ง “ทอม แอนดรูวส์” ผู้เสนอรายงานพิเศษ องค์การสหประชาชาติ ระบุว่าได้มีผู้ออกมาประท้วงหลายล้านคน และเป็นการประท้วงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อต้นเดือน

ทั้งนี้ ยังคงมีประชากรเมียนมาที่นัดกันชุมนุม ประท้วงการรัฐประหารของกองทัพ และเรียกร้องให้มีการปล่อย “อองซาน ซูจี” อดีตที่ปรึกษาแห่งรัฐ และประธานพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) สมาชิกภายในพรรคเอ็น แอล ดี นักกิจกรรมทางการเมือง ผู้ประท้วง และผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งถูกคุมตัวไปแล้ว 684 คน

โดยวันนี้จำนวนคนลงถนนประท้วงลดลงจากวันก่อนหน้า และยังไม่มีรายงานการปะทะระหว่างตำรวจกับผู้ชุมนุม

ก่อนหน้านี้ ประเทศญี่ปุ่นได้ประนามการกระทำของกองทัพในการใช้ความรุนแรงเพื่อสลายการชุมนุม ขณะที่สหราชอาณาจักร (ยูเค) แคนาดา และนิวซีแลนด์ต่างเตรียมหรือออกมาตรการคว่ำบาตรผู้บัญชาการหารที่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหารแล้ว