ส่งออกจีนพุ่ง-ดีมานด์โลกฟื้น กับปัจจัยเสี่ยง ‘คอขวด’ เทคโนโลยี

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

จีนเผยแพร่ตัวเลขการส่งออก-นำเข้าในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ออกมาเมื่อ 8 มีนาคมนี้ ทำเอาหลายคนเซอร์ไพรส์ เพราะการส่งออกของจีนพุ่งพรวดขึ้นถึง 60.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

เฉพาะกุมภาพันธ์เดือนเดียว การส่งออกของจีนขยายเพิ่มเกือบเท่าตัวเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

สัดส่วนการขยายตัวที่ว่าไม่เพียงสูงที่สุดในรอบ 20 ปีที่ผ่านมาเท่านั้น แต่ยังสูงเกินกว่าที่นักวิเคราะห์ทั่วไปคาดหมายกันไว้ว่าจะอยู่ที่ราว 40% อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม น่าสังเกตว่าอัตราการขยายตัวที่สูงมากนี้ เป็นการเปรียบเทียบกับสถานการณ์เมื่อปี 2020 ซึ่งต่ำมากเป็นพิเศษ ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว การส่งออกของจีนติดลบถึง 17.4% ในขณะเดียวกันช่วง 2 เดือนแรกในจีนยังเป็นช่วงที่ปกติแล้วมีความผันผวนมากเป็นพิเศษ เพราะมีช่วงหยุดยาววันตรุษจีน ซึ่งยิ่งทำให้ตัวเลขคราวนี้บิดเบือนมากขึ้นไปอีก

แต่ถึงจะเป็นอย่างนั้น ผู้เชี่ยวชาญและนักวิเคราะห์ทั้งหลายก็ยังยืนยันว่าตัวเลขการส่งออกที่ว่านี้ “น่าประทับใจ” อยู่ดี

ติง ลู่ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของโนมูระ โฮลดิ้ง ชี้ว่า ถึงจะตัดผลกระทบจากฐานที่ต่ำมากออกไป การขยายตัวของการส่งออกของจีนก็แข็งแกร่งอยู่ดี สะท้อนถึงดีมานด์ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาอุปกรณ์ทางการแพทย์และอุปกรณ์สำหรับการ “เวิร์กฟรอมโฮม” ทั้งหลาย

แต่ในระยะยาว เดวิด ฉู นักเศรษฐศาสตร์จีน ชี้ให้เห็นว่า การส่งออกของจีนยังคงถูกคุกคามจากความไม่แน่นอนในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ซึ่งหลายฝ่ายเชื่อกันว่า มาตรการเข้มงวดเพื่อป้องกันโควิด-19 จะผ่อนคลายมากขึ้น และส่งผลให้ความต้องการสินค้าทางการแพทย์และอุปกรณ์สนับสนุนการทำงานจากที่บ้านลดต่ำลง

ในขณะเดียวกัน บรรดาประเทศผู้ส่งออกอื่น ๆ ก็จะกลับเข้าสู่ตลาดอีกครั้ง ซึ่งจะส่งผลให้การแข่งขันเข้มข้นขึ้นในตลาดโลก

ตัวเลขการส่งออกที่ว่านี้เผยแพร่ออกมา 2 วัน หลังการประชุมสมัชชาประชาชนแห่งชาติจีนในกรุงปักกิ่ง ซึ่งรัฐบาลจีนใช้เป็นเวทีในการกำหนดวาระทางเศรษฐกิจของประเทศในปีถัด ๆ ไป และตั้งเป้าการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้เอาไว้สูงกว่า 6% ซึ่งนับว่าเป็นการกำหนดแบบอนุรักษ์ไม่น้อยเมื่อคำนึงถึงสถานการณ์เมื่อปีที่ผ่านมา ขณะที่นักวิเคราะห์ทั่วไปคาดการณ์การขยายตัวไว้สูงกว่ามากคือ 8.4%

ที่น่าสนใจก็คือ มีหลายอย่างที่ชวนให้คิดว่าจีนกำลังทบทวนประสบการณ์ทางเศรษฐกิจและการค้าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาของตัวเองอย่างหนัก

ไม่เพียงแต่ “สี จิ้นผิง” ประธานาธิบดีของจีนจะเคยออกมาเปรยว่า อุตสาหกรรมการผลิตของประเทศยังขาด “นวัตกรรม” มากเพียงพอต่อการทลาย “คอขวด” ทางเทคโนโลยีเท่านั้น

“เมียว เว่ย” อดีตรัฐมนตรีอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศของจีนที่อยู่ในตำแหน่งต่อเนื่องถึง 10 ปี ก่อนวางมือเมื่อปีที่ผ่านมา ยังออกมาให้นิยามอุตสาหกรรมจีนว่า “ใหญ่โตแต่ไม่แข็งแกร่ง” และ “ครอบคลุมแต่ยังไม่ดี” ซึ่งจนถึงตอนนี้ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง

อดีตรัฐมนตรีรายนี้ระบุว่า สภาพที่ว่านี้ไม่เป็นผลดี ในขณะที่เศรษฐกิจจีนกำลังหักเหเข้าสู่โมเดลเศรษฐกิจแบบ “เซอร์วิสเบส” ที่ทำให้สัดส่วนของอุตสาหกรรมการผลิตในจีดีพีของประเทศลดต่ำลงเหลือเพียงสูงกว่า 1 ใน 4 เพียงเล็กน้อยอันเป็นระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2012

แม้ว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จีนจะกลายเป็น “ชาติผู้ผลิต” รายใหญ่ที่สุดของโลกไปแล้ว ด้วยปริมาณผลผลิตไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของผลผลิตทั้งโลก ทั้งยังเป็นประเทศที่มี “ห่วงโซ่การผลิตสมบูรณ์แบบที่สุด” แต่ยังคงมีจุดอ่อนสำคัญอยู่ตรงที่จำเป็นต้องพึ่งพา “ผลผลิตไฮเทค” จากสหรัฐอเมริกา อาทิ เซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งเมียว เว่ย ชี้ว่า เป็น “ความอ่อนแอทางยุทธศาสตร์” ของจีน

เขาชี้ให้เห็นว่า สัดส่วนของอุตสาหกรรมการผลิตต่อจีดีพีลดลงเร็วและก่อนเวลาอันควรมากเกินไป ผลก็คือไม่เพียงกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่ยังกระทบต่อการจ้างงาน กลายเป็น “ช่องโหว่” ในอุตสาหกรรมของประเทศ ทอนความสามารถในการรับมือกับความเสี่ยงและการแข่งขันในระดับโลกลงมหาศาล

เมียว เว่ย ยอมรับว่า จีนมีปัญหาอยู่มากมายที่ทำให้การพัฒนาไปสู่การผลิตสินค้าคุณภาพสูง ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญที่สุดในการปฏิรูปเศรษฐกิจถูกจำกัด

บริษัทจีนยังต้องแบกรับภาระภาษีหนักเกินไป, การสนับสนุนทางการเงินต่อภาคการผลิตยังน้อย แต่ที่สำคัญที่สุดคือ ศักยภาพพื้นฐาน, การขาดนวัตกรรมและการไม่มี “ไฮเทคทาเลนต์” อยู่มากพอก็ทำให้มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งให้เกิดข้อจำกัดที่ว่านั้น

จีนยังต้องทำความเข้าใจในจุดอ่อนและช่องว่างของตัวเองให้มาก ปราศจากอคติ และต้องมุ่งมั่นมากกว่าที่เป็นอยู่


หากต้องการเป็น “ชาติมหาอำนาจในอุตสาหกรรมการผลิต” ของโลกให้ได้ภายใน 30 ปีข้างหน้านี้