
“มอง เวก” นักธุรกิจเมียนมา ออกมาสารภาพผ่านรายการทีวีว่า ได้ให้เงินสินบน “อองซาน ซูจี” ทั้งหมด 17 ล้านบาท เพื่อประโยชน์ต่อธุรกิจของเขา อย่างไรก็ตาม ทนายของอองซานระบุ คำกล่าวหานี้ไม่เป็นจริง
วันที่ 18 มีนาคม 2564 สำนักข่าวแชนเนล นิวส์ เอเชีย รายงานว่า “อองซาน ซูจี” อดีตที่ปรึกษาแห่งรัฐ และผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) กำลังจะโดนคณะรัฐประหารตั้งข้อหาคอร์รัปชั่นเพิ่ม ฐานรับสินบนสมัยยังเป็นที่ปรึกษาแห่งรัฐ
- เตือน 10 จังหวัด เตรียมพร้อมยกของขึ้นที่สูง รับมือสถานการณ์น้ำ
- ส่องประวัติ ไทยน้ำทิพย์-หาดทิพย์ ผู้ขายโค้กในไทย ทำไมรายได้ต่างกัน
- กองทุนชราภาพ เป็นสิ่งที่คนมีประกันสังคมควรรู้จัก
ช่องทีวี “มิยาวาดี” (Myawady) ของคณะรัฐประหารเมียนมา ได้ออกอากาศการแถลงการณ์ของ “มอง เวก” (Maung Weik) นักธุรกิจเมียนมา ซึ่งได้สารภาพต่อหน้ากล้องว่าได้ให้ “สินบน” อองซาน ซูจี ทั้งหมด 550,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 17 ล้านบาท) เพื่อประโยชน์ต่อธุรกิจของเขา

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายการระบุว่า อองซาน ซูจี กระทำการคอร์รัปชั่น และทางการกำลังจะออกข้อหาที่เกี่ยวข้องกับกฏหมายต่อต้านคอร์รัปชั่น
อย่างไรก็ตาม “คิน มอง ซอ” ( Khin Maung Zaw) ทนายของอองซาน ซูจี กล่าวว่า คำกล่าวหานี้ไม่เป็นจริง อองซานไม่เคยฉ้อโกงและคอร์รัปชั่นตามที่กล่าวหา
ก่อนหน้านี้ “อองซาน ซูจี” โดนกล่าวหาว่ารับเงินสินบนมูลค่า 600,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 18 ล้านบาท) และรับทองคำมา 10 กิโลกรัม ขณะที่ยังเป็นที่ปรึกษาแห่งรัฐ
และตำรวจเมียนมาได้ตั้งข้อหากับ ออง ซาน ซูจี ก่อนหน้านี้แล้ว ประกอบไปด้วยฐานยุยงปลุกปั่น ละเมิดกฎหมายนำเข้า-ส่งออก ครอบครองอุปกรณ์สื่อสารอย่างผิดกฎหมาย และฝ่าฝืนมาตรการรักษาความปลอดภัยของโรคโควิด-19
โดยคินคาดการณ์ว่า ถ้าหากอองซานถูกตัดสินว่าฉ้อโกง จะทำให้อองซาน ไม่สามารถเข้าร่วม “กิจกรรมทางการเมือง” ของเมียนมาอีกต่อไปได้
ตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 สถานการณ์ภายในเมียนมาเต็มไปด้วยความวุ่นวาย
ส่วนกองกำลังปราบปรามได้ใช้มาตรการรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อสลายการชุมนุม ขณะที่ผู้ประท้วงยังคงรวมตัวกันนัดชุมนุมต่อทุกวัน
สมาคมช่วยเหลือนักโทษทางการเมืองเมียนมา (Assistance Association for Political Prisoners) รายงานว่า มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 200 ราย และ มีผู้ประท้วงถูกจับกุมอีกหลายพันคน