
ตัวเเทนบริษัทสื่อสังคมออนไลน์รายใหญ่ของโลก “เฟซบุ๊ก-ทวิตเตอร์-กูเกิล” เข้าให้การต่อวุฒิสภาสหรัฐ เกี่ยวกับการเผยเเพร่ข้อมูลของผู้ใช้จากรัสเซียที่พัวพันกับการเเทรกเเซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ช่วงปลายปีที่ผ่านมา
สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า นายโคลิน สเตรทช์ รองประธานและที่ปรึกษาส่วนกลางของเฟซบุ๊ก , นายฌอน เอ็ดเกตต์ รักษาการที่ปรึกษาส่วนกลางของทวิตเตอร์ และนายริชาร์ด ซัลกาโด ผู้อำนวยการด้านความปลอดภัยข้อมูลของกูเกิล ได้รับการสอบสวนจากคณะกรรมาธิการด้านอาชญากรรมและการก่อการร้ายของวุฒิสภาสหรัฐ เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ตามเวลาท้องถิ่น ในกรณีการใช้สังคมออนไลน์เผยเเพร่ข่าวปลอมเเละโฆษณาชวนเชื่อ โดยเฉพาะประเด็นที่โยงกับรัสเซียเเละการหาเสียงช่วงเลือกตั้งประธานาธิบดี เมื่อวันที่ 8 พ.ย.ปีที่แล้ว
ข้อมูลจากเฟซบุ๊ก เปิดเผยว่าชาวอเมริกันกว่า 126 ล้านคน ได้เห็นข้อความที่ถูกโพสต์ขึ้นโดยรัสเซียกว่า 8 หมื่นโพสต์ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยในข้อความจำนวน 8 หมื่นโพสต์นั้นถูกเผยแพร่ในช่วงเดือนมิถุนายน 2015 ถึงเดือนสิงหาคม 2017 ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นข้อความที่ยุยง สร้างความแตกแยกทางสังคม และการเมือง เช่น ความสัมพันธ์ด้านเชื้อชาติ
ด้านทวิตเตอร์ เปิดเผยสถิติการตรวจพบบัญชีที่เรียกว่า “บอต” และมีความเชื่อมโยงกับรัสเซียเกือบ 37,000 บัญชี ทำหน้าที่กระจายข่าวด้วยการทวีตราว 1.4 ล้านครั้ง ในช่วง 3 เดือนสุดท้ายก่อนถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ โดยในสัปดาห์นี้ทวิตเตอร์ประกาศยกเลิกการโฆษณาร่วมกับสำนักข่าวขนาดใหญ่ของรัสเซีย 2 แห่ง คือ “รัสเซีย ทูเดย์” และ “สปุตนิก” (อ่านข่าว คลิก)
ด้านตัวเเทนจากกูเกิล ระบุว่าทางบริษัทกำลังปรับปรุงระบบเพื่อหาที่มาของโฆษณาที่เกี่ยวข้องกับการเมือง ซึ่งจะเริ่มใช้ตั้งเเต่ปีหน้าเป็นต้นไป
สำหรับการสอบสวนสื่อสังคมออนไลน์รายใหญ่ของสหรัฐครั้งนี้ มีขึ้นหลังนายพอล มานาฟอร์ต อดีตหัวหน้าทีมรณรงค์หาเสียงของนายโดนัลด์ ทรัมป์ กับนายริก เกตส์ อดีตหุ้นส่วนทางธุรกิจของนายมานาฟอร์ต ได้เข้ามอบตัวต่อศาลแขวงรัฐบาลกลางในกรุงวอชิงตัน ต่อ 12 ข้อหาเกี่ยวกับการสมคบคิดต่อต้านรัฐและการฟอกเงิน ที่คณะลูกขุนใหญ่สั่งฟ้องตามหลักฐานของคณะสอบสวนอิสระเรื่องอิทธิพลทางการเมืองของรัสเซียในสหรัฐ ซึ่งมี “โรเบิร์ต มูลเลอร์” อดีต ผอ.เอฟบีไอ เป็นอัยการพิเศษอิสระดูเเลคดีนี้