WHO เร่งติดตามโควิดสายพันธุ์ “มิว” หวั่นลดประสิทธิภาพวัคซีน

โควิด
REUTERS/Henry Esquivel NO RESALES. NO ARCHIVES

องค์การอนามัยโลก ได้จัดให้โควิดสายพันธุ์ใหม่ B.1.621 หรือที่เรียกว่า “มิว” (Mu) เป็นสายพันธุ์ที่กำลังสนใจ (variant of interest)

วันที่ 1 กันยายน 2564 สำนักข่าวเอบีเอส-ซีบีเอ็น รายงานว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า กำลังติดตามโควิด-19 สายพันธุ์ B.1.621 หรือที่เรียกว่า “มิว” (Mu) ซึ่งถูกค้นพบครั้งแรกที่ประเทศโคลอมเบีย โดยได้จัดโควิดสายพันธุ์ดังกล่าวเป็น “สายพันธุ์ที่สนใจ” (variant of interest)

ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกกล่าวว่า ข้อมูลการกลายพันธุ์ของโควิดสายพันธุ์ “มิว” บ่งชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงที่ว่า เชื้อไวรัสอาจจะสามารถลดประสิทธิภาพของวัคซีนลงได้ ซึ่งทำให้ต้องมีการศึกษาโควิดสายพันธุ์ดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น

รายงานข่าวระบุว่า ตอนนี้มีความกังวลถึงการกลายพันธุ์ของโควิดสายพันธุ์ต่าง ๆ ซึ่งได้ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกกลับมาพุ่งสูงขึ้นอีกครั้ง อย่างเช่นโควิดสายพันธุ์เดลต้า ซึ่งถูกค้นพบครั้งแรกที่ประเทศอินเดีย ซึ่งกำลังระบาดอย่างหนัก โดยเฉพาะในกลุ่มประชากรที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน

โดยก่อนหน้านี้ ทางองค์การอนามัยโลกได้แบ่งการติดตามของสายพันธุ์โควิด-19 ออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ “สายพันธุ์ที่สนใจ” (variant of interest) และ “สายพันธุ์ที่น่าเป็นห่วง” (variant of concern)

สำหรับ “สายพันธุ์ที่สนใจ” จะยังเป็นสายพันธุ์โควิด ที่ทางองค์การอนามัยโลกสนใจติดตาม แต่สำหรับ “สายพันธุ์ที่น่าเป็นห่วง” หมายความว่า เป็นสายพันธุ์ที่มีอัตราการระบาดที่รวดเร็ว รวมถึงเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากกว่าเชื้อโควิดเดิม รวมทั้งมีความเสี่ยงที่ว่า วัคซีนหรือการรักษาในปัจจุบัน จะไม่มีประสิทธิภาพพอต่อการต้านเชื้อไวรัสนี้

โดยตอนนี้มีโควิด-19 สายพันธุ์ที่น่าเป็นห่วง 4 สายพันธุ์ ได้แก่สายพันธุ์ B.1.1.7 หรือ “อัลฟ่า” ซึ่งถูกค้นพบครั้งแรกที่สหราชอาณาจักร, สายพันธุ์ B.1.351 ซึ่งถูกค้นพบครั้งแรกที่ประเทศแอฟริกาใต้, สายพันธุ์ P.1 ซึ่งถูกค้นพบครั้งแรกที่ประเทศบราซิล และสายพันธุ์ B.1617 หรือ “เดลต้า” ซึ่งถูกค้นพบครั้งแรกที่ประเทศอินเดีย