ทำไม ‘ฮอนด้า-โตโยต้า’ ค้านลดหย่อนภาษีรถอีวีสหรัฐ

 

ตามเป้าหมายของสหรัฐอเมริกาในการทำให้อุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานไฟฟ้าหรือ “รถอีวี” เติบโตอย่างรวดเร็ว เพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ “โจ ไบเดน” ประธานาธิบดีสหรัฐ ได้ระบุว่า ภายในปี 2030 ยอดขายรถอีวีจะต้องคิดเป็นอย่างน้อย 50% ของยอดขายรถยนต์ทั้งหมด

โดยล่าสุดคณะกรรมการพิจารณาวิธีจัดหารายได้ของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ฝั่งพรรคเดโมแครตได้เสนอปรับโครงสร้างสำหรับการลดหย่อนภาษี เพื่อสนับสนุนการใช้รถยนต์อีวีเพิ่มมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ดี ร่างกฎหมายดังกล่าวไม่เพียงแต่สนับสนุนการใช้รถอีวีเท่านั้น แต่ยังให้สิทธิลดหย่อนภาษีเพิ่มขึ้น สำหรับผู้ผลิตรถยนต์อีวีที่แรงงานอยู่ในสหภาพแรงงานยานยนต์สหรัฐ (UAW)

รอยเตอร์สรายงานว่า ร่างกฎหมายนี้ยังกำหนดให้ประชาชนที่ซื้อรถยนต์พลังงานไฟฟ้าจะสามารถนำไปใช้ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 7,500 ดอลลาร์สหรัฐตามเดิม อย่างไรก็ดี หากซื้อรถอีวีจากบริษัทผู้ผลิตที่แรงงานเข้าร่วมกับสหภาพแรงงานจะสามารถลดหย่อนภาษีได้เพิ่มอีก 4,500 ดอลลาร์สหรัฐ และกรณีเป็นรถที่ใช้แบตเตอรี่ผลิตในประเทศก็จะได้ลดหย่อนภาษีเพิ่มอีก 500 ดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ ตามรายละเอียดของร่างกฎหมายโครงการลดหย่อนภาษีดังกล่าว ราคารถอีวีจะต้องไม่เกิน 55,000 ดอลลาร์สหรัฐสำหรับรถยนต์ทั่วไป, ไม่เกิน 69,000 ดอลลาร์สหรัฐสำหรับรถอีวีประเภทเอสยูวี และไม่เกิน 74,000 ดอลลาร์สหรัฐสำหรับรถอีวีที่เป็นกระบะ

นอกจากนี้ ผู้ที่จะได้สิทธิลดหย่อนภาษีซื้อรถอีวีจะต้องมีรายได้ไม่เกิน 400,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี สำหรับบุคคลเดี่ยว, รายได้ไม่เกิน 600,000 ดอลลาร์สหรัฐสำหรับหัวหน้าครอบครัว และไม่เกิน 800,000 ดอลลาร์สหรัฐสำหรับคู่สมรส

และตั้งแต่ปี 2027 เป็นต้นไป โครงการลดหย่อนภาษีซื้อรถอีวีจะให้สิทธิ์เฉพาะรถอีวีที่ผลิตภายในประเทศสหรัฐอเมริกาเท่านั้น ตามนโยบายของไบเดนที่มุ่งสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิต รวมถึงการซื้อสินค้าที่ผลิตภายในอเมริกา หรือ “บาย อเมริกา” (Buy America)

นอกจากนี้ ร่างกฎหมายจะยกเลิกข้อจำกัดที่ว่า “ผู้บริโภคยื่นลดหย่อนภาษีได้ หากยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าของบริษัทนั้นไม่เกิน 200,000 คัน” ซึ่งตอนนี้ “เทสลา” และ “เจอเนรัล มอเตอร์ส” หรือ “จีเอ็ม” มียอดขายรถเกินจำนวนดังกล่าวแล้ว ซึ่งการที่ยกเลิกข้อจำกัดนี้ ก็ทำให้ค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ทั้งหลายได้ประโยชน์อย่างเต็มที่

รายงานข่าวระบุว่า บริษัท เจเนอรัล มอเตอร์ส, ฟอร์ด มอเตอร์ และ สเตนแลนติสเอ็นวี บริษัทแม่ของ “ไครสเลอร์” ซึ่งถือป็น “บิ๊ก ทรี” 3 ผู้ผลิตรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐจะได้รับประโยชน์จากโครงการลดหย่อนภาษี ภายใต้ร่างกฎหมายใหม่อย่างมาก เนื่องจากแรงงานของโรงงานประกอบรถยนต์ที่ฐานการผลิตในสหรัฐเข้าร่วมเป็นสมาชิกในสหภาพแรงงานยานยนต์สหรัฐ (UAW)

อย่างไรก็ดี บริษัท ฮอนด้า มอเตอร์, โตโยต้า มอเตอร์ รวมถึงเทสลา อิงก์ ได้ออกมาคัดค้านร่างกฎหมายดังกล่าว

โดยบริษัท โตโยต้า แถลงการณ์ว่า ร่างกฎหมายดังกล่าว “เหยียดชาวอเมริกัน” ตามการตัดสินใจของแรงงานที่ว่าจะเข้าร่วมสหภาพหรือไม่ รวมทั้งยืนยันว่าจุดประสงค์ของการสร้างรถอีวีของโตโยต้า ก็เพื่อให้ผู้บริโภคชาวอเมริกันทุกคนสามารถเข้าถึงรถยนต์ และรถกระบะพลังงานไฟฟ้าที่ราคาไม่แพงได้

ส่วนบริษัท ฮอนด้า ระบุว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวไม่ยุติธรรมอย่างมากเช่นกัน รวมถึงระบุด้วยว่า แรงงานที่ฐานการผลิตรถอีวีของฮอนด้าภายในสหรัฐที่รัฐแอละบามา อินเดียนา และโอไฮโอ ควรได้รับความยุติธรรม และความเท่าเทียมจากรัฐสภาคองเกรสสหรัฐมากกว่านี้

ขณะเดียวกัน “อีลอน มัสก์” ซีอีโอเทสลา แม้จะเป็นบริษัทของสหรัฐ แต่แรงงานไม่ได้อยู่ในสหภาพ ก็ออกมาระบุว่า ร่างกฎหมายดังกล่าว เป็นอิทธิพลของสหภาพแรงงานยานยนต์สหรัฐที่ต้องการให้มีร่างกฎหมายนี้มา ถึงแม้บางบริษัทอย่าง “ฟอร์ด” ซึ่งมีแรงงานอยู่ในสหภาพก็จริง แต่ “ผลิต” รถอีวีที่ประเทศเม็กซิโก จึงมองไม่เห็นว่า แท้จริงแล้วร่างกฎหมายนี้จะช่วยชาวอเมริกันที่จ่ายภาษีได้อย่างไร

นอกจากนี้ “ริเวียน” (Rivian) บริษัทผู้ผลิตรถบรรทุกไฟฟ้า ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากยักษ์อีคอมเมิร์ซ “อเมซอน” ออกแถลงการณ์ว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวถือว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง สำหรับการสนับสนุนอุตสาหกรรมรถพลังงานไฟฟ้าก็จริง อย่างไรก็ดี อาจจะทำให้ผู้ซื้อรถยนต์มึนงงได้ว่า รถยนต์เจ้าไหน มีแรงงานที่อยู่ในสหภาพ ซึ่งจะทำให้สามารถลดหย่อนภาษีได้สูงสุดได้

อย่างไรก็ดี “เรย์ เคอร์รี” ประธานสหภาพแรงงานยานยนต์สหรัฐ ออกแถลงการณ์สนับสนุนร่างกฎหมายดังกล่าว เพราะมองว่าเป็นการสนับสนุนดูแลแรงงานภายในสหภาพที่อยู่ในอุตสาหกรรมอีวีอย่างเต็มที่ พร้อมกับยืนยันว่า อยากให้ผ่านร่างกฎหมายนี้ ถึงแม้จะมีนักวิเคราะห์ออกมาแสดงความคิดเห็นว่า เป็นการออกกฎหมาย เพื่อทำให้เหล่ายักษ์ผู้ผลิตรถยนต์สหรัฐได้เปรียบคู่แข่งอย่างมากก็ตาม