พินัยกรรม “เจ้าชายฟิลิป” ปิดลับ 90 ปี ปกป้องพระเกียรติ ควีนเอลิซาเบธ

FILE PHOTO : by Chris Jackson / POOL / AFP

ศาลอังกฤษตัดสิน พินัยกรรม “เจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ” จะต้องถูกเก็บเป็นความลับ 90 ปี เพื่อรักษาและปกป้องพระเกียรติของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2

วันที่ 17 กันยายน 2564 บีบีซี รายงานว่า ศาลสูงแห่งสหราชอาณาจักร พิจารณาตัดสินกรณีพินัยกรรมของเจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ พระสวามีในสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 เมื่อวันพฤหัสบดีตามเวลาท้องถิ่น หลังพระองค์สิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2564 ด้วยพระชนมายุ 99 พรรษา

คำตัดสินดังกล่าวระบุว่า พินัยกรรมของเจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ จะต้องถูกเก็บเป็นความลับ ระยะเวลา 90 ปี เพื่อรักษาและปกป้องพระเกียรติของสมเด็จพระราชินีฯ ตามธรรมเนียมที่ปฏิบัติมานานกว่าหนึ่งศตวรรษ ซึ่งกำหนดว่าเมื่อสมาชิกอาวุโสของราชวงศ์สิ้นพระชนม์ ศาลจะสั่งให้ประทับตราปิดผนึกพินัยกรรมของสมาชิกราชวงศ์พระองค์นั้น เพื่อไม่ให้ถูกเปิดเผยสู่สาธารณชน

FILE PHOTO : ADRIAN DENNIS / AFP

“เซอร์ แอนดรูว์ แม็คฟาร์เลน” ประธานผู้พิพากษาอาวุโสสูงสุด ศาลครอบครัว เผยว่า ระยะเวลา 90 ปี เป็นระยะเวลาที่เหมาะสมและเพียงพอ สำหรับการลดโอกาสที่สื่อต่าง ๆ จะก้าวก่ายชีวิตส่วนพระองค์ของสมาชิกราชวงศ์ เพื่อรักษาศักดิ์ศรีและอธิปไตยของสมาชิกราชวงศ์

“ขณะที่สาธารณชนอยากรู้อยากเห็นเกี่ยวกับพระประสงค์ ที่สมาชิกราชวงศ์ระบุไว้ในพินัยกรรม แต่การรับรู้ข้อมูลส่วนพระองค์เหล่านี้ ไม่ได้มีประโยชน์อันใดต่อสาธารณชนเลย” เซอร์ แอนดรูว์ กล่าว

FILE PHOTO : Bianca DE MARCHI / POOL / AFP

ด้านทนายความที่ดูแลทรัพย์สินของดยุกแห่งเอดินบะระแย้งว่า ข่าวเรื่องการพิจารณาและสั่งให้ปิดพินัยกรรมดังกล่าว อาจก่อให้เกิดการคาดเดาที่ไม่มีมูล ซึ่งจะเป็นการก้าวก่ายชีวิตส่วนพระองค์ของสมเด็จพระราชินีฯ และสมาชิกราชวงศ์ ขณะที่ทนายความของสมเด็จพระราชินีฯ มองว่า พินัยกรรมดังกล่าวควรปิดผนึกเป็นเวลา 125 ปี เลย

ทั้งนี้ หลังผ่านไป 90 ปี พินัยกรรมของสมาชิกราชวงศ์แต่ละพระองค์จะถูกเปิดและตรวจสอบโดยทนายส่วนพระองค์ของราชินีหรือกษัตริย์ รวมทั้งผู้ดูแลหอจดหมายเหตุแห่งราชวงศ์ อัยการสูงสุด และตัวแทนส่วนพระองค์ที่สิ้นพระชนม์ ที่อาจจะยังเหลืออยู่ แต่พินัยกรรมบางฉบับอาจไม่ได้รับอนุญาตให้ตีพิมพ์เลย แม้แต่ส่วนใดส่วนหนึ่ง

สำหรับ “เซอร์ แอนดรูว์ แม็คฟาร์เลน” เป็นผู้ดูแลตู้นิรภัยที่บรรจุซองพินัยกรรมมากกว่า 30 ฉบับ ของสมาชิกราชวงศ์ที่สิ้นพระชนม์ไปแล้ว โดยสมาชิกราชวงศ์พระองค์แรกที่ศาลสั่งปิดผนึกพินัยกรรมคือ เจ้าชายฟรานซิสแห่งเท็ค พระอนุชาในสมเด็จพระราชินีนาถแมรีที่ 1 แห่งอังกฤษ ซึ่งสิ้นพระชนม์เมื่อปี 2453

รวมถึงพินัยกรรมของ สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ พระราชชนนีในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 และเจ้าหญิงมาร์กาเรต เคาน์เตสแห่งสโนว์ดอน พระขนิษฐาในสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 ซึ่งสิ้นพระชนม์ เมื่อปี 2545 ด้วย

จากซ้าย สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ พระราชชนนี ในสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 และ เจ้าหญิงมาร์กาเรต เคาน์เตสแห่งสโนว์ดอน พระขนิษฐาในสมเด็จพระราชินี  (FILE PHOTO : JOHN STILLWELL / PA / AFP)

อย่างไรก็ตาม 1 ในพินัยกรรม 30 ฉบับ ที่ไม่ได้ถูกปิดผนึกเหมือนกับสมาชิกราชวงศ์พระองค์อื่น ๆ คือ พินัยกรรมของ “ไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์” ซึ่งพินัยกรรมของพระองค์ได้รับการตีพิมพ์ หลังการสิ้นพระชนม์เมื่อปี 2540 โดยในพินัยกรรมระบุว่าทรัพย์สมบัติส่วนใหญ่ของพระองค์ จะถูกเก็บไว้ให้พระโอรสทั้งสองพระองค์ กระทั่งมีพระชนมายุครบ 25 ปี