ประธานบริษัท “เอเวอร์แกรนด์” มั่นใจ รอดจากช่วงเวลาที่มืดมนที่สุดนี้ได้

Photo by Noel Celis / AFP

ประธานบริษัท “เอเวอร์แกรนด์” ได้ส่งจดหมายหาพนักงานว่า ทางบริษัทมั่นใจว่าจะสามารถเดินทางออกจาก “ช่วงเวลาที่มืดมนที่สุด” นี้ได้  ท่ามกลางการจับตามองของทั่วโลกว่า บริษัทจะล้มละลายหรือไม่

วันที่ 21 กันยายน 2564 สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า “ฮุย คา หยวน” ประธานบริษัทยักษ์อสังหาริมทรัพย์จีน “ไชน่า เอเวอร์แกรนด์” ได้ส่งจดหมายหาพนักงานว่า ทางบริษัทมั่นใจว่าจะสามารถเดินทางออกจาก “ช่วงเวลาที่มืดมนที่สุด” นี้ได้ รวมทั้งสามารถส่งมอบโปรเจกต์โครงการอสังหาฯ ได้ตามกำหนด ท่ามกลางการจับตามองของทั่วโลกว่า บริษัทจะล้มละลายหรือไม่

“ผมเชื่อว่า ด้วยความพยายามของทุกคน เอเวอร์แกรนด์จะสามารถเดินทางออกจากช่วงเวลาที่มืดมนที่สุดนี้ และสามารถกลับมาก่อสร้างตามปกติได้เร็วที่สุดได้ รวมทั้งทำในสิ่งที่ผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ นักลงทุน พาร์ทเนอร์ และสถาบันการเงินต้องการได้” ฮุย กล่าวในจดหมาย อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มีการระบุว่า ทางบริษัทจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้อย่างไร

ทั้งนี้ ถึงแม้ก่อนหน้านี้ ยักษ์อสังหาฯ เอเวอร์แกรนด์ เติบโตได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็ประสบปัญหา หลังจากรัฐบาลจีนออกมาตรการใหม่เมื่อเดือนสิงหาคม 2020 เพื่อติดตามและควบคุมหนี้สินของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่อย่างใกล้ชิด

Photo by Peter PARKS / AFP

โดยมาตรการที่เข้มงวดดังกล่าว จึงทำให้ “เอเวอร์แกรนด์” ซึ่งพึ่งพาเงินจากการขายล่วงหน้า แล้วนำมาหมุนธุรกิจต่าง ๆ ต้องเทขายโครงการ พร้อมส่วนลดที่สูงลิ่ว อย่างไรก็ตาม เงินก็ยังไม่พอสำหรับหนี้สินมูลค่ารวมกว่า 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หลังจากหลายปีก่อนได้กู้เงินเพื่อสร้างการเติบโตอย่างรวดเร็ว

ส่วนในสัปดาห์นี้และสัปดาห์หน้า “เอเวอร์แกรนด์”  มีกำหนดการที่จะต้องจ่ายคูปองพันธบัตรหรือดอกเบี้ยพันธบัตร คิดเป็นมูลค่า 85 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยกำหนดจ่ายวันที่ 23 ก.ย.นี้  และอีกกว่า 47 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งกำหนดจ่ายวันที่ 29 ก.ย.นี้ รวมทั้งในปีหน้าเอเวอร์แกรนด์มีหนี้ที่ต้องชำระอีกราว ๆ 7.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ 

โดยหากเอเวอร์แกรนด์มีการผิดนัดชำระหนี้ตามกำหนดการดังกล่าว จะกลายเป็นความเสี่ยงสำคัญที่จะสร้างความกังวลว่า เอเวอร์แกรนด์จะถึงคราวล้มละลายหรือไหม เนื่องจากไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด

นอกจากนี้ รายงานข่าวระบุว่า ผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากบริษัท “เอเวอร์แกรนด์” ล้มละลาย ไม่ได้มีเพียงแค่ตัวบริษัทเอง แต่จะยังส่งผลกระทบไปยังทุกภาคส่วน ได้แก่ ธนาคาร ซัพพลายเยอร์ ผู้ที่ซื้อบ้าน รวมถึงนักลงทุนด้วย