เปิดข้อมูล “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” นานาชาติ “ก่อหนี้แฝง” 3.8 แสนล้าน

โครงการ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Initiative) ของจีน เป็นความหวังที่จะสร้างเครือข่ายเส้นทางการค้าข้ามทวีปที่ช่วยให้ประเทศในโครงการสามารถพัฒนาเศรษฐกิจผ่านการเข้าถึงโครงข่ายการค้าได้มากขึ้น แต่ภายใต้โครงการขนาดใหญ่ที่ใช้เม็ดเงินมหาศาลนี้กลับสร้างความเสี่ยงให้กับประเทศต่าง ๆ อาจต้องเผชิญกับ “กับดักหนี้” ในท้ายที่สุด

นิกเคอิ เอเชียรายงานว่า “เอดดาต้า” (AidData) ศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ วิทยาลัยวิลเลียมแอนด์แมรี ในสหรัฐอเมริกา เปิดเผยผลวิจัยล่าสุดที่แสดงให้เห็นว่า โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีนอาจส่งผลให้ประเทศรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำต้องแบกรับ “หนี้แฝง” รวมมูลค่า 385,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

หนี้แฝงดังกล่าวเกิดจากการให้เงินกู้ของจีนผ่านโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ที่ไม่ได้ให้ผ่านธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ ตามรูปแบบการให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศเท่านั้น แต่การให้เงินกู้ในปัจจุบันเกือบ 70% ได้ให้แก่สถาบันทางการเงิน รัฐวิสาหกิจ บริษัทร่วมทุน และภาคเอกชน ผ่านนิติบุคคลเฉพาะกิจ (เอสพีวี) เป็นตัวแทนในการรับเงินกู้

การปล่อยเงินกู้ในลักษณะดังกล่าวจึงอยู่นอกเหนือการตรวจสอบของหน่วยงานกำกับดูแลระดับโลก อย่างธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เนื่องจากไม่ปรากฏในงบดุลของรัฐบาลต่าง ๆ ซึ่งรายงานเฉพาะรายการที่เป็นการปล่อยกู้กับภาครัฐโดยตรงเท่านั้น แต่รัฐบาลเหล่านั้นยังคงต้องแบกรับ “หนี้แฝง” จากการกู้เงินของจีนผ่านองค์กรที่ไม่ใช่ภาครัฐ

“แบรดลีย์ ซี. ปาร์กส์” กรรมการบริหารและหนึ่งในผู้เขียนรายงานของเอดดาต้า ระบุว่า “ประมาณการว่า รัฐบาลส่วนใหญ่รายงานภาระหนี้สินที่มีต่อรัฐบาลจีนต่ำกว่าความเป็นจริง โดยเฉลี่ยอยู่ที่ราว 5.8% ของจีดีพีของ 165 ประเทศทั่วโลก”

โดยเอดดาต้าประมาณการว่า หากรวมมูลค่าหนี้แฝงแล้วจะส่งผลให้ปัจจุบันมีราว 44 ประเทศทั่วโลกที่มีระดับหนี้สาธารณะต่อจีนสูงกว่า 10% ของจีดีพี ตัวอย่างเช่นโครงการรถไฟจีน-ลาว ที่ได้รับความช่วยเหลือด้านเงินกู้จากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าของจีน (China Exim Bank) มูลค่า 5,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 3 ของจีดีพีลาว เช่นเดียวกับศรีลังกา เคนยา และเอธิโอเปีย

ขณะที่บางประเทศก็ต้องเผชิญกับเงินกู้ดอกเบี้ยสูงของจีน เช่น ปากีสถานที่มีภาระเงินกู้ในโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางมูลค่ากว่า 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยรัฐบาลปากีสถานต้องแบกรับดอกเบี้ยถึง 3.76% ภายในระยะเวลาชำระคืน 13.2 ปี ซึ่งอยู่ในระดับสูงหากเทียบกับอัตราดอกเบี้ย 1.1% ในระยะเวลาชำระคืน 28 ปี ภายใต้องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (โออีซีดี)

ลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นกับหลายประเทศที่มีภาระหนี้กับจีน ซึ่งส่วนมากเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำ ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะเดินเข้าสู่กับดักหนี้โดยที่ทางการจีนมีสิทธิเรียกร้องให้ประเทศเหล่านั้นขายสินทรัพย์ที่มีความสำคัญทางภูมิรัฐศาสตร์ให้กับจีน ในกรณีที่ประเทศดังกล่าวไม่มีความสามารถในการชำระหนี้คืน

อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อโต้แย้งต่อความกังวลดังกล่าว โดยไฟแนนเชียลไทมส์รายงานข้อมูลของโครงการริเริ่มวิจัยจีนแอฟริกา (China Africa Research Initiative) ของมหาวิทยาลัยจอนส์ฮอปกินส์ ที่ชี้ว่า ระหว่างปี 2000-2019 รัฐบาลจีนได้ยกหนี้ในภูมิภาคแอฟริกามูลค่ากว่า 3,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และยังมีหนี้อีกมูลค่า 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐที่ได้รับการปรับโครงสร้างหรือรีไฟแนนซ์ โดยไม่มีการยึดสินทรัพย์แต่อย่างใด

ยังคงต้องจับตาดูต่อไปว่ารัฐบาลจีนตั้งใจจะใช้กลยุทธ์ในการสร้างกับดักหนี้ เพื่อขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการเมืองจริงหรือไม่ เมื่อกำหนดเวลาชำระหนี้ของประเทศต่าง ๆ มาถึง