ไขข้อสงสัย ทำไมปืนประกอบฉากถึงฆ่าคนได้?

แม้ปืนประกอบจากจะใช้กระสุนแบลงค์ที่ไม่มีหัวตะกั่ว แต่ยังมีอีกหลายปัจจัยที่จะทำให้เกิดอันตรายกับนักแสดงหรือทีมงานได้

วันที่ 22 ตุลาคม 2564 หลังรับทราบข่าวอุบัติเหตุเศร้าในกองถ่ายภาพยนตร์เรื่อง Rust ซึ่งนักแสดงรุ่นใหญ่ “อเล็กซ์ บอลด์วิน” ยิงปืนประกอบฉากไปถูกทีมงานคือ ผู้กำกับภาพจนเสียชีวิต ในขณะที่ผู้กำกับภาพยนตร์ได้รับบาดเจ็บ หลายคนอาจเกิดคำถามว่า ปืนประกอบฉากซึ่งใช้ในการถ่ายทำภาพยนตร์นั้น สามารถทำให้เกิดการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตได้ด้วยหรือ?

ปืนประกอบฉากคืออะไร

ปืนประกอบฉากหรือ Prop Gun หมายถึง ปืนที่ใช้ในการแสดง ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายทำภาพยนตร์ รายการทีวี ไปจนถึงละครเวที ซึ่งมีทั้งปืนจำลอง ปืนจริง โดยปืนจำลองมักจะเป็นปืนของเล่นที่ถูกตกแต่งให้เหมือนของจริง หรือปืนแก๊ปใช้แผ่นแก๊ปทำให้เกิดเสียงและควันเมื่อยิง

ส่วนปืนจริงนั้นแบ่งได้อีก 2 แบบคือ ปืนที่ดัดแปลงให้ใส่ได้เฉพาะกระสุนแบลงค์ (Blank) หรือกระสุนที่มีเพียงส่วนปลอกและดินปืนเท่านั้นไม่มีหัวตะกั่ว กับปืนจริงแบบไม่มีการดัดแปลงใดๆ แต่นำมาบรรจุกระสุนแบลงค์

ทั้งนี้เหตุผลที่มีการนำปืนจริงมาใช้ประกอบการแสดงนั้น เป็นเพราะความสมจริง โดย “เดฟ บราว์น” ผู้สอนการใช้ปืน และผู้ประสานงานความปลอดภัยอาวุธปืนให้ภาพยนตร์หลายเรื่อง ระบุในบทความ Filming With Firearms ที่ตีพิมพ์ในนิตยสาร American Cinematographer เมื่อปี 2019 กว่า การใช้ปืนจริงประกอบฉากนั้นช่วยให้ดูสมจริงทั้งรายละเอียดของตัวปืน น้ำหนัก และการจับถือ โดยเฉพาะในฉากโคลสอัพ

อย่างไรก็ตาม การใช้ปินจริงประกอบการแสดงต้องมีการดูแลจากผู้เชี่ยวชาญอย่างเข้มงวด เพราะแม้แต่กระสุนแบลงค์ที่ไม่มีหัวตะกั่ว ก็สามารถทำให้เกิดอันตรายร้ายแรงได้

อันตรายจากปืนประกอบฉาก

ความอันตรายจากการใช้ปืนจริงทั้งที่ดัดแปลงและไม่ดัดแปลงมาประกอบการถ่ายทำเกิดจากตัวกระสุนแบลงค์ เนื่องจากแม้กระสุนนี้จะไม่มีหัวตะกั่ว แต่มักมีการใช้วัสดุอื่น เช่น ก้อนกระดาษ พลาสติก ผ้าสักหลาด หรือผ้าฝ้าย ใส่แทนหัวตัวกั่วเพื่อให้ดินปืนไม่ไหลออจากปลอกกระสุนและช่วยให้ประกายไฟจากปากกระบอกใกล้เคียงการยิงกระสุนจริง

อย่างไรก็ตาม แม้วัสดุเหล่านี้จะอ่อนนุ่มและเบากว่าตะกั่วมาก รวมถึงพุ่งออกจากปากกระบอกปืนได้เพียงระยะสั้นๆ ก่อนจะตกลงพื้น แต่ด้วยแรงดันจากการระเบิดของดินปืนทำให้หากมีสิ่งมีชีวิตอยู่ใกล้ปากกระบอกปืนมากเกินไปก็อาจบาดเจ็บหรือเสียชีวิตได้

ตัวอย่างเช่น การเสียชีวิตของ “จอน-เอริค เฮ็กซัม” เมื่อปีพ.ศ. 2527 โดยขณะรอคิวถ่ายทำรายการทีวีของช่อง CBS เฮ็กซั่มได้หยิบปืนลูกโม่ประกอบฉากมาบรรจุกระสุนแบลงค์และยิงเข้าที่ศีรษะตนเองเลียนแบบการเล่นรัสเซียรูเล็ต ทำให้ถูกวัสดุแทนหัวกระสุนและแรงดันที่พุ่งออกจากปากกระบอกกระแทกจนกระโหลกศีรษะแตก และเสียชีวิตในวันถัดมาขณะรักษาตัวในโรงพยาบาล

นอกจากนี้การดูแลปืนประกอบฉากอย่างไม่เหมาะสมยังเป็นอีกสาเหตุหนึ่งของอันตราย กรณีที่โด่งดังที่สุดจะเป็นการเสียชีวิตของ “แบรนดอน ลี” บุตรชายของ “บรูซ ลี” ซึ่งเสียชีวิตระหว่างการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง The Crow เนื่องจากปืนประกอบฉากมีกระสุนจำลองสำหรับใช้ในฉากโคลสอัพค้างอยู่ในลำกล้อง ทำให้เมื่อยิงกระสุนแบลงค์แรงดันที่เกิดขึ้นได้ดันกระสุนจำลองพุ่งใส่ร่างแบรนดอน ลี จนบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตในเวลาเพียง 1 ชั่วโมง

ทดแทนด้วยเทคโนโลยี

ปัจจุบันการใช้งานกระสุนแบลงค์ในการถ่ายทำภาพยนตร์ลดลง และถูกแทนที่ด้วยคอมพิวเตอร์กราฟฟิกหรือ VFX

“คริสโตเฟอร์ กริท” โปรดิวเซอร์ และนักเขียน ชาวออสเตรียเลีย ผู้มีผลงาน อาทิ The Doctor Blake Mysteries ซึ่งได้รางวัลอินเตอร์เนชั่นแนลเอ็มมี่ ระบุว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีก้าวหน้ามากจนสามารถทำให้ปืนจำลองในมือนักแสดงทำงานได้เหมือนปืนจริงทั้งแสงไฟและควันจากปากกระบอก การขยับตามแรงสะท้อนจากการยิง ทำให้การใช้งานปืนจริงส่วนใหญ่จะจำกัดเฉพาะในฉากที่ปืนมีความสำคัญสูง เช่น การแสดงสีหน้าตึงเครียดของตัวละครขณะถูกปืนจ่อใส่ เป็นต้น

สำหรับกรณีของ อเล็ก บอลด์วิน นั้นต้องรอรายละเอียดจากเจ้าหน้ารักษากฎหมายที่เข้าสืบสวนเหตุการณ์นี้ว่ามีสาเหตุจากอะไร และนักแสดงชื่อดังจะต้องรับผิดชอบความสูญเสียที่เกิดขึ้นหรือไม่

 


ข้อมูลจาก
https://www.thewrap.com/heres-how-a-prop-gun-using-blanks-can-still-fire-a-fatal-shot/
https://www.bbc.com/news/world-us-canada-59006905
https://theconversation.com/we-are-filmmakers-who-work-with-firearms-this-is-what-is-important-in-on-set-safety-170455