เปิดฐานะบริษัทส่งออกถุงมือยาง “แพดดี้ เดอะรูม เทรดดิ้ง” CNN อ้างถึง

ภาพ อย. บุกแหล่งลักลอบนำเข้าและแบ่งบรรจุถุงมือ จากเว็บไซต์ อย.

ส่องงบการเงิน “แพดดี้ เดอะรูม เทรดดิ้ง” เอกชนไทยที่ซีเอ็นเอ็นรายงานว่า ส่งถุงมือยางคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐานไปยังสหรัฐ

วันที่ 25 ตุลาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (24 ต.ค.) สื่อดังของสหรัฐอเมริกาอย่าง ซีเอ็นเอ็น รายงานประเด็นการนำเข้าถุงมือทางการแพทย์ที่ผ่านการใช้งานแล้ว นับล้านชิ้น เข้าไปยังสหรัฐ โดยระบุว่า ต้นทางของถุงมือเหล่านี้มาจากโกดังแห่งหนึ่งในแถบชานเมืองกรุงเทพมหานคร บางชิ้นสกปรกและยังเปื้อนเลือด อย่างเห็นได้ชัด

ซีเอ็นเอ็นแฉถุงมือคุณภาพต่ำจากไทย

รายงานเชิงสืบสวนสอบสวนของซีเอ็นเอ็นชิ้นนี้ ระบุด้วยว่า ยังมีโกดังลักษณะนี้อีกมากในประเทศไทย ซึ่งหารายได้จากถุงมือคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐานหลายล้านชิ้น ด้วยการส่งออกไปยังสหรัฐ และทั่วโลก ท่ามกลางปัญหาการขาดแคลนถุงมือ

ซีเอ็นเอ็นรายงานอีกว่า เมื่อปลายปีที่แล้ว นายทาเร็ค เคียร์เชิน นักธุรกิจในไมอามี ได้สั่งถุงมือเป็นมูลค่า 2 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 66.7 ล้านบาท จากบริษัทในไทยที่ชื่อว่า แพดดี้ เดอะ รูม (Paddy the Room) ก่อนที่นายเคียร์เชินจะขายถุงมือเหล่านี้ให้แก่ผู้จัดจำหน่ายรายหนึ่งในสหรัฐ

หลังจากนั้น นายเคียร์เชิน เริ่มได้รับโทรศัพท์ร้องเรียนจากลูกค้า และเขายังได้เห็นถุงมือที่สกปรกและมีคราบเลือดด้วยตาตัวเอง เมื่อคอนเทนเนอร์ตู้ที่สองมาถึงไมอามี ทำให้เขาต้องคืนเงินลูกค้าและนำถุงมือไปทิ้งในหลุมฝังกลบ พร้อมกับแจ้งไปยังองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (เอฟดีเอ) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ต่อมา เดือนสิงหาคมปีนี้ เอฟดีเอแจ้งเตือนไปยังเจ้าหน้าที่ท่าเรือทั้งหมดว่า ควรกักกันสินค้าจาก แพดดี้ เดอะ รูม โดยไม่ต้องตรวจสอบทางกายภาพ

อย่างไรก็ตาม เอฟดีเอไม่ได้แสดงความเห็นเรื่องการสอบสวนแพดดี้ เดอะ รูม ขณะที่เจ้าหน้าที่กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิของสหรัฐยืนยันว่า มีการสอบสวนบริษัทดังกล่าวแล้ว

การตรวจค้นในกรุงเทพฯ

ซีเอ็นเอ็นรายงานด้วยว่า คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ประเทศไทย ได้บุกตรวจค้นแพดดี้ เดอะ รูม ครั้งแรก เมื่อเดือนธันวาคม 2563 พบถุงขยะกองโตที่เต็มไปด้วยถุงมือ ขณะที่คนงานกำลังยัดถุงมือเก่าเข้าไปในกล่องที่ระบุยี่ห้อหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ตัวแทนโรงงานถุงมือดังกล่าวยืนยันว่าไม่ได้ทำธุรกิจกับแพดดี้ เดอะ รูม

ในครั้งนั้น อย.จับกุมเจ้าของโกดัง ซึ่งเป็นชาวฮ่องกง แต่ไม่สามารถตั้งข้อหาได้ และการบุกตรวจค้นดังกล่าวไม่สามารถหยุดยั้งแพดดี้ เดอะ รูม ได้ และจนถึงขณะนี้แพดดี้ เดอะ รูม ยังไม่ตอบคำถามหรือแสดงความเห็นใด ๆ ตอบกลับซีเอ็นเอ็น

ด้านเภสัชกรหญิงสุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการ อย. เผยว่า ถุงมือใช้แล้ว รวบรวมมาจากจีนหรืออินโดนีเซีย ก่อนส่งมาประเทศไทยเพื่อซัก ตากแห้ง และบรรจุใหม่

รู้จักแพดดี้ เดอะ รูม

“ประชาชาติธุรกิจ” ตรวจสอบข้อมูล บริษัท แพดดี้ เดอะรูม เทรดดิ้ง จำกัด ซึ่งปรากฏชื่อในรายงานของซีเอ็นเอ็น พบว่า บริษัทแห่งนี้จดทะเบียนเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2560 ด้วยทุนจดทะเบียน 2 ล้านบาท โดยจดทะเบียนประเภทธุรกิจเป็นการผลิตเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่ใช้ในงานอุตสาหกรรมวิชาชีพนักเรียนและนักศึกษา ตั้งอยู่เลขที่ 139 อาคารเดอะสตรีท ชั้น 3 ห้อง 301-304 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร 10400

ผู้ถือหุ้นลำดับแรกคือ นาย ลุก เฟย หยาง หยาง สัญชาติจีน ถือหุ้นเป็นสัดส่วน 49% มูลค่าหุ้นทั้งหมด 9.8 แสนบาท ส่วนลำดับ 2-4 เป็นบุคคลสัญชาติไทย ได้แก่ นายเทียรชัย ธีระรัฐพงษ์, นางสาวนิรมล กลิ่นเทียรฟุ้ง และนายเรณู เรือนสุข

บริษัทแห่งนี้ ส่งงบการเงินล่าสุด เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2561 ระบุว่า มีรายได้รวม 19,000 บาท รวมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน 10,000 บาท ขาดทุนจากการดำเนินงาน 10,000 บาท แต่มีกำไรสุทธิ 9,000 บาท

“จุรินทร์” ตอบไม่ได้

ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์เรื่องนี้ว่า สถานการณ์โควิด-19 ทำให้มีความต้องการใช้ถุงมือยาง จึงเกิดกลุ่มมิจฉาชีพลักลอบนำเข้าและส่งออกไปอย่างผิดกฎหมาย ยืนยันว่าหากเป็นเวชภัณฑ์ทางการแพทย์โดยเฉพาะถุงมือยาง เมื่อใช้แล้ว ไม่สามารถนำไปใช้ซ้ำได้ ขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าเป็นอย่างไร

เมื่อผู้สื่อข่าวถามนายจุรินทร์ว่า บริษัทดังกล่าวเป็นบริษัทที่ขายถุงมือยางอยู่แล้ว หรือเป็นกลุ่มมิจฉาชีพ นายจุรินทร์กล่าวว่า ยังไม่สามารถตอบได้ ขอตรวจสอบข้อมูลดูอีกครั้ง ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์กำลังติดตามอยู่ ขอเวลาตรวจสอบ ซึ่งไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงพาณิชย์โดยตรง โดย อย.น่าจะมีส่วนกำกับดูแลเรื่องนี้ด้วย

เมื่อถามว่าจะทำให้เกิดความไม่เข้าใจระหว่างประเทศไทยและสหรัฐหรือไม่ นายจุรินทร์ตอบว่า หากเกิดความไม่เข้าใจ ก็จำเป็นต้องชี้แจง ซึ่งในส่วนของเรา อะไรที่ผิดกฎหมาย เมื่อทราบแล้วไม่สามารถปล่อยไว้ได้ เพราะไม่ใช่ความประสงค์ของรัฐบาล หรือหน่วยงานราชการใดที่จะให้ใครไปทำเรื่องนี้ได้

เมื่อถามว่าต้องให้ทูตประสานเรื่องนี้หรือไม่ นายจุรินทร์กล่าวว่า ยังไม่ขอพูดไปไกลขนาดนั้น เนื่องจากขอรอดูข้อเท็จจริงทั้งหมดก่อน