อินโดนีเซีย อนุมัติใช้โนวาแวกซ์ ประเทศแรกในโลก

อินโดนีเซียอนุมัติใช้โนวาแวกซ์ประเทศแรกในโลก
REUTERS/Dado Ruvic/File Photo/File Photo

โนวาแวกซ์เผย อินโดนีเซียอนุมัติใช้วัคซีนของบริษัทเป็นประเทศแรกในโลก เตรียมขออนุมัติใช้ในญี่ปุ่นต้นปีหน้า และอีกหลายประเทศ

วันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 แชนเนลนิวส์เอเชีย รายงานว่า บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพ “โนวาแวกซ์” เผยเมื่อวันจันทร์ว่า อินโดนีเซียเป็นประเทศแรกในโลก ที่อนุญาตให้ใช้วัคซีนโควิด-19 ของบริษัทในกรณีฉุกเฉิน

สำหรับอินโดนีเซีย วัคซีนจะผลิตโดยสถาบันเซรุ่มในอินเดีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ที่สุดในโลก และจำหน่ายภายใต้ชื่อบริษัท “โคโวแวกซ์” (Covovax) ของอินเดีย

โนวาแวกซ์เผยด้วยว่า การจัดส่งไปอินโดนีเซียครั้งแรก คาดว่าจะเริ่มในเร็ว ๆ นี้

วัคซีนโนวาแวกซ์ที่ต้องฉีด 2 โดส แต่ไม่ต้องเก็บในอุณหภูมิที่เย็นจัดเหมือนวัคซีนชนิดอื่น ๆ ปัจจัยข้อนี้อาจทำให้โนวาแวกซ์ มีบทบาทสำคัญในการจัดหาวัคซีนให้กับประเทศยากจนต่าง ๆ ทั่วโลก

วัคซีนโนวาแวกซ์สร้างขึ้นจากชิ้นส่วนโปรตีนของโคโรน่าไวรัส ซึ่งแตกต่างจากวัคซีนชนิด mRNA เช่น ไฟเซอร์ และโมเดอร์นา ซึ่งจะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างโปรตีนที่คล้ายคลึงกับส่วนหนามของไวรัส

นายดิกกี้ บูดิมัน นักระบาดวิทยาชาวอินโดนีเซีย กล่าวว่า การอนุมัติใช้วัคซีนชนิดนี้เป็นกรณีฉุกเฉินนับเป็นขั้นตอนที่สำคัญมากสำหรับโครงการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในอินโดนีเซีย

เขากล่าวอีกว่า วัคซีนชนิดนี้ง่ายต่อการขนส่ง จัดเก็บ และแจกจ่าย ในสถานที่อย่างอินโดนีเซีย ซึ่งมีเกาะจำนวนมาก

นายบูดิมันกล่าวอีกว่า หากการเปิดตัววัคซีนประสบความสำเร็จ อาจนำไปสู่การอนุมัติและนำไปใช้ในประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ

ความต้องการวัคซีนมากขึ้น ยังคงมีความสำคัญต่อหลายประเทศ ซึ่งรวมอินโดนีเซีย

เมื่อเดือนมิถุนายน โนวาแวกซ์ ซึ่งเป็นบริษัทที่มีสำนักงานในสหรัฐประกาศว่า วัคซีนของบริษัทได้รับการพิจารณาแล้วว่ามีประสิทธิภาพ 90% ในการต้านโควิด-19 ที่แสดงอาการ ซึ่งรวมถึงสายพันธุ์ที่น่ากังวลต่าง ๆ

ในการศึกษากลุ่มตัวอย่างเกือบ 30,000 คน ในสหรัฐ และเม็กซิโก วัคซีนโนวาแวกซ์ยังให้ผลลัพธ์ที่ดีในการต้านสายพันธุ์ต่าง ๆ ที่กำลังระบาดในประเทศเหล่านั้น ณ เวลานั้น

บริษัทยังเผยด้วยว่า ผลข้างเคียงของวัคซีนชนิดนี้ไม่รุนแรง อีกทั้งยังไม่ทำให้เจ็บปวดบริเวณที่ฉีด หรือทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ ปวดเมื่อย และเหนื่อยล้า

เมื่อเดือนตุลาคม ทางบริษัทได้แสดงความกังวลว่า การผลิตวัคซีนจะชะลอตัวลง เนื่องจากขาดแคลนวัตถุดิบและปัญหาอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม บริษัทมีแผนที่จะผลิตวัคซีนให้ได้ 150 ล้านโดสต่อเดือน ภายในสิ้นไตรมาส 4 ผ่านความร่วมมือกับพันธมิตรต่าง ๆ ได้แก่ สถาบันเซรุ่ม, เอสเค ไบโอไซเอนซ์ ในเกาหลีใต้ และทาเกดะในญี่ปุ่น

บริษัทระบุเมื่อวันศุกร์ว่า ได้เตรียมขออนุมัติการใช้วัคซีนในญี่ปุ่น ในช่วงต้นปีหน้า นอกจากนี้ ยังได้ยื่นขออนุมัติการใช้วัคซีนในสหราชอาณาจักร, สหภาพยุโรป, แคนาดา, ออสเตรเลีย, อินเดีย และฟิลิปปินส์แล้ว

ทั้งนี้ อินโดนีเซียได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 เป็นอย่างมาก สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายขึ้นอีกจากสายพันธุ์เดลต้า และวันหยุดนักขัตฤกษ์ตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคม แต่ปัจจุบันผู้ติดเชื้อรายใหม่ได้ลดลงแล้ว เฉลี่ยน้อยกว่า 1,000 รายต่อวัน ตั้งแต่กลางเดือนตุลาคมเป็นต้นมา

ประชาชน 36% ในอินโดนีเซีย ได้รับวัคซีนครบ 2 โดส และประมาณ 58% ได้รับวัคซีน 1 โดส ตามข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขอินโดนีเซีย

ขณะที่กว่า 143,400 ราย เสียชีวิตจากโควิด โดยตัวเลขนี้ยังนับว่าน้อย หากพิจารณาจากการตรวจหาเชื้อและการติดตามที่นับว่าต่ำกว่าความเป็นจริง