เฟด เตือน วิกฤตอสังหาฯจีน เสี่ยงกระทบเศรษฐกิจสหรัฐ

เฟดหวั่นอสังหาจีนกระทบเศรษฐกิจสหรัฐ
REUTERS/Yawen Chen/File Photo

ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เตือนว่าปัญหาอสังหาริมทรัพย์ในจีนอาจส่งผลกระทบต่อระบบการเงินของสหรัฐฯ

วันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 ซีเอ็นบีซี รายงานว่า ตั้งแต่ช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา “ไชน่า เอเวอร์แกรนด์” บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีหนี้สินมหาศาล ได้สร้างความตื่นตระหนกให้กับนักลงทุนทั่วโลก เนื่องจากบริษัทพยายามอย่างหนักเพื่อเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ ขณะที่บริษัทพัฒนาอสังหาฯรายอื่น ๆ ในจีนก็ประสบปัญหาในการชำระหนี้เช่นกัน

เรื่องนี้ส่งผลให้มีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่กว้างขึ้นจากประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ซึ่งเศรษฐกิจประมาณหนึ่งในสี่ของประเทศขับเคลื่อนโดยภาคอสังหาฯ

“ความตึงเครียดในภาคอสังหาฯของจีน อาจทำให้ระบบการเงินของจีนตึงเครียดตามไปด้วย และสถานการณ์นี้อาจลามไปถึงสหรัฐฯ” เฟดเผยในรายงานเสถียรภาพทางการเงินฉบับล่าสุด

รายงานดังกล่าวชี้ด้วยว่า ขนาดของเศรษฐกิจจีนและระบบการเงินของจีน รวมถึงการการค้าโลก มีความเชื่อมโยงกัน

รายงานยังกล่าวถึงภาวะการเงินของสหรัฐฯ ตั้งแต่ราคาหุ้นในตลาดที่สูงเป็นประวัติการณ์ ไปจนถึงความเสี่ยงจากการขยายตัวเพิ่มขึ้นของ Stablecoin (เหรียญดิจิทัลที่มีมูลค่าคงที่) ขณะที่นักวิเคราะห์หลายคนให้ความสำคัญกับความเห็นของเฟดที่มีต่อภาคอสังหาฯของจีน

“สาเหตุที่ทำให้เฟดกังวลคือความเคลื่อนไหวในภาคอสังหาฯของจีนกำลังชะลอตัวลง แต่บริษัทผู้พัฒนาอสังหาฯหลายแห่งมีหนี้สินจำนวนมาก บางแห่งอย่างเช่นเอเวอร์แกรนด์ ส่งผลกระทบไปในหลายภาคส่วนของเศรษฐกิจ” พอล คริสโตเฟอร์ หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์การตลาดระดับโลกจากสถาบันการลงทุน “เวลส์ ฟาร์โก อินเวสต์เมนต์” กล่าวในอีเมล

คริสตโตเฟอร์ กล่าวอีกว่า การเชื่อมโยงที่กว้างขวางหมายความว่า การชะลอตัวในตลาดที่อยู่อาศัยของจีนอาจนำไปสู่การว่างงาน การร่วงลงของหุ้นและภาวะเงินฝืดของจีน ซึ่งอาจส่งผลกระทบผ่านช่องทางการค้าโลก ระหว่างที่จีนลดการซื้อสินค้าจากประเทศอื่น ๆ

อย่างไรก็ตาม เขามองว่าผลกระทบดังกล่าวไม่น่าจะเกิดขึ้น

“รัฐบางจีน กำลังต่อสู้กับหนี้ภาคเอกชนที่อยู่ในระดับสูงมาหลายปีแล้ว และจีนมีทรัพยากรในการแก้ปัญหาในภาคอสังหาฯ” คริสโตเฟอร์กล่าว พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า ทางการจีนยังสามารถใช้เงินได้มากกว่านี้ เพื่อจัดการกับภาวะเงินฝืด อย่างที่เคยทำมาในอดีต

รายงานฉบับล่าสุดของเฟดยังวิเคราะห์ถึงบทบาทของนักลงทุนรายย่อยและโซเชียลมีเดียที่มีต่อความผันผวนของตลาดหุ้นเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา รวมถึงบทบาทของนักลงทุนต่างชาติในการเทขายพันธบัตรเมื่อเดือนมีนาคม 2563

ก่อนหน้านี้ รายงานเสถียรภาพทางการเงินหลายฉบับของเฟด ได้กล่าวถึงจีน โดยระบุว่ามีหนี้ในระดับสูงมาก และภาคอสังหาฯมีราคาสูง ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่อาจลามถึงสหรัฐฯ

“อิลยา เฟย์กิน” นักยุทธศาสตร์อาวุโสของบริษัทนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ “วัลลาชเบธ แคปิตอล” กล่าวว่า รายงานล่าสุดของเฟด น่าจะกล่าวถึงปัญหาในภาคอสังหาฯของจีนเพื่อความสมบูรณ์

“เฟดเองก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า มองไม่เห็นความเสี่ยงในภาคอสังหาฯของสหรัฐฯ และธนาคารสหรัฐฯ ในช่วงก่อนปี 2551” เขาตอบทางอีเมล โดยอ้างถึงวิกฤตการเงินในเวลานั้น “ดังนั้น สิ่งใดก็ตามที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงด้านอสังหาฯ และระบบธนาคาร จะถูกพินิจพิเคราะห์จนเลยเถิด”

อย่างไรก็ตาม เขาไม่ได้คาดหวังว่าความเห็นของเฟดจะมีความสำคัญมากพอสำหรับการลงทุนในตลาดเกิดใหม่ต่าง ๆ

ความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับจีน

อย่างไรก็ตาม ข้อแตกต่างประการหนึ่งในรายงานล่าสุดของเฟดกับรายงานก่อนหน้านี้คือ การค้นพบว่าจีนมีบทบาทสำคัญอย่างมาก ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงต่าง ๆ ต่อเสถียรภาพทางการเงินของสหรัฐฯ ตามการสำรวจของเฟดในหัวข้อ “26 market contacts” ระหว่างเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม

ปัญหาเงินเฟ้อที่ยังเรื้อรัง นโยบายทางการเงินที่เข้มงวด และไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ต่าง ๆ ที่ดื้อวัคซีน ล้วนเป็นสิ่งที่ผู้ตอบแบบสอบถามกังวลมากที่สุด รองลงมาคือความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกฎระเบียบและสินทรัพย์ของจีน

ความกังวลเกี่ยวกับความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯกับจีน ตามมาเป็นอันดับ 3 ตามข้อมูลจากการสำรวจ ส่วนการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนเป็นความกังวลลำดับที่ 13

ผลสำรวจเหล่านี้แตกต่างจากผลสำรวจครั้งก่อนของเฟด ที่เก็บผลสำรวจตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน โดยความกังวลที่เกี่ยวข้องกับจีนมีเพียงอย่างเดียวคือความตึงเครียดกับสหรัฐฯ และความกังวลสูงสุดในขณะนั้นคือสายพันธุ์ของไวรัสโคโรนาที่ดื้อวัคซีน

รายงานล่าสุดของเฟดยังระบุด้วยว่า การสำรวจครอบคลุมผู้ทำงานในตลาดหุ้น, แหล่งเงินทุน, บริษัทที่ปรึกษาทางการเมือง และมหาวิทยาลัย

“อาร์เธอร์ โครเอเบอร์” ผู้ช่วยก่อตั้งบริษัทวิจัย “กาเวคัล ดรากอนโนมิกส์” ที่เน้นการทำวิจัยเกี่ยวกับจีน มองว่า ความเห็นที่มีต่อจีนของเฟดค่อนข้างคลุมเครือและเป็นเรื่องธรรมดา อีกทั้งยังมุ่งเน้นไปที่ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับสหรัฐฯ โดยอิงจากขนาดที่ใหญ่ของจีนเป็นหลัก

“ผมคิดว่าความเสี่ยงต่อสหรัฐฯนั้นมีน้อยมาก เนื่องจากระบบการเงินแบบปิดของจีน ซึ่งหมายความว่าผลกระทบไม่น่าจะเป็นปัญหาใหญ่” เขากล่าวพร้อมตั้งข้อสังเกตว่า เขาจะกังวลมากขึ้นหากเป็นเรื่องเกี่ยวกับแรงกดดันด้านเงินเฟ้อจากปัญหาห่วงโซ่อุปทาน และต้นทุนส่งออกที่เพิ่มขึ้นจากจีน”