เอเวอร์แกรนด์ : เปิดสาเหตุผิดนัดชำระหนี้ครั้งที่ 3 ดับฝันเจ้าหนี้-นักลงทุน

สาเหตุที่เอเวอร์แกรนด์ผิดนัดชำระหนี้ครั้งที่ 3
REUTERS/Tyrone Siu/File Photo

สถานการณ์ทางการเงินของเอเวอร์แกรนด์ส่อเลวร้ายลงอีก เมื่อมีการผิดนัดชำระหนี้ครั้งที่ 3 แหล่งข่าวให้ข้อมูลตรงกันว่า สาเหตุเกิดจากผู้ซื้อรายหนึ่งถอนตัวจากการซื้อสินทรัพย์ในฮ่องกง

วันที่ 15 ตุลาคม 2564 รอยเตอร์ส รายงานว่า ความล้มเหลวในการเจรจาขายอาคารสำนักงานใหญ่ในฮ่องกง เป็นอีกหนึ่งความพ่ายแพ้ของไชน่า เอเวอร์แกรนด์ ที่พยายามขายสินทรัพย์บางส่วนเพื่อนำเงินไปชำระหนี้ที่มีมูลค่าสูงกว่า 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 9 ล้านล้านบาท) และความล้มเหลวครั้งนี้ทำให้ยักษ์อสังหาฯของจีน ต้องผิดนัดชำระหนี้เป็นครั้งที่ 3

เย่วซิว บริษัทที่ตั้งอยู่ในเมืองกวางโจว ทางตอนใต้ของจีน เกือบจะบรรลุข้อตกลงการซื้ออาคารไชน่า เอเวอร์แกรนด์ เซ็นเตอร์ ความสูง 26 ชั้น ในเขตหว่านไจ๋ของฮ่องกง เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ทั้งนี้ อาคารดังกล่าวเป็นสำนักงานใหญ่ของเอเวอร์แกรนด์ในฮ่องกง

ข้อตกลงดังกล่าวมีอันต้องสะดุด หลังบอร์ดของเย่วซิวออกมาคัดค้าน โดยยกเหตุผลเรื่องปัญหาหนี้ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขของเอเวอร์แกรนด์ ซึ่งอาจสร้างความยุ่งยากหลายประการ จนเป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกรรมต่าง ๆ

ในช่วงไม่กี่เดือนมานี้ เอเวอร์แกรนด์ ผู้พัฒนาอสังหาฯที่มียอดขายสูงสุดในจีนพยายามรวบรวมเงินด้วยการโละขายสินทรัพย์ต่าง ๆ ตั้งแต่อสังหาริมทรัพย์ไปจนถึงหุ้นในบริษัท ทั้งในจีนแผ่นดินใหญ่และฮ่องกง

อย่างไรก็ตาม ทั้งเอเวอร์แกรนด์ และเย่วซิว ยังไม่แสดงความคิดเห็นใด ๆ ต่อประเด็นนี้ ขณะที่แหล่งข่าวปฏิเสธที่จะเปิดเผยตัวตน

เอเวอร์แกรนด์ได้ซื้ออาคารริมท่าเรือแห่งนี้ ซึ่งตั้งอยู่ในย่านการค้าของฮ่องกง ครอบคลุมพื้นที่ 3.45 ตารางฟุต จากบริษัทในเครือไชนิส เอสเตท โฮลดิ้ง ในราคา 1,610 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 53,661 ล้านบาท) เมื่อปี 2558

การซื้ออาคารดังกล่าวของเอเวอร์แกรนด์ ถือเป็นการสร้างสถิติการซื้ออาคารพาณิชย์ในฮ่องกงด้วยราคาต่อตารางฟุตที่สูงที่สุดในเวลานั้น อีกทั้งยังทำให้เอเวอร์แกรนด์กลายเป็นผู้ครองอสังหาริมทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของฮ่องกง

แหล่งข่าวรายหนึ่งเผยว่า เอเวอร์แกรนด์ได้ลงเงินทำธุรกรรมกับผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน มูลค่ากว่า 10,000 ล้านเหรียญฮ่องกง (ประมาณ 42,000 ล้านบาท) นั่นหมายความว่าเอเวอร์แกรนด์จะมีเงินสดใช้หนี้จำนวนจำกัด โดยเป็นเงินจากการขายอาคารแห่งนี้เท่านั้น

อนาคตของเอเวอร์แกรนด์

แหล่งข่าวเผยอีกว่า บอร์ดของเย่วซิว ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเขตเศรษฐกิจพิเศษอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (Greater Bay Area: GBA) ของจีน และมีสำนักงานอยู่ในฮ่องกง เริ่มกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของข้อตกลงนี้ ในช่วงเวลาที่อนาคตของเอเวอร์แกรนด์ยังคลุมเครือ

แหล่งข่าวรายเดียวกันนี้ให้ข้อมูลด้วยว่า ในช่วงสิ้นเดือนสิงหาคม เย่วซิว ยังได้รับคำแนะนำจากทางการในเมืองกวางโจว ให้ระงับการซื้ออาคารสำนักงานดังกล่าว

ขณะที่แหล่งข่าววงในอีกราย เผยว่า ข้อตกลงนี้ถูกระงับในช่วงปลายเดือนสิงหาคม เนื่องจากรัฐบาลเมืองกวางโจวต้องการตรวจสอบสถานการณ์ทางการเงินของเอเวอร์แกรนด์ก่อน เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้เงินที่ได้จากการขายสินทรัพย์

อย่างไรก็ตาม ทางรัฐบาลกวางโจวไม่ได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวในเรื่องนี้

แหล่งข่าวทั้งสองรายให้ข้อมูลตรงกันว่า ปัจจุบันเอเวอร์แกรนด์อยู่ระหว่างการเจรจาขั้นสุดท้ายเพื่อขายหุ้น 51% ของบริษัทจัดการทรัพย์สิน เอเวอร์แกรนด์ พร็อพเพอร์ตี้ เซอร์วิส ให้กับ ฮอปสัน ดีเวลลอปเมนท์ ในข้อตกลงที่จะทำให้ได้เงินประมาณ 20,000 ล้านเหรียญฮ่องกง (ประมาณ 85,868 ล้านบาท)

หนึ่งในแหล่งข่าวกล่าวว่า ทั้งสองฝ่ายกำลังสรุปรายละเอียด รวมถึงการจัดหาเงินทุนสำหรับผู้ซื้อ

เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงรายละเอียดของข้อตกลง ทางฮอปสันเผยว่า ต้องรอการประกาศอย่างเป็นทางการก่อน จึงจะสามารถแสดงความเห็นได้

หากเอเวอร์แกรนด์ขายหุ้นให้ฮอปสันสำเร็จ ข้อตกลงนี้จะกลายเป็นข้อตกลงการขายสินทรัพย์ครั้งใหญ่สุดของเอเวอร์แกรนด์

แต่ยักษ์อสังหาฯรายนี้ก็ยังเหลือธุรกิจอีกหลายอย่าง ซึ่งรวมถึงบริษัทน้ำบรรจุขวด และบริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้า

นอกจากนี้ เอเวอร์แกรนด์ยังอยู่ระหว่างดำเนินการขายสนามฟุตบอลกวางโจวเอฟซี และโครงการที่อยู่อาศัยหลายแห่งให้กับ บริษัท กวางโจว ซิตี้ คอนสตรัคชั่น อินเวสต์เมนต์ กรุ๊ป ตามรายงานของรอยเตอร์สเมื่อเดือนที่แล้ว