จีนมีมติประวัติศาสตร์ ปูทาง “สี จิ้นผิง” กุมอำนาจต่อ

จีนผ่านมติยกสถานะสีเท่าสองผู้นำในอดีต
REUTERS/Carlos Garcia Rawlins

พรรคคอมมิวนิสต์จีนผ่านมติครั้งประวัติศาสตร์ ตอกย้ำสถานะ “สี จิ้นผิง” ในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองประเทศ ปูทางสู่การกุมอำนาจต่อ 

วันที่ 12 พฤศจิกายน 2564 บีบีซี รายงานว่า ในเอกสารซึ่งเป็นบทสรุปของประวัติศาสตร์ 100 ปีพรรคคอมมิวนิสต์จีน กล่าวถึงความสำเร็จที่สำคัญและทิศทางในอนาคตของพรรค

การอนุมัติมติดังกล่าวเกิดขึ้นในการประชุมเต็มคณะครั้งที่ 6 ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 11 พฤศจิกายนตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งถือเป็นหนึ่งในการประชุมทางการเมืองที่มีความสำคัญที่สุดของจีน

การผ่านมติครั้งประวัติศาสตร์ลักษณะนี้ เคยเกิดขึ้นเพียง 3 ครั้ง นับตั้งแต่พรรคคอมมิวนิสต์จีนก่อตั้งขึ้น ครั้งแรกเกิดขึ้นในยุคประธาน “เหมา เจ๋อตุง” เมื่อปี 2488 ส่วนอีกครั้งที่เกิดขึ้นในยุคของ “เติ้ง เสี่ยวผิง” เมื่อปี 2524

ในฐานะผู้นำจีนคนที่ 3 ที่ผ่านมติดังกล่าว ความเคลื่อนไหวครั้งนี้มีขึ้นเพื่อยกสถานะของประธานาธิบดีสีให้เทียบเท่ากับอดีตผู้นำที่ยิ่งใหญ่ทั้งสองคนที่กล่าวไว้ข้างต้น

บรรดาผู้สันทัดกรณีมองว่าการลงมติครั้งนี้เป็นความพยายามของประธานาธิบดีสี ที่ต้องการลบล้างการกระจายอำนาจ ที่เริ่มต้นในยุคของเติ้ง และดำเนินเรื่อยมาผ่านผู้นำคนอื่น ๆ เช่น ประธานาธิบดีเจียง เจ๋อหมิน ซึ่งถือเป็นสัญญาณว่าจีนอาจถอยกลับไปสู่การปกครองแบบ “ลัทธิบูชาบุคคล” (cult of personality)

การประชุมปิดของพรรคคอมมิวนิสต์เป็นเวลา 4 วัน มีสมาชิกพรรคเข้าร่วมกว่า 370 คน ซึ่งรวมถึงผู้นำสูงสุดของประเทศผู้นี้ด้วย

การประชุมครั้งนี้ถือเป็นการประชุมใหญ่ครั้งสุดท้ายของผู้นำพรรค ก่อนหน้าการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ในปีหน้า ซึ่งคาดว่าประธานาธิบดีสีจะพยายามรักษาเก้าอี้ประธานาธิบดีต่อไปเป็นสมัยที่ 3

เมื่อปี 2561 จีนได้ยกเลิกข้อจำกัดที่ว่าประธานาธิบดีแต่ละคนสามารถอยู่ในตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 สมัย ซึ่งทำให้ประธานาธิบดีสีอยู่ในอำนาจได้ตลอดชีวิต

ทำไมมติครั้งนี้จึงมีความสำคัญ ?

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนให้สัมภาษณ์บีบีซีว่า มติดังกล่าวจะช่วยให้ประธานาธิบดีสีมสามารถกุมอำนาจได้อย่างเหนียวแน่นยิ่งขึ้น

“อดัม นี” บรรณาธิการ China Neican ซึ่งให้บริการบทวิเคราะห์เกี่ยวกับสถานการณ์ในจีน มองว่า สี จิ้นผิง พยายามทำให้ตัวเองกลายเป็นวีรบุรุษบนมหากาพย์การเดินทางของประเทศ

“การผลักดันผ่านมติครั้งประวัติศาสตร์ ซึ่งมีสีเป็นจุดศูนย์กลางของเรื่องราวในยุคปัจจุบันของพรรคคอมมิวนิสต์และจีน หมายความว่าสีกำลังแสดงอำนาจของตัวเอง แต่ขณะเดียวกันเอกสารฉบับนี้ยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เขากุมอำนาจได้ต่อไป” นีกล่าว

ด้าน ดร.ชง จา เอียน จากมหาวิทยาลัยเเห่งชาติสิงคโปร์ มองว่า ความเคลื่อนไหวนี้ทำให้สีแตกต่างไปจากผู้นำในอดีตของจีนคนอื่น ๆ

“อดีตประธานาธิบดี หู จิ่นเทา และเจียง เจ๋อหมิน ไม่เคยรวบอำนาจไว้อย่างแข็งแกร่งเท่ากับสี อย่างไรก็ตาม ไม่มีความชัดเจนว่าผู้นำทั้งสองได้พยายามทำแบบเดียวกับสีหรือไม่ หากมีโอกาสแบบเดียวกัน” เขากล่าวและว่า

“แน่นอนว่าสีให้ความสำคัญอย่างมากในฐานะบุคคลที่เป็นผู้นำคนปัจจุบัน ในระดับที่มันกลายเป็นสถาบันที่เป็นทางการมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายคนจับตาในขณะนี้”

นีกล่าวอีกว่า สิ่งที่ต่างไปจากอดีตผู้นำทั้งสองคือ มติของประธานาธิบดีสีเกิดขึ้นในยุคที่จีนก้าวขึ้นเป็นประเทศมหาอำนาจของโลก ซึ่งเป็นเรื่องเหนือจินตนาการสำหรับเมื่อ 2 ทศวรรษก่อน

ขณะที่ ดร.ชง กล่าวว่า จีนเติบโตอย่างก้าวกระโดด ทั้งเศรษฐกิจ การทหาร และการได้รับการยอมรับสถานะในฐานะประเทศมหาอำนาจของโลก โดยที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนและบรรดาผู้นำ ต่างอยู่ในอำนาจโดยไร้ซึ่งฝ่ายค้านในประเทศ

“อาจกล่าวได้ว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่มีประธานาธิบดีสีเป็นผู้นำ ได้ก้าวมาถึงจุดสูงสุดของความสำเร็จสำหรับตัวพรรคและสำหรับประเทศจีน”

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญรายนี้มองว่า มี “เซอร์ไพรส์” เกิดขึ้นเสมอสำหรับการเมือง แม้ประธานาธิบดีสีจะกุมอำนาจไว้ได้ แต่อะไรก็เกิดขึ้นได้

“การเมืองของชนชั้นนำในจีนคือความคลุมเครือ และมีเรื่องราวอีกมากที่เราไม่รู้” นีกล่าวปิดท้าย