“โอไมครอน” เติมเชื้อไฟ 3 ปัจจัยเสี่ยงทุบเศรษฐกิจทั่วโลก

ตรวจโควิด
ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

ถึงเวลานี้ ข้อมูลในเชิงวิทยาศาสตร์ที่จะชี้ชัดว่า “โอไมครอน” เชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ตัวล่าสุดเป็นอันตรายต่อมนุษย์มากน้อยแค่ไหน ยังไม่ปรากฏออกมาจากห้องปฏิบัติการทดลองและการศึกษาวิจัย

กระนั้น ข้อมูลเบื้องต้นที่ปรากฏก็ทำให้แม้แต่นักวิทยาศาสตร์ที่มองโลกในแง่ดีที่สุดยังตระหนก องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกมาเตือนอย่างตรงไปตรงมาว่า โอไมครอน มีแนวโน้มที่จะสร้าง “ความเสี่ยงสูงมาก” ต่อทั่วโลก

ซีอีโอของ “โมเดอร์นา” ผู้ผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดตัวหนึ่งในเวลานี้ เตือนเช่นกันว่า “วัคซีนที่เราใช้กันอยู่อาจไม่ได้ผลกับโอไมครอนมากมายนัก”

แม้ภาพทุกอย่างยังไม่กระจ่าง แต่การคุกคามของโอไมครอนต่อสภาวะเศรษฐกิจของโลกก็เริ่มแสดงให้เห็นประจักษ์ ด้วยการทำให้ความเสี่ยง 3 อย่างที่ดำรงอยู่ก่อนหน้ามีแนวโน้มเลวร้ายมากขึ้น

แรกสุดที่เห็นชัดเจนก็คือ การกำหนดมาตรการเข้มงวดเพื่อป้องกันไม่ให้โอไมครอนเข้ามาระบาดในประเทศของตนเอง

กว่า 50 ประเทศออกมาตรการห้ามการเดินทางจากหลายชาติในทวีปแอฟริกาตอนใต้แหล่งแพร่ระบาด และมีอีกไม่น้อยพากันกำหนดใช้มาตรการกักตัวนักเดินทางเป็นเวลานานอีกครั้ง แบบเดียวกับที่อังกฤษใช้หลังจากการผ่อนคลายได้ไม่นาน

ไม่นับการจำกัดการเคลื่อนไหวของผู้คนในแต่ละประเทศ ซึ่งเริ่มมีให้เห็นตั้งแต่ก่อนการอุบัติของโอไมครอน เช่น ในหลายชาติในยุโรปที่ต้องล็อกดาวน์หรือควบคุมเข้มผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดหรือไม่ยอมฉีดวัคซีน เมื่อเดลต้าทำให้ยอดการระบาดและการเข้าโรงพยาบาลพุ่งสูงขึ้นอีกครั้ง

เหล่านี้ล้วนเป็นอุปสรรคทั้งโดยตรงและโดยอ้อม จำกัดการเดินทาง ท่องเที่ยว ที่เริ่มจะไหลเวียนอีกครั้งต้องชะงักลง เป็นปัจจัยลบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะกับอุตสาหกรรมบริการอย่างชัดเจน สายการบินเริ่มได้รับผลกระทบ ราคาน้ำมันโลกลดลงร่วม 10 ดอลลาร์

ประตูของการเดินทางปิดลงเร็วกว่าเมื่อครั้งที่ค่อย ๆ แง้มเปิด

ในเวลาเดียวกับที่โอไมครอนมาถึง โลกกำลังเผชิญกับปัญหาหนักหน่วงของ “ภาวะเงินเฟ้อ” มาตรการด้านการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจก้อนมหึมาในสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้ดัชนีราคาผู้บริโภคถีบตัวสูงขึ้นถึงระดับ 6.2% เมื่อ ต.ค.ที่ผ่านมา สูงสุดในรอบ 30 ปี

ในที่อื่น ๆ ทั่วโลกก็ตกอยู่ในสภาพใกล้เคียงกัน ข้อมูลบลูมเบิร์กระบุว่า อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั่วโลกในเวลานี้สูงถึง 5.3%

บางคนคิดว่า “โอไมครอน” จะกดให้อัตราเงินเฟ้อลดลง ด้วยการจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งอาจเป็นไปได้ภายใต้สถานการณ์ปกติทั่วไป แต่ภายใต้สภาวะปัจจุบันมีโอกาสไม่น้อยที่โอไมครอนจะทำให้เงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นไปอีก โดยเฉพาะหากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์พิสูจน์ว่าเชื้อกลายพันธุ์นี้อันตรายมหาศาลจริง

การถูกจำกัดให้อยู่แต่ในบ้าน ทำให้คนเราซื้อหาข้าวของมากกว่าปกติ ในขณะที่ต้นทุนการขนส่งสินค้าจากเอเชียไปสู่อเมริกายังคงสูงผิดปกติอยู่ การล็อกดาวน์อาจทำให้ซัพพลายเชนทั้งระบบมีปัญหามากยิ่งขึ้น เมื่อโรงงานถูกปิดหรือถูกจำกัดการผลิต แรงงานอาจตัดสินใจชะลอการกลับเข้าทำงานอีก ทำให้การขาดแคลนรุนแรงขึ้น ผลักให้ค่าจ้างพุ่งสูงขึ้นตามไปด้วย

ในขณะที่สหรัฐกำลังตัดสินใจ “ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย” หลายประเทศปรับขึ้นไปแล้ว อาทิ บราซิล และเม็กซิโก ซึ่งอาจทำให้การขยายตัวเศรษฐกิจลดต่ำลง ตุรกี ทำในทางตรงกันข้าม ลดดอกเบี้ยจนสุ่มเสี่ยงจะทำให้สกุลเงินล่ม

สุดท้าย หากโอไมครอนรุนแรงร้ายกาจจริง ก็จะยิ่งซ้ำเติมให้สถานการณ์เศรษฐกิจในจีนชะลอหนักมากขึ้น อันเนื่องจากนโยบาย “ซีโร-โควิด” ที่เข้มงวด เจอปุ๊บปิดปั๊บ ล็อกดาวน์ทั้งเมืองหรือทั้งมณฑล แม้ว่าเศรษฐกิจจีนจะเผชิญอยู่กับปัญหามากมาย ทั้งในเรื่องนโยบายของรัฐต่อวิสาหกิจเอกชน ปัญหาวิกฤตหนี้ครั้งสำคัญในอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น

ที่ผ่านมาแม้ทางการจีนจะออกมาตรการกระตุ้นอยู่เป็นระยะ การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนก็ชะลอลงมาอยู่ที่ราว ๆ 5% ถือว่าเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 30 ปีแล้ว

การชะลอตัวของจีนไม่เป็นผลดีต่อประเทศเพื่อนบ้านในเอเชีย และประเทศคู่ค้าทั่วโลกแน่นอน


หากโอไมครอนร้ายกาจจริง ทั้งโลกก็คงหนีไม่พ้นต้องย้อนกลับไปเหมือนเมื่อต้นปี 2020 อีกครั้ง และไม่เพียงทำให้ทุกผู้คนต้องปรับตัวใหม่อีกครั้งเท่านั้น บริษัทธุรกิจและรัฐบาลก็ต้องปรับตัวเองเพื่อรับมือด้วยเช่นกัน