เปิดเหตุผล ‘จีน’ มั่นใจ ‘ปาฏิหาริย์’ เศรษฐกิจจะมีต่อไป

ชีพจรเศรษฐกิจ
นงนุช สิงหเดชะ

ความไม่แน่นอนหลายอย่างที่จีนเผชิญอยู่ ทั้งจากการแพร่กระจายของไวรัสโควิด-19 และความตึงเครียดทั้งด้านการค้าและภูมิรัฐศาสตร์กับสหรัฐอเมริกา ตลอดจนปัญหาบริษัทอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่ผิดนัดชำระหนี้ ทำให้บรรดานักวิเคราะห์ต่างชาติ “ลด” ความเจิดจรัสของเศรษฐกิจจีนลง

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนจีนจะยังมีความมั่นใจอยู่มากว่า “ปาฏิหาริย์” เศรษฐกิจแดนมังกร ที่เคยทำให้โลกแหงนมองอย่างอิจฉาจะยังดำเนินต่อไป เห็นได้จากบทบรรณาธิการของโกลบอลไทมส์ สื่อที่เป็นกระบอกเสียงของรัฐบาลที่ระบุว่า “ปาฏิหาริย์เศรษฐกิจจีนจะยังดำเนินต่อไป และจะทำให้พวกตะวันตกที่ชอบบอกว่าเป็นไปไม่ได้ ผิดหวัง” เพราะว่าจีนกำลังเพิ่มมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้มั่นใจว่าเศรษฐกิจจะสามารถวิ่งฝ่าคลื่นลมแรงในต้นปี 2022 ได้ โดยที่การลงทุนภายในและการค้าต่างประเทศจะเป็นกุญแจสำคัญในการหนุนส่งให้เศรษฐกิจสามารถเติบโตต่อเนื่อง

สื่อจีนอ้างว่า สภาพเศรษฐกิจจีนดีกว่าสหรัฐอย่างมาก เพราะสหรัฐนั้นตกอยู่ในวังน้ำวนลึกของเงินเฟ้อ และความโกลาหลของการระบาดของโควิด-19 ที่กลับมาอีกระลอก ในขณะที่จีนนั้นการบริโภคภายในแข็งแกร่ง ความต้องการซื้อสินค้าจีนจากต่างประเทศมีสูง อีกทั้ง “เงินหยวน” ยังคงแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินต่างประเทศหลัก ๆ หลายสกุล ส่วนอัตราเงินเฟ้อในปี 2021 ยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 2% จึงทำให้ธนาคารกลางจีนสามารถรักษาอัตราดอกเบี้ยปี 2022 ให้อยู่ในระดับต่ำ ช่วยให้บริษัทต่าง ๆ สามารถกู้ยืมในต้นทุนต่ำเพื่อขยายธุรกิจ

จีนอ้างว่า มณฑลสำคัญทางเศรษฐกิจอย่าง “กวางตุ้ง และเจียงสู” ยังคงเคลื่อนไหว มีการเพิ่มงบประมาณใช้จ่ายในโครงการสำคัญ โดยกวางตุ้งซึ่งมีขนาดจีดีพีเทียบเคียงกับเกาหลีใต้ มีแผนจะเพิ่มงบประมาณใช้จ่ายอีก 9 แสนล้านหยวนในปี 2022 เพื่อลงทุนหลายโครงการ ทั้งระบบรถไฟใต้ดินในเมือง ระบบขนส่งเร็วทางรางระหว่างเมือง โครงการพลังงานใหม่ เขตอุตสาหกรรม 20 แห่ง ส่วน “เซี่ยงไฮ้” หนึ่งในเครื่องยนต์เศรษฐกิจจีน ได้พัฒนารายละเอียดแผนเพื่อผนึกมณฑลที่อยู่รอบ ๆ สามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซีให้ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น โดยมุ่งเน้นไปที่นวัตกรรมไฮเทคใหม่ ๆ

การพัฒนาของจีนในรอบ 40 ปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าเมื่อใดก็ตามที่จีนเผชิญความถดถอยทางเศรษฐกิจ อย่างเช่น วิกฤตการเงินเอเชียปี 1997 และวิกฤตการเงินสหรัฐเมื่อปี 2008 ที่ก่อความปั่นป่วนไปทั่วโลก ผู้วางนโยบายของจีนจะพึ่งพาการขยายการลงทุนภายในประเทศเสมอเพื่อจุดประกายการเติบโตใหม่

อีกทั้งคุณลักษณะเฉพาะทางการเงิน 2 ประการของจีน คือ ระดับเงินออมของครัวเรือนที่ไม่ธรรมดา และการที่รัฐบาลสามารถควบคุมเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับต่ำ ช่วยมอบโอกาสอันมีค่าให้กับประเทศ ถ้าหากเงินเฟ้อของจีนสูง 6.8% แบบที่สหรัฐเป็นอยู่ในขณะนี้ ธนาคารกลางจีนคงถูกบังคับให้ปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างมาก ซึ่งจะทำให้การลงทุนถูกจำกัด

ในปี 2022 จีนจะพบกับสภาพแวดล้อมระดับมหภาคที่มีพลวัตและมั่งคั่ง ไม่เหมือนกับสหรัฐ ที่เฟดจะถูกมัดมือและจำต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อที่เตลิดไปไกล ในขณะที่ธนาคารกลางจีนได้ปรับลดดอกเบี้ยไป เมื่อวันที่ 20 ธันวาคมที่ผ่านมา หลังจากอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบอีก 1 ล้านล้านหยวน

จะเห็นได้ชัดว่านโยบายการเงินที่สวนทางกันของสหรัฐและจีน ที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 1 และ 2 ของโลกตามลำดับ ช่วยให้จีนอยู่ในฐานะที่จะมีความเติบโตทางเศรษฐกิจดีกว่า

นอกจากนั้น การที่ RCEP หรือความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ซึ่งเป็นเขตการค้าเสรีใหญ่สุดในโลก ที่จะมีผลบังคับใช้ต้นปี 2022 จะทำให้การค้าต่างประเทศของจีนกับญี่ปุ่น และอาเซียน ขึ้นไปแตะจุดสูงสุดใหม่

ในแง่ประชากรศาสตร์ จีนได้เปรียบสหรัฐมาก ในด้านของทุนมนุษย์ไปจนถึงปี 2035 ส่วนความรุดหน้าโครงข่ายสื่อสาร 5G และเทคโนโลยีเอไอ ซึ่งแสดงให้เห็นในช่วงไม่กี่ปีผ่านมา จะยังดำเนินต่อไปไม่หยุดหย่อนเพื่อสร้างความเหนือกว่าด้านเทคโนโลยี

การที่รัฐบาลสหรัฐเล่นงานบริษัทเทคโนโลยีจีน รังแต่จะทำให้ผู้นำจีนแก้ปัญหาด้วยการพึ่งพาตัวเองมากขึ้น การใช้นโยบายมุ่งร้ายต่อจีนมีแต่จะกระตุ้นให้จีนป้องกันความเสี่ยงตัวเอง ทบทวนกลยุทธ์ความมั่นคงของชาติ และมุ่งไปที่การสะสมทรัพยากรทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี