5 เทรนด์อวกาศ ปี 2022 มนุษย์กลับเหยียบดวงจันทร์

ตลอดปี 2021 แม้โลกเผชิญสถานการณ์โควิด-19 แต่การระบาดไม่อาจหยุดยั้งความทะเยอทะยานของมนุษย์ในการเดินทางไปนอกโลกสำรวจพรมแดนอันไร้สิ้นสุด เกือบทศวรรษที่ผ่านมาได้เห็นกระแสการฟื้นตัวของความสนใจในการเดินทางท่องอวกาศอีกครั้ง ช่วงปีที่ผ่านมาเราได้เห็นข่าวมหาเศรษฐีคนดัง 3 รายที่เดินทางไปสัมผัสสภาวะไร้น้ำหนักในวงโคจรต่ำนอกโลกได้สำเร็จ คือ เจฟฟ์ เบโซส, ริชาร์ด แบรนสัน และ ยูซากุ มาเอะซาวะ ชาวญี่ปุ่น

ส่วน “อีลอน มัสก์” เจ้าของและผู้ก่อตั้งสเปซเอ็กซ์ ตั้งเป้าความฝันไกลนั้นด้วยแผนการปักธงสร้างอาณานิคมบนดาวอังคาร

เทคโนโลยีอวกาศมีบทบาทสำคัญต่อการเกิดขึ้นของสิ่งต่าง ๆ ที่แพร่หลายในปัจจุบัน เทคโนโลยีจากโครงการกระสวยอวกาศของนาซา ได้ถูกต่อยอดพัฒนามาใช้ในชีวิตประจำวันมากขึ้น ตั้งแต่ กระจกนิรภัย ไฟแอลอีดี เช่นเดียวกับ การแพทย์ทางไกลที่ช่วยชีวิตผู้คนช่วงระบาด ล้วนต่อยอดจากเทคโนโลยีอวกาศทั้งสิ้น

นิตยสารฟอร์บสประเมินว่า ปี 2022 จะมี 5 เทรนด์เทคโนโลยีอวกาศที่ช่วยให้การเดินทางไปนอกโลกก้าวหน้าขึ้นมาก รวมถึงเปลี่ยนแปลงชีวิตมนุษย์บนโลกให้สะดวกยิ่งขึ้น

จรวดรียูส

บรรดาผู้พัฒนาจรวดต่างมุ่งพัฒนาระบบยิงแบบใช้ซ้ำได้ เพื่อลดค่าใช้จ่ายการเดินทางออกจากชั้นบรรยากาศโลก ต้นทุนการปล่อยจรวดที่ถูกลงหมายถึงการเปิดประตูสู่ความคิดริเริ่มด้านอวกาศอันตื่นเต้นมากมาย นอกจากนี้ยังทำให้ภารกิจประจำด้านอวกาศ

อาทิ การปล่อยดาวเทียมหรือการจัดส่งอุปกรณ์ให้สถานีอวกาศประหยัดและมีประสิทธิภาพมากขึ้น จรวดสตาร์ชิปของสเปซเอ็กซ์ หนึ่งในต้นแบบของความพยายามพัฒนาจรวดอวกาศที่นำกลับมาใช้ใหม่ที่ประหยัด และทรงพลังเพียงพอสำหรับภารกิจดาวอังคาร เช่นเดียวกับจรวด New Glenn ของบลูออริจิน ซึ่งพัฒนาและออกแบบให้ใช้งานได้ถึง 25 ครั้ง โดยสามารถบรรทุกคนและสินค้ามากกว่าจรวดคู่แข่ง

กลับเหยียบดวงจันทร์

นับจากความสำเร็จก้าวเล็ก ๆ ของ นีล อาร์มสตรอง ผ่านมาเกือบกว่าสี่ทศวรรษ มนุษย์ไม่ได้กลับไปปักธงบนดวงจันทร์อีกเลย ด้วยเหตุผลเชิงกลยุทธ์หลายประการ ทว่าแนวคิดนี้ถูกพูดถึงช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จากเดิมที่เป็นการส่งหุ่นยนต์สำรวจ

เหตุที่มนุษย์ต้องการกลับไปดวงจันทร์อีกครั้ง เนื่องจากหากมนุษย์ตั้งเป้าปักธงอาณานิคมบนดาวอังคาร การเริ่มต้นตั้งสถานีวิจัยบนดวงจันทร์อยู่ใกล้โลก ทำให้มนุษย์ทดสอบเทคโนโลยีต่าง ๆ ได้ดีก่อนไปดาวอังคาร

ความท้าทายด่านแรกคือ น้ำหนักบรรทุกของอุปกรณ์บนยาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเครื่องมือที่ออกแบบมาเพื่อค้นหา แยก และประมวลผลองค์ประกอบจากผิวดวงจันทร์ ซึ่งไม่เพียงแค่นาซาเท่านั้น รัสเซีย ญี่ปุ่น อินเดีย ต่างวางแผนส่งหุ่นยนต์ไปยังพื้นผิวดวงจันทร์ในช่วงปี 2022 เช่นกัน

ดาวเทียมขนาดเล็ก

ในปี 2022 ต้นทุนการส่งดาวเทียมสู่วงโคจรจะถูกลง พร้อมประสิทธิภาพสูงขึ้น อนาคตดาวเทียมจะมีขนาดเล็กและเบาลง ทั้งสามารถปล่อยได้ทีละหลายดวงต่อการยิงจรวดหนึ่งครั้ง นั่นหมายความว่าแม้เป็นบริษัทสตาร์ตอัพก็สามารถใช้ประโยชน์ได้เช่นกัน

บริษัท Galaxy Space ผู้ให้บริการดาวเทียมสัญชาติจีนได้พัฒนาและปล่อยดาวเทียมขนาดเล็ก 1,000 ดวงขึ้นสู่อวกาศ สำหรับลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรมการบิน เดินเรือ และการผลิตยานยนต์ อีกหนึ่งความก้าวหน้าคือ การพัฒนาดาวเทียมจากแท่นพิมพ์ 3 มิติครั้งแรกของ Fleet Space Technologies บริษัทสัญชาติออสเตรเลีย ซึ่งวางแผนปล่อยสู่วงโคจรในปี 2022 ที่ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับโซลูชั่นการเชื่อมต่อของอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (IOT) ในอนาคต

คลีนนิ่ง “อวกาศ”

ผลพวงจากการแข่งขันด้านอวกาศคือ เศษซากขยะอวกาศไม่น้อยกว่า 8,000 ตัน นอกวงโคจรโลก สิ่งเหล่านี้เป็นอันตรายต่อภารกิจในอนาคต เพื่อจัดการปัญหา Astroscale บริษัทอวกาศของญี่ปุ่น ได้เปิดตัวเทคโนโลยีแม่เหล็กจับเศษขยะอวกาศที่ลอยอยู่ ผลักให้พวกมันกลับเข้าเผาไหม้ผ่านชั้นบรรยากาศ ของโลก เช่นเดียวกับองค์การอวกาศยุโรปเปิดโครงการ “หุ่นยนต์กำจัดขยะ” โดยมีเป้าหมายเฉพาะในการทำลายขยะอวกาศขนาดตั้งแต่ 100 กิโลกรัมที่ถูกทิ้งจากภารกิจครั้งก่อน

เทคโนโลยีอวกาศกับสิ่งแวดล้อม

เทคโนโลยีอวกาศเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญของการบรรลุเป้าแผนพัฒนาอย่างยั่งยืน 17 ประการ ภายในปี 2030 ของสหประชาชาติ รัฐบาลทั่วโลกต่างมุ่งลงทุนนวัตกรรมอวกาศมากขึ้น เพื่อจัดการกับความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก หนึ่งในไอเดียดาวเทียมเพื่อสิ่งแวดล้อมคือ MethaneSAT ที่ออกแบบมาเพื่อติดตามแหล่งการปล่อยก๊าซมีเทน เช่นเดียวกับโครงการของบริษัท Global Satellite Vu ที่ได้รับทุนจากรัฐบาลอังกฤษ พัฒนาดาวเทียมติดกล้องอินฟราเรดตรวจจับระดับการปล่อยความร้อนจากที่พักอาศัยและธุรกิจ