ติดโควิดสายพันธุ์โอมิครอน ทำไมอาการรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์อื่น

ทำไมโอมิครอน อาการรุนแรงน้อยกว่า
ภาพจาก Pixabay

อาจารย์แพทย์ในอังกฤษกล่าวว่า โควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ทำให้เกิดโรคที่รุนแรงน้อยกว่า เนื่องจากการทำปฏิกิริยากับร่างกายที่แตกต่างจากสายพันธุ์อื่น

วันที่ 11 มกราคม 2565 แชนแนลนิวส์เอเชียเผยแพร่ความเห็นของ “พอล ฮันเตอร์” อาจารย์แพทย์ในมหาวิทยาลัยอีสต์แองเกลีย ประเทศอังกฤษ ซึ่งอธิบายว่า ทำไมการติดโควิดสายพันธุ์โอมิครอน จึงแสดงอาการรุนแรงน้อยกว่าการติดโควิดสายพันธุ์อื่น

“ฮันเตอร์” กล่าวว่า ทันทีที่มีการตรวจพบโควิดสายพันธุ์โอมิครอนครั้งแรกในบอตสวานาและแอฟริกาใต้ มี 2 คำถามที่สำคัญตามมา ได้แก่ 1. โอมิครอนติดง่ายกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้านี้หรือไม่ และ 2. โอมิครอนจะทำให้เกิดโรครุนแรงมากหรือน้อยกว่าสายพันธุ์ที่มีอยู่

ปัจจุบันเป็นที่ชัดเจนแล้วว่า โอมิครอนแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วเพียงใด และทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วแค่ไหน แต่สำหรับคำถามที่ว่า โอมิครอนส่งผลกระทบที่เป็นอันตรายน้อยกว่าสายพันธุ์อื่นหรือไม่ รวมถึงคำถามที่ว่า มีความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์อื่นหรือไม่ ยังคงเป็นเรื่องซับซ้อน

ก่อนหน้านี้มีผลการศึกษาจากแอฟริกาใต้ (ซึ่งยังรอการตรวจสอบ) บ่งชี้ว่า ผู้ติดเชื้อโอมิครอนมีโอกาสน้อยกว่าที่จะต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล เมื่อเทียบกับสายพันธุ์ก่อนหน้านี้

งานวิจัยยังชี้ด้วยว่า แม้จะเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลแล้ว ผู้ติดเชื้อโอมิครอนมักไม่ค่อยต้องการออกซิเจน หรือจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ หรือต้องเข้ารับการรักษาในห้องไอซียู หรือเสียชีวิต

แต่เนื่องจากแอฟริกาใต้เป็นประเทศที่มีประชากรอายุน้อย เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในโลก ดังนั้นการขาดผลวิจัยในกลุ่มผู้ที่มีอายุมากกว่า หรือกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อมากกว่า จึงอาจบดบังความสามารถที่แท้จริงของโอมิครอน

อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลเพิ่มเติมในช่วงเดือนที่ผ่านมา บ่งชี้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในแอฟริกาใต้ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ เพราะข้อมูลจากประเทศส่วนใหญ่ในยุโรป ซึ่งรวมถึงอังกฤษ สนับสนุนข้อเสนอที่ว่า โดยทั่วไปแล้ว โอมิครอนทำให้เกิดโรคที่รุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้านี้

สิ่งนี้เห็นได้ชัดเจนที่สุดในการระบาดที่อังกฤษ ซึ่งนักวิเคราะห์จากสำนักงานความมั่นคงด้านสุขภาพของอังกฤษระบุว่า ผู้ติดเชื้อโอมิครอนมีแนวโน้มต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเพียง 1 ใน 3 เท่านั้น เมื่อเทียบกับสายพันธุ์เดลต้า

แน่นอนว่าหากการติดเชื้อโอมิครอนในแต่ละวันมีจำนวนสูงมาก อย่างที่ในอังกฤษกำลังเผชิญในตอนนี้ จำนวนผู้ที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลก็จะพุ่งสูงเช่นกัน เห็นได้ชัดในช่วง 2-3 วันสุดท้ายของปี 2564 ซึ่งจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก แต่ยังไม่พุ่งสูงเกินกว่าจำนวนที่พบในการระบาดระลอกก่อนหน้านี้ ที่สำคัญยังไม่พบว่าจำนวนผู้ป่วยที่ต้องการเครื่องช่วยหายใจเพิ่มสูงขึ้น

การหลบหลีกภูมิคุ้มกันบางส่วน

มีหลายปัจจัยที่อาจอธิบายได้ว่า ทำไมเรื่องนี้จึงเกิดขึ้น อย่างแรกเลยคือการมี “ภูมิคุ้มกัน”

อาจเป็นไปได้ว่าภูมิคุ้มกัน ทั้งที่มาจากการติดเชื้อและการฉีดวัคซีน กำลังเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในหลายพื้นที่ของโลก ซึ่งเพียงพอแล้วที่จะลดอัตราการเกิดโรครุนแรง

สำหรับการป้องกันการติดเชื้อในระยะเริ่มต้น ซึ่งอยู่ในจมูกและลำคอ แอนติบอดีหรือสารภูมิต้านทานจะต่อสู้กับโครงสร้างที่สำคัญของไวรัสคือ “โปรตีนหนาม” ที่ดูเหมือนจะมีบทบาทสำคัญที่สุด

การกลายพันธุ์ที่พบในโอมิครอนส่งผลต่อโปรตีนหนาม และมีแนวโน้มจะลดทอนความสามารถของภูมิต้านทานในการดักจับไวรัส ทั้งยังลดประสิทธิภาพของวัคซีน หรือการติดเชื้อก่อนหน้า ในการป้องกันการติดเชื้อใหม่

แต่สำหรับการป้องกันการติดเชื้อที่รุนแรงขึ้น ซึ่งมักจะอยู่ในปอด การตอบสนองทางภูมิคุ้มกันอื่น ๆ อาจมีบทบาทสำคัญกว่า เช่น เซลล์พิฆาตทีเซลล์ ซึ่งเป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่ง ทำหน้าที่ทำลายสารแปลกปลอมต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงเซลล์ในร่างกายที่ติดเชื้อไวรัส ด้วย

งานวิจัยก่อนหน้า ซึ่งยังไม่ได้รับการตรวจสอบจากนักวิทยาศาสตร์ บ่งชี้ว่า โอมิครอนมีการกลายพันธุ์เพียงเล็กน้อยในส่วนที่เป็นเป้าของทีเซลล์ ซึ่งหมายความว่า การสร้างภูมิคุ้มกันซึ่งมีศักยภาพในการป้องกันโรคที่แสดงอาการรุนแรงขึ้น ยังต้องเดินหน้าต่อไป

เรื่องนี้เป็นคำอธิบายที่มีน้ำหนักว่า เหตุใดความรุนแรงของโอมิครอนดูจะน้อยกว่าสายพันธุ์อื่น ยกตัวอย่างที่อังกฤษ ซึ่งมีการประมาณการว่า ผู้ใหญ่เกือบ 95% มีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสกลายพันธุ์ชนิดนี้ ผ่านทางการฉีดวัคซีนหรือการติดเชื้อ

การกลายพันธุ์กับอาการ

โดยธรรมชาติแล้ว โอมิครอนอาจแสดงอาการรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์อื่น แม้แต่ในผู้ที่ไม่มีภูมิต้านทานมาก่อน อย่างไรก็ตาม ยังเป็นเรื่องยากที่จะระบุแน่ชัด แม้จะมีสัญญาณบางอย่างบ่งชี้ว่ามันอาจเป็นเช่นนั้น

อย่างแรก โอมิครอนมีการกลายพันธุ์หลายตำแหน่ง หนึ่งในนั้นคือตำแหน่งที่ใกล้กับตำแหน่งในการแยกฟูริน (furin) ซึ่งคาดว่ามีบทบาทสำคัญต่อการแสดงความรุนแรงของโรค

การทดลองในห้องปฏิบัติการ ซึ่งมีการลบตำแหน่งในการแยกของฟูรินออก พบว่าไวรัสแสดงให้เห็นการเจริญเติบโตที่ลดลงในเซลล์ทางเดินหายใจของมนุษย์ และทำให้เกิดโรคที่รุนแรงน้อยลงในสัตว์ทดลอง

มีความเป็นไปได้ว่าการกลายพันธุ์บริเวณตำแหน่งในการแยกฟูริน สามารถอธิบายได้ถึงความรุนแรงที่ลดลงของโอมิครอน

ผู้เชี่ยวชาญหลายกลุ่มยังคงศึกษาเรื่องความสามารถของโอมิครอน ในรายงานที่กำลังรอการตรวจสอบบางฉบับชี้ว่า ไวรัสชนิดนี้เติบโตได้ไม่ค่อยดีนักในเนื้อเยื่อปอด แต่เติบโตได้ดีกว่าในเนื้อเยื่อทางเดินหายใจส่วนบน เมื่อเทียบกับสายพันธุ์ก่อนหน้า

การเติบโตที่มากขึ้นในทางเดินหายใจส่วนบน อาจทำให้ไวรัสไหลผ่านจมูกและปากมากขึ้น ซึ่งอาจช่วยอธิบายได้ส่วนหนึ่งว่า ทำไมโอมิครอนจึงมีการติดเชื้อได้มากกว่า

และการติดเชื้อในปอด แทนที่จะเป็นทางเดินหายใจส่วนบน มีความเกี่ยวข้องกับโรคที่รุนแรงมากขึ้น ดังนั้นความสามารถในการเจริญเติบโตในปอดที่ลดลงของโอมิครอน จึงอาจเป็นปัจจัยสำคัญในการอธิบายถึงความรุนแรงที่ลดลง