WWF พบสิ่งมีชีวิตใหม่ในลุ่มแม่น้ำโขงกว่า 200 สายพันธุ์

Photo by Handout / WWF / AFP

มหัศจรรย์ลุ่มแม่น้ำโขง นักวิจัย WWF พบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ถึง 224 สายพันธุ์ สะท้อนระบบนิเวศอันหลากหลายที่เผชิญภัยคุกคามจากมนุษย์

วันที่ 28 มกราคม 2565 รอยเตอร์รายงานว่า องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) เปิดเผยผ่านรายงานว่า ในปี 2020 แม้มีภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและกิจกรรมของมนุษย์ที่รุกรานธรรมชาติ แต่กลับมีการค้นพบสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใหม่ถึง 224 ชนิดในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขง ครอบคลุมบริเวณประเทศไทย ลาว กัมพูชา เมียนมา และเวียดนาม

Photo by Benjamin TAPLEY / WWF / AFP

WWF ระบุว่า สิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใหม่ที่ถูกค้นพบ อาทิ ตุ๊กแกหินตัวใหม่ที่ค้นพบในไทย หม่อนพันธุ์ใหม่ในเวียดนาม และกบหัวโตในเวียดนามและกัมพูชา ขณะเดียวกันยังพบลิงโพพา แลงเกอร์ (Popa langur) ซึ่งถูกตั้งชื่อตามภูเขาไฟ Mount Popa ในภาคกลางของเมียนมา โดยคาดว่าอาจเหลืออยู่เพียง 200 ถึง 250 ตัว เช่นเดียวกับการพบปลาสายพันธุ์ใหม่ในถ้ำของเมียนมา ที่มีลักษณะสีเหลือง-ขาวซีด ซึ่งผิดปกติจากปลาที่พบในแหล่งเดียวกัน จนนักวิทยาศาตร์ต้องสร้างสกุลสายพันธุ์ขึ้นใหม่ เช่นเดียวกับงูที่เกล็ดมีลักษะเลื่อมสะท้อนแสงสีน้ำเงินและสีเขียว

WWF ระบุในรายงานว่า เหตุที่มีการพบสิ่งมีชีวิตใหม่ถึง 200 สายพันธุ์นี้ แม้จะเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นของวงการวิทยาศาสตร์และชีววิทยาในการศึกษาเพิ่มเติม แต่ก็สะท้อนถึงว่าพื้นที่ป่าอันสำคัญของภูมิภาคนี้ถูกคุกคามจากการถูกทำลาย ทำให้สัตว์ป่าสูญเสียที่อยู่อาศัยจนต้องปรับตัวและถูกค้นพบมากขึ้น

การค้นพบแสดงให้เห็นว่าภูมิภาคนี้ยังคงเป็นแนวหน้าของการสำรวจทางวิทยาศาสตร์และเป็นจุดแสดงถึงความหลากหลายทางสายพันธุ์ของสัตว์ ซึ่งสะท้อนถึงความหลากหลายทางชีวภาพในลุ่มแม่น้ำโขงที่เตือนว่ากิจกรรมหรือการพัฒนาใดๆ ของมนุษย์ในอนาคตอาจทำลายระบบนิเวศทางธรรมชาติ

Photo by Thy NEANG / WWF / AFP