นโยบายสวนทาง ‘จีน-อเมริกา’ สร้างสมดุลเศรษฐกิจโลก

คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : นงนุช สิงหเดชะ

อเมริกากับจีน สองประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดอันดับ 1 และ 2 ของโลก กำลังถูกจับตามองเรื่องนโยบายการเงินการคลังที่กำลังสวนทางกันมากขึ้นเรื่อย ๆ

โดยที่อเมริกาฟื้นตัวจากโควิด-19 แข็งแกร่งจนประสบปัญหาเงินเฟ้อ สูงในรอบ 40 ปี จึงต้องลดสภาพคล่องในระบบลงพร้อมกับขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งค่อนข้างแน่นอนว่าจะเริ่มในเดือนมีนาคมปีนี้

ประเด็นที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศจะใช้นโยบายการเงินเข้มงวดขึ้นพร้อมกับขึ้นดอกเบี้ย เขย่าขวัญนักลงทุนและตลาดทั่วโลกค่อนข้างมาก เนื่องจากยังไม่ชัดเจนว่าจะขึ้นในอัตราเท่าใดต่อครั้ง รวมทั้งจำนวนครั้งว่าจะถี่เพียงใด สิ่งที่ตลาดกลัวคือการขึ้นเร็วและแรงกว่าที่คาด ซึ่งนักวิเคราะห์บางรายประเมินว่าอาจขึ้นถึง 5 ครั้งในปีนี้ จากเดิม 3 ครั้ง

ความเคลื่อนไหวของเฟดได้รับเสียงติงเตือนจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ว่า ระวังจะทำให้การฟื้นตัวของบางประเทศที่เศรษฐกิจอ่อนแออยู่แล้วหยุดชะงัก เพราะการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐจะส่งผลกระทบค่อนข้างมากต่อประเทศที่มีหนี้ในรูปดอลลาร์สหรัฐสูง โดยเฉพาะประเทศที่มีรายได้ต่ำ ซึ่งจะเพิ่มภาระในการชำระหนี้

ไม่เพียงไอเอ็มเอฟเท่านั้นที่ส่งเสียงออกมา แม้แต่ “สี จิ้นผิง” ประธานาธิบดีจีน ก็ยังออกโรงด้วยตัวเองขอให้ประเทศตะวันตกอย่าเหยียบเบรกเศรษฐกิจด้วยการขึ้นดอกเบี้ยเร็วเกินไป เพราะจะเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และเสถียรภาพการเงินโลก โดยที่ประเทศกำลังพัฒนาจะได้รับผลกระทบมากสุด

ขณะที่ในฟากของจีน อย่างที่ทราบกันว่าเริ่มใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินด้วยการหั่นดอกเบี้ยนโยบาย ลดเงินกันสำรองของธนาคารและอัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบ ซึ่งจะดำเนินต่อเนื่องในปีนี้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตตามเป้าหมายคือ 5% หลังจากเจออุปสรรคหลายอย่าง ทั้งการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ วิกฤตหนี้มหาศาลของภาคอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น

Advertisment

การสวนทางกันของนโยบายการเงินการคลังเช่นนี้ของสองประเทศยักษ์ใหญ่เป็นเรื่องน่ากังวลหรือไม่ คำตอบคือ “ไม่เสมอไป” แต่อาจส่งผลดีในแง่ที่ว่ามันช่วยรักษาสมดุลเศรษฐกิจโลกหรือกระทั่งช่วยกอบกู้เศรษฐกิจโลกด้วยซ้ำ

นักวิเคราะห์และนักเศรษฐศาสตร์ชี้ว่า ทิศทางของธนาคารกลางสหรัฐและจีนสร้างความเสี่ยงต่อการไหลเวียนของเงินทุนระหว่างประเทศ เงินหยวนที่แข็งค่าและเงินทุนต่างประเทศที่เคยไหลเข้าจีนเป็นประวัติการณ์ จะถูกทดสอบถ้าหากการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดทำให้ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า ซึ่งผลกระทบจะมากน้อยขึ้นอยู่กับว่าเฟดดำเนินนโยบายการเงินเข้มงวดเร็วแค่ไหน และในทางกลับกันจีนใช้นโยบายผ่อนคลายมากแค่ไหน

Advertisment

การกระตุ้นเศรษฐกิจจากฟากของจีนยังจะช่วยผลกระทบด้านลบที่เกิดจากขึ้นดอกเบี้ยของเฟดที่มีต่อเศรษฐกิจโลก เพราะคาดว่าจากนี้ไปจนถึงปี 2026 เศรษฐกิจจีนจะมีบทบาทในการช่วยเพิ่มจีดีพีโลกเกิน 25% มากกว่าอเมริกาที่มีบทบาทประมาณ 19%

ขณะเดียวกัน ประเทศที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดทางการค้าการลงทุนกับจีน อย่างเช่น ออสเตรเลีย ซึ่งส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ไปจีนเป็นหลัก รวมทั้งประเทศในเอเชีย อย่างเกาหลีใต้ อาจโล่งอกมากที่สุด ส่วนประเทศที่มีความสัมพันธ์กับจีนค่อนข้างน้อย อย่างเม็กซิโก ตุรกี มีความเสี่ยงจะได้รับผลกระทบมากสุดหากเฟดขึ้นดอกเบี้ย

ในส่วนของนักลงทุนหุ้นจำนวนมากต่างพากันคาดหวังว่าราคาสินทรัพย์จีนจะฟื้นตัวหลังจากดัชนี MSCI China ตามหลังดัชนี S&P500 ของสหรัฐอยู่ถึง 49% ในปีที่แล้ว ถือว่าห่างกันที่สุดนับจาก
ปี 1998 บรรดานักวิเคราะห์จากค่ายใหญ่ ๆ อย่างโกลด์แมน แซกส์, แบล็กร็อก อิงก์ และเอชเอสบีซี โฮลดิ้งส์ ล้วนคาดการณ์ว่าหุ้นจีนจะคึกคัก

โดยรวมแล้วนโยบายสวนทางกันเช่นนี้ของสองยักษ์ใหญ่อาจช่วยป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจโลกร้อนแรงเกินไป และท้ายที่สุดนำไปสู่การบรรจบกันของการเติบโตทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศ ต่างฝ่ายต่างชดเชยกันและกัน ซึ่งผลก็คือช่วยสร้างสมดุลเศรษฐกิจโลก