สปป.ลาวเล็งเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวเต็มรูปแบบปลายปี

ลาวต่อยอดความสำเร็จรถไฟลาวจีน เล็งเปิดประเทศเต็มรูปแบบปลายปีนี้ ชูยุทธศาสตร์โลจิสติกส์-ท่องเที่ยว ฟื้นเศรษฐกิจ

วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รัฐบาล สปป.ลาวโดย ฯพณฯ บุญเหลือ สินไซวอระวง รองรัฐมนตรีกระทรวงการเงิน และ ฯพณฯ สุลีวัด สุวันนะจูมคำ อธิบดีกรมคุ้มครองหนี้สินสาธารณะ ได้เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงแผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศภายในปี 2022 นี้ รวมถึงการต่อยอดโครงการรถไฟลาวจีน ภายใต้แผนพัฒนาโลจิสติกส์ของประเทศ เพื่อปั้นให้ สปป.ลาวขึ้นแท่น Transit Hub ระบบขนส่งทางรถ-ราง ของภูมิภาค

บุญเหลือ รองรัฐมนตรีกระทรวงการเงิน สปป.ลาว อธิบายภาพรวมของเศรษฐกิจลาวว่า ยังคงมีอัตราการเติบโตในระดับน่าพอใจ แม้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มาตลอดกว่า 2 ปี โดยเศรษฐกิจลาวในปี 2021 เติบโตประมาณ 3% แม้มีการแพร่ระบาดโควิด-19 และการปิดประเทศ โดยปัจจัยการเติบโตมาจากภาคอุตสาหกรรมที่ขยายตัวได้ 6.1% ภาคบริการขยายตัว 1.4% และภาคกสิกรรมขยายตัวได้ 2.5%

สะท้อนเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่มีความมั่นคง โดยอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 3.7% และอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินกีบ กับเงินบาทและเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง แต่อยู่ในระดับที่เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจ

ส่วนการเติบโตของเศรษฐกิจลาวในปี 2022 นี้ รอง.รมว.การเงินลาว เผยว่า รัฐบาลลาวให้ความสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศของปี 2022 จนถึง 2023 เป็นวาระแห่งชาติผ่านการลงทุนด้านโลจิสติกส์ การท่องเที่ยว การเปิดเหมืองให้เอกชนเข้าทุน และการส่งออกพลังงาน

แผนปี 2022 เป็นปีที่ลาวตั้งเป้าฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ แม้ยังคงมีปัจจัยจากการระบาดของโควิดอยู่ แต่ลาวไม่มีนโยบายปิดประเทศ ทั้งจะทยอยเปิดประเทศอย่างค่อยเป็นค่อยไปทีละเฟสในปีนี้ ภายใต้แผน “กรีนโซนท่องเที่ยว” โดยนำร่องเปิด 3 เมืองท่องเที่ยวสำคัญคือ เวียงจันทร์ หลวงพระบาง และวังเวียง

จากนั้นขยายเป็น 4 เมือง กระทั่ง 10 เมืองในช่วงกลาง ในลักษณะเป็นการท่องเที่ยวผ่านกรุ๊ปทัวร์ภายใต้เงื่อนไขที่นักท่องเที่ยวจะต้องมีผลการฉีดวัคซีนและมีประกันโควิดคุ้มครอง จากนั้นรัฐบาลจะประเมินเพื่อเตรียมเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวเต็มรูปแบบอีกครั้งช่วงปลายปีนี้

ฯพณฯ สุลีวัด สุวันนะจูมคำ

ต่อยอดรถไฟลาวจีน

นับตั้งแต่ลาวเปิดเส้นทางรถไฟลาวจีน เชื่อมต่อการขนส่งระหว่างประเทศตั้งแต่ช่วงธันวาคม 2021 ลาวได้ต่อยอดการเปิดเส้นทางรถไฟดังกล่าวด้วยการพัฒนาท่าบก (Dry Port) เพื่อเป็นศูนย์รับการกระจายสินค้าในหลายเมือง เช่น พัฒนาท่านาแล้งเพื่อรับขนส่งสินค้าจากไทยไปจีน 3-5 แสนตู้คอนเทนเนอร์ต่อปี และยังก่อให้เกิดการลงทุนใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น ทั้งยังทำให้ต้นทุนค่าขนส่งโลจิสติกส์ลดลงโดยเฉลี่ย 30-40% จากการใช้ประโยชน์ระบบราง

การรายงานอย่างไม่เป็นทางการเผยว่า การบริหารท่าบกที่ท่านาแล้ง ปริมาณสินค้าที่ผ่านยังท่าบกแห่งนี้เพิ่มขึ้น ตู้สินค้ามาจากไทยเพิ่ม เพื่อมาทดลงเส้นทาง โดยผู้ประกอบการไทยหลายรายกำลังทดลองว่าการขนส่งรูปแบบดังกล่าวมีความสะดวกเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งทาง สปป.ลาวได้พยายามปรับกฎระเบียบต่าง ๆ ให้เพื่อต่อการใช้ประโยชน์เส้นทางนี้มีขึ้นทั้งแก่ภาคเอกชนลาว และภาคเอกชนไทยสำหรับการส่งออกไปยังประเทศจีน

การเปิดให้บริการรถไฟลาวจีน ก่อให้เกิดธุรกิจการให้บริการด้านโลจิสติกส์ ซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่ของ สปป.ลาว โดยรถไฟเส้นดังกล่าว ที่ให้บริการขนส่งผู้โดยสาร 2 เที่ยวต่อวัน เต็มเกือบทุกเที่ยวต้องจองล่วงหน้า แต่สำหรับการขนส่งสินค้า ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนาเรื่องการบริหารจัดการ ทั้งด่านศุลกากร ระเบียบการการขนส่งในด้านเอกสาร การประสานงานหน่วยงานต่าง ๆ เพื่ออำนวความสะดวกในการใช้บริการขนส่งสินค้าผ่านรถไฟลาวจีน มีประสิทธิภาพมากขึ้น

โดยคาดว่าจะพร้อมเต็มรูปแบบได้ภายในไตรมาสแรกปีนี้ ทำให้การปริมาณการขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้น รถไฟลาวจีน ยังทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวลาวมีแนวโน้มเติบโต เนื่องจากนโยบายการเปิดประเทศที่ชัดเจนช่วงปลายปี

ปั้น Transport Hub เชื่อมอาเซียน

“ไทยลาวผลักดันผลประโยชน์ร่วมกัน สินค้าจากการขนส่งเส้นทางนี้สามารถไปถึงยุโรปได้” คือสิ่งที่รองรัฐมนตรีการเงินลาวคาดหวัง โดย สปป.ลาว มีแผนยุทธศาสตร์ปั้น Transport Hub ผ่านแลนด์ลิงก์จากจีนลาว เชื่อมต่อมายังประเทศไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ สร้างโอกาส สปป.ลาว ให้กับอาเซียนในการเพิ่มมูลค่าการส่งออก โดยไทยจะได้ประโยชน์ส่งออกไปจีน จากต้นทุนขนส่งลดลงเกือบ 40% จากจีนเชื่อมต่อไปยุโรป

สปป.ลาวจะเป็น Transit Hub ขนส่งสินค้ามายังประเทศไทยผ่านจังหวัดหนองคาย ช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ตามข้อมูลที่มีสินค้าจากไทยไปจีน มี 17 ล้านตู้ต่อปี หากมีรถไฟเชื่อมลาวจีนไทย ทำให้สินค้าไทยไปถึงจีนในเวลาเร็ว ต้นทุนถูกกว่า และยังทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยคึกคักจากนักท่องเที่ยวชาวจีนที่มีโอกาสใช้เส้นทางรถไฟมาท่องเที่ยวในไทยเพิ่ม นอกจากนี้ ลาวยังมีโครงการก่อสร้างทางด่วนที่เชื่อมระหว่างลาวกับไปยังตะวันออกของเวียดนาม ซึ่งอยู่ระหว่างศึกษาการลงทุน

นอกเหนือจากการชูแผนโลจิสติกส์และการท่องเที่ยวแล้ว สปป.ลาวในฐานะ “แบตเตอร์รี่แห่งเอเชีย” ยังมีแผนต่อยอดการส่งออกแร่และพลังงานในปีนี้ผ่านการเปิดให้เอกชนลงทุนในเหมืองแร่เหล็ก รวมถึงการสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มอีก เพื่อเสริมศักยภาพการส่งออกไฟฟ้าของลาว จากการที่ลาวมีแผนขยายกำลังการขายไฟฟ้าแก่เพื่อนบ้าน ทั้ง ไทย เวียดนาม กัมพูชา และจีน โดยปัจจุบันลาวมีโครงการโรงไฟฟ้าที่ดำเนินการอยู่ 86 โครงการ จำนวนนี้ 73 โครงการ เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ ตามด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานความร้อน

ด้วยแผนดังกล่าว สปป.ลาวตั้งเป้าว่าเศรษฐกิจประเทศจะเติบโตเฉลี่ยที่ 4% ในปีนี้ และเพิ่มเป็น 4.6% ในปี 2023 และ 5% ในปี 2024