ผู้นำไต้หวันประณามรัสเซีย สั่งดำเนินการ 4 แนวทางรับมือวิกฤต #ยูเครน

ปธน.ไต้หวัน ร่วมประณามรัสเซีย สั่งดำเนินการ 4 แนวทางรับมือวิกฤตยูเครน
FILE PHOTO: Sam Yeh / AFP

ปธน.ไช่ฯสั่งดำเนินการ 4 แนวทาง หลังรับฟังรายงานจาก “คณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อรับมือกับสถานการณ์ในยูเครน”

วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565 ไต้หวันทูเดย์ รายงานว่า นายจางตุนหาน โฆษกทำเนียบประธานาธิบดี สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เปิดเผยเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ว่า ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และนายซูเจินชาง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ร่วมรับฟังรายงานจาก “คณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อรับมือกับสถานการณ์ในยูเครน” ของสภาความมั่นคงแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

โดย ปธน.ไช่ฯได้สั่งการให้ดำเนินการเพื่อรับมือกับสถานการณ์ล่าสุดในยูเครน 4 แนวทาง ดังนี้

1.ไต้หวันขอประณามรัสเซียที่รุกรานอธิปไตยของยูเครน พร้อมเรียกร้องให้ทุกฝ่ายแก้ไขปัญหาความขัดแย้งด้วยสันติวิธี ร่วมรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในระดับภูมิภาค ไต้หวันในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลก ยินดีเข้าร่วมในความพยายามต่าง ๆ ที่จะมีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาความขัดแย้งโดยสันติวิธี

2. ไต้หวันจะเร่งเสริมสร้างแสนยานุภาพด้านกลาโหมเพื่อรับมือกับสถานการณ์ใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในช่องแคบไต้หวัน เพื่อสร้างหลักประกันด้านความมั่นคงให้แก่ประเทศชาติ ปธน.ไช่ฯกำชับให้ทุกหน่วยงานในสภาความมั่นคงแห่งชาติและกองทัพไต้หวัน

ต้องยกระดับการเฝ้าระวังและป้องกันภัยล่วงหน้าที่อาจเกิดขึ้นในช่องแคบไต้หวัน ตลอดจนเสริมสร้างการระดมสรรพกำลังอย่างต่อเนื่อง เพื่อรับมือกับทุกสถานการณ์อย่างทันท่วงที ทั้งนี้ เพื่อสร้างหลักประกันด้านความมั่นคงให้แก่ประเทศชาติต่อไป

3.เสริมสร้างแนวทางการรับมือกับสงครามจิตวิทยา สร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ภาคประชาชน สถานการณ์ในไต้หวันและยูเครนมีความแตกต่างกันโดยพื้นฐาน ในแง่ของภูมิยุทธศาสตร์ สภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ และความสำคัญของห่วงโซ่อุปทานระหว่างประเทศ

ทุกหน่วยงานของรัฐบาลควรเสริมสร้างการป้องกันการรุกรานจากภายนอกและสงครามจิตวิทยาจากผู้สมรู้ร่วมคิดในประเทศ พร้อมทั้งเสริมสร้างกลไกการชี้แจงข้อเท็จจริงที่อาจได้รับการบิดเบือนเนื่องจากการแพร่กระจายข่าวปลอม เพื่อสร้างเสถียรภาพให้เกิดแก่สังคมไต้หวัน

4.เร่งแสวงหาแนวทางการรับมือกับตัวแปรทางเศรษฐกิจต่าง ๆ เพื่อรักษาเสถียรภาพของสินค้าและราคา ตลาดหุ้นและตลาดเงินตราต่างประเทศ หน่วยงานสภาบริหารต้องจับตาและให้ความสำคัญต่อตัวแปรด้านเศรษฐกิจและการค้าทั่วโลก ประเมินและเสริมสร้างแนวทางการรับมือ ตลอดจนรักษาเสถียรภาพของสินค้าที่มีความสำคัญ รวมถึงราคาสินค้าและตลาดการเงิน