ลาวเผชิญ ‘วิกฤตการคลัง’ เร่งลดหนี้ต่างประเทศ

คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจ
ผู้เขียน : ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

ตอนที่ “พันคำ” วิพาวัน นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของลาวเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในเดือนมีนาคม 2021 นั้น การขยายตัวทางเศรษฐกิจของลาวกำลังตกอยู่ในภาวะขาลง ดิ่งลงอย่างรวดเร็วมาตั้งแต่ปี 2017 และถูกซ้ำเติมอย่างหนักจากวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ในช่วงระหว่างปี 2001-2016 เศรษฐกิจลาวขยายตัวแรงและเร็ว จีดีพีของประเทศเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 7.3% แต่ตั้งแต่ปี 2017 จีดีพีก็ลดลงเรื่อยมา

ปี 2017 จีดีพีลาวอยู่ที่ 6.3% ปีถัดมาลดลงเหลือ 6.3% ก่อนที่จะลดลงเหลือเพียง 5.5% ในปี 2019 และตัวเลขจีดีพีอย่างเป็นทางการของลาวในปี 2020 ลดลงมาเหลือเพียง 3.3%

นักวิเคราะห์และนักสังเกตการณ์ชี้ว่า ช่วงขาขึ้นของเศรษฐกิจลาวนั้น แรงผลักดันสำคัญเกิดจากการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่เป็นหลัก มีการประเมินกันว่า ทางการลาวต้องใช้เงินลงทุนคิดเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 30% ของจีดีพี เพื่อที่จะก่อให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ในระดับ 6-7%

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ เงินลงทุนในระดับ 30% ของจีดีพีไม่ได้เป็นเรื่องยาก หากขนาดของจีดีพีลาวไม่ได้ใหญ่โตอะไรนัก

ตัวอย่างเช่น ในปี 2005 จีดีพีของลาวคิดเป็นมูลค่าเพียงแต่ 2,500 ล้านดอลลาร์ ย่อมไม่ยากที่จะแสวงหาเงินลงทุนเพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจขยายตัว แต่จะเป็นปัญหาขึ้นมาทันทีเมื่อขนาดจีดีพีของลาวขยายใหญ่ขึ้น

ในปี 2015 ขนาดจีดีพีของลาวขยายตัวขึ้นจากเมื่อปี 2005 ถึง 3 เท่าตัว ยุทธศาสตร์เพื่อการเจริญเติบโตของจีดีพีด้วยวิธีนี้จึงเป็นไปไม่ได้ขึ้นมา เนื่องจากการลงทุนจากต่างประเทศที่เคยเป็นหลักลดลงด้วยโอกาสที่จำกัดลง

หากแนวโน้มทางเศรษฐกิจยังคงดำเนินต่อไปเช่นนี้ สิ่งที่จะปรากฏตามมาก็คือ เศรษฐกิจลาวจะไม่สามารถก่อให้เกิดรายได้ในระดับสูงเพียงพอสำหรับนำมาชำระหนี้ต่างประเทศและทะนุบำรุงประเทศ

ความกังวลว่าจะเกิดวิกฤตการณ์ทางการคลังขึ้นกับลาว เพราะไม่มีขีดความสามารถจะชำระหนี้จากต่างประเทศ โดยเฉพาะหนี้ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโครงการขนาดใหญ่มูลค่า
หลายพันล้านดอลลาร์ อย่างเช่น โครงการรถไฟความเร็วสูง และโครงการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่สำหรับผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังน้ำ เริ่มปรากฏชัดในราวกลางปี 2020 เมื่อโครงข่ายจ่ายกระแสไฟฟ้าแห่งชาติ ประสบปัญหาสภาพคล่องขึ้นมา สะท้อนให้เห็นปัญหาหนี้สินร้ายแรง

นี่คือเงื่อนปมที่ทำให้นายกรัฐมนตรี คำพัน วิพาวัน ประกาศให้การแก้ปัญหายุ่งยากทางการคลังและทางเศรษฐกิจของประเทศเป็น “วาระแห่งชาติ” ในสุนทรพจน์ต่อสภาแห่งชาติเป็นครั้งแรก

เป้าหมายสำคัญของรัฐบาลลาวชุดใหม่ก็คือ ลดสัดส่วนการเป็นหนี้ต่างประเทศของลาวลงให้อยู่ในระดับไม่เกิน 55.4% ของจีดีพีภายในปี 2023 ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวด แต่จะเป็นไปได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลลาวมีความสามารถในการแปรแนวทางปฏิรูปเศรษฐกิจให้เป็นไปในทางปฏิบัติได้มากน้อยแค่ไหนนั่นเอง

นัยสำคัญที่แสดงให้เห็นว่า นายกรัฐมนตรี “คำพัน วิพาวัน” จริงจังกับเรื่องนี้อย่างมากก็คือ การประกาศต่อสภาแห่งชาติว่า จะไม่รอผลการปฏิบัติตามแนวทางใหม่นี้ไปจนครบวาระแผนเศรษฐกิจระยะ 5 ปี เหมือนที่รัฐบาลลาวชุดที่ผ่าน ๆ มาทำกันเป็นประเพณี แต่กำหนดให้เห็นผลให้ได้ภายในสิ้นปี 2023 นี้เท่านั้น

ในเวลาเดียวกันก็เริ่มการปฏิรูปด้านงบประมาณรายจ่ายของรัฐและประกาศใช้แนวทางเพื่อเพิ่มรายได้ มีการประกาศขึ้นภาษีบางรายขึ้นหลายเท่าตัว พร้อม ๆ กับที่นำเอาระบบการชำระภาษีออนไลน์มาใช้

รวมทั้งยังประกาศห้ามไม่ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐรายใด ไม่เว้นแม้แต่กระทั่งตัวนายกรัฐมนตรีเอง ใช้รถหลวงประจำตำแหน่งต่อเนื่องต่อไปหลังพ้นตำแหน่ง เพื่อลดงบประมาณรายจ่ายของทางการ

จากมาตรการต่าง ๆ เหล่านี้ รัฐบาลเชื่อว่าระดับการขาดดุลงบประมาณในปีงบประมาณ 2021 น่าจะลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 4.7% แม้ว่าวิกฤตโควิดยังไม่สิ้นสุดก็ตาม

รัฐบาลลาวชุดใหม่ตั้งเป้าการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยเฉลี่ยตามแผน 5 ปี ไว้ที่ 4% ซึ่งจะลดสัดส่วนการลงทุนเพื่อการขยายตัวลงเหลือเพียง 19% ของจีดีพี หรือราว 3,600 ล้านดอลลาร์ต่อปี

การลงทุนทางเศรษฐกิจถูกกระจายออกไปเป็นจากงบประมาณแผ่นดินเพียง 11% จากเงินช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอีก 18% และจากการลงทุนภาคเอกชนมากที่สุด 49% ลดโอกาสที่รัฐบาลจะต้องนำเงินไปลงทุนในโครงการใหญ่ ๆ ยาก ๆ ที่สุ่มเสี่ยงลง และผลักดันให้โครงการที่ผ่านมา โดยเฉพาะโครงการรถไฟความเร็วสูงที่เริ่มต้นใช้งานจริงเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อเศรษฐกิจของประเทศ

แม้แนวทางการปฏิรูปเหล่านี้เพิ่งจะเริ่ม ยังอีกนานกว่าจะเห็นผลสัมฤทธิ์ แต่ก็ทำให้อนาคตของเศรษฐกิจลาวดูสดใสขึ้นมาไม่น้อยเลยทีเดียว