จีนปลดล็อกเทคโนโลยีไร้คนขับ ปักกิ่งนำร่องให้บริการ ‘โรโบแท็กซี่’

แท็กซี่ไร้คนขับหรือ “โรโบแท็กซี่” (robotaxis) กำลังกลายเป็นเทคโนโลยีที่อาจพลิกโฉมธุรกิจการเดินทางครั้งใหญ่ ทั้งในแง่การลดความต้องการพนักงานขับขี่ที่มีประสบการณ์ลงไปได้อย่างมาก ขณะเดียวกันการเดินทางก็มีความปลอดภัยและความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น จากการปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัดของรถที่ขับเคลื่อนด้วยหุ่นยนต์

ซีเอ็นบีซีรายงานว่า “ไป่ตู้” (Baidu) ผู้ให้บริการเสิร์ชเอนจินอันดับหนึ่งของจีนเปิดเผยว่า บริษัทได้รับใบอนุญาตจากทางการจีน สามารถเริ่มให้บริการแท็กซี่ไร้คนขับเต็มรูปแบบผ่านแพลตฟอร์ม “อพอลโล โก” (Apollo Go) ในกรุงปักกิ่ง ตั้งแต่ 24 เม.ย. 2022

โดยในการเริ่มต้นทดลองให้บริการนี้จะยังไม่มีการจัดเก็บค่าโดยสาร และยังคงจำกัดพื้นที่ให้บริการเพียง 60 ตร.กม.ในเขตอี้จวง (Yizhuang) ของกรุงปักกิ่ง ซึ่งไป่ตู้ได้เริ่มทดลองให้บริการแท็กซี่ไร้คนขับรวม 10 คัน และมีแผนจะเพิ่มเป็น 30 คันในอนาคต

นับเป็นครั้งแรกของจีนที่มีการให้บริการโรโบแท็กซี่ โดยไม่มีมนุษย์เป็นพนักงานขับรถสำรอง แม้ว่าข้อกำหนดของจีนจะยังคงระบุให้ต้องมีพนักงานด้านความปลอดภัยประจำอยู่ภายในรถ เพื่อรับมือกับกรณีฉุกเฉิน แต่ไม่จำเป็นต้องประจำอยู่ที่ตำแหน่งคนขับ ซึ่งในอนาคตจะมีการพิจารณาอนุญาตให้ไม่จำเป็นต้องมีพนักงานที่เป็นมนุษย์อยู่ภายในรถอีกต่อไป

ขณะที่ “โพนีดอตเอไอ” (Pony.ai) สตาร์ตอัพยานยนต์ไร้คนขับอีกราย ก็ได้รับอนุญาตให้บริการโรโบแท็กซี่ในจีนเช่นกัน โดยเริ่มทดลองให้บริการ 4 คันในกรุงปักกิ่ง ส่วนในพื้นที่เขตหนานซาของเมืองกว่างโจว โพนีดอตเอไอได้เริ่มให้บริการโรโบแท็กซี่ถึง 100 คัน แต่ยังคงมีพนักงานขับรถอยู่หลังพวงมาลัย และจัดเก็บค่าโดยสารในอัตราแท็กซี่ทั่วไป

นิกเคอิ เอเชียรายงานว่า ไป่ตู้ได้แถลงการณ์ถึงการได้รับใบอนุญาตจากทางการจีนครั้งนี้ ระบุว่า “ความเคลื่อนไหวครั้งนี้นับเป็นก้าวสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมไรด์ เฮลลิ่งยานยนต์อัตโนมัติในจีน ซึ่งบ่งบอกถึงความเปิดกว้างด้านกฎระเบียบ เพื่อก้าวไปอีกขั้นสู่อนาคตของการเดินทางแบบไร้คนขับอย่างเต็มรูปแบบ”

หากเทียบกับสหรัฐอเมริกาที่มีการให้ใบอนุญาตบริการแท็กซี่ไร้คนขับเชิงพาณิชย์แก่ “เวย์โม” (Waymo) ผู้ให้บริการโรโบแท็กซี่ของ “อัลฟาเบท” บริษัทแม่ของ “กูเกิล” ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2020 ซึ่งให้บริการในเขตฟีนิกซ์ของรัฐแอริโซนาได้โดยไม่ต้องมีพนักงานอยู่ภายในรถ

ขณะที่เมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา รัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐก็ได้ให้ใบอนุญาตแก่เวย์โมและ “ครุยส์” (Cruise) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก “เจเนอรัล มอเตอร์ส” ในการให้บริการโรโบแท็กซี่ในพื้นที่กำหนด แต่จำเป็นต้องมีพนักงานขับรถเพื่อความปลอดภัย

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจแท็กซี่ไร้คนขับในสหรัฐไม่มีความคืบหน้ามากนัก ส่วนหนึ่งเป็นผลจากกฎระเบียบด้านการขับขี่ในแต่ละรัฐที่แตกต่างกัน ทำให้มีการอนุมัติบริการโรโบแท็กซี่เพียงไม่กี่รัฐ ขณะที่การปลดล็อกด้านกฎระเบียบของจีนค่อนข้างรวดเร็วอย่างก้าวกระโดด

แต่แท็กซี่ไร้คนขับยังคงมีข้อจำกัดหลายด้าน เช่น การขับเคลื่อนที่ยังไม่ราบรื่นนัก การหยุดรถกะทันหัน และระยะเวลาที่ใช้ในการเดินทางมากกว่าแท็กซี่ทั่วไป นอกจากนี้ยังมีปัญหาเชิงเทคนิค ซึ่งเป็นผลมาจากเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับโรโบแท็กซี่ ไม่ว่าจะเป็นระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ระบบเซ็นเซอร์ และเทคโนโลยีแผนที่ออนไลน์ที่ยังขัดข้องในบางครั้ง

อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในจีนที่มีต่อบริการแท็กซี่ไร้คนขับสูงถึง 50 จุด จาก 100 จุด ซึ่งสูงกว่าระดับความเชื่อมั่นต่อโรโบแท็กซี่ของชาวอเมริกันที่ยังคงอยู่ที่ 36 จุด ตามข้อมูลของบริษัทวิจัยการตลาด เจ. ดี. พาวเวอร์ (J.D. Power) ก็สะท้อนให้เห็นโอกาสเติบโตของธุรกิจโรโบแท็กซี่ในจีนที่อาจแซงหน้าสหรัฐได้ในไม่ช้า