จับตาปัญหาเศรษฐกิจ สุดซับซ้อนที่ ‘ญี่ปุ่น’

คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจ
ผู้เขียน : ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

ทั่วโลกรู้กันดีว่า “ฮารุฮิโกะ คูโรดะ” ผู้ว่าการธนาคารกลาง หรือแบงก์ชาติของญี่ปุ่น ใช้เวลาตลอดระยะ 9 ปีที่ผ่านมา อัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ตลาด ผ่านมาตรการต่าง ๆ ทั้งการกำหนดอัตราดอกเบี้ยต่ำเตี้ยจนถึงขนาดติดลบ และมาตรการกว้านซื้อพันธบัตรรัฐบาล เพื่อสร้างเม็ดเงินสำหรับนำไปใช้ในโครงการอุดหนุนต่าง ๆ จากภาครัฐมากมาย

เป้าหมายเพื่อกระตุกให้เกิดภาวะเงินเฟ้อขึ้น 2% ภายในประเทศ ที่เชื่อกันว่าจะนำไปสู่การเพิ่มอัตราค่าจ้างและกำลังซื้อขึ้นตามมา นำเศรษฐกิจของญี่ปุ่นหลุดพ้นจากบ่วง ภาวะเงินฝืด ที่ประเทศติดกับอยู่นานกว่าสองทศวรรษเต็ม ๆ เสียที

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจก็คือ ในเวลานี้สถานการณ์สงครามที่เกิดขึ้นในยูเครนทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อแผ่กระจายออกไปทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่กับประเทศญี่ปุ่น ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์พากันคาดการณ์ว่า จะเริ่มได้เห็นภาวะเงินเฟ้อที่ระดับ 2% หรืออาจจะสูงกว่านั้น ในช่วงไม่ช้าไม่นานนี้

ราคาสินค้าหลายสิ่งหลายอย่างถีบตัวขึ้นสูงมากในญี่ปุ่น ราคาพลังงานกระโดดพรวดขึ้นไป 20.8% สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 1981 ราคาน้ำมันปรุงอาหาร เพิ่มรวดเดียว 34.7% ดัชนีราคาผู้ผลิต สำหรับใช้วัดเงินเฟ้อในระดับขายส่ง เพิ่มขึ้น 9.5% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของหนึ่งปีที่ผ่านมา

ภาวะเงินเฟ้อพุ่งขึ้นตามที่ต้องการ แล้วทำไมถึงไม่มีใครตื่นเต้นดีใจกัน ?

คำตอบคร่าว ๆ ที่พอจะทำให้เข้าใจเหตุผลได้ดีที่สุดก็คือ เป็นเพราะภาวะเงินเฟ้อที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในเวลานี้ ไม่ใช่ภาวะเงินเฟ้อแบบที่ญี่ปุ่นต้องการนั่นเอง

ภาวะเงินเฟ้อของญี่ปุ่นในเวลานี้ เป็นภาวะเงินเฟ้อที่ “นำเข้า” มาจากสถานการณ์ภายนอกประเทศ ไม่ใช่เงินเฟ้อที่เกิดขึ้นจากการเคลื่อนไหวขยายตัวตามกลไกของเศรษฐกิจภายในประเทศ

เงินเฟ้อนำเข้าที่ว่านี้ รังแต่จะทำให้ผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นซื้อหาข้าวของเครื่องอุปโภคบริโภคลดลงไปอีก ไม่ใช่ซื้อเพิ่มมากขึ้น ไม่ก่อให้เกิดการขึ้นค่าแรงภายในประเทศ ที่จะทำให้เงินในกระเป๋าของคนญี่ปุ่นเพิ่มมากขึ้น เพิ่มการจับจ่าย
ใช้สอยกันมากขึ้น ก่อให้เกิดกลไกต่อเนื่องที่ทำให้เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวเติบโตอีกครั้งแต่อย่างใดทั้งสิ้น

ปัญหาของญี่ปุ่นอยู่ตรงที่สินค้าต่าง ๆ ทั้งที่เป็นสินค้าเพื่อการบริโภค หรือสินค้าที่เป็นวัตถุดิบ แทบทั้งหมดเป็นการนำเข้ามาจากต่างประเทศ

สินค้าอาหารที่คนญี่ปุ่นบริโภคกันอยู่ 60% เป็นสินค้าที่นำเข้า พลังงานที่ใช้กันอยู่ในประเทศ 95% เป็นพลังงานที่นำเข้าจากภายนอกประเทศ โดยเฉพาะพลังงานน้ำมัน

ที่ผ่านมา โครงการอุดหนุนจากภาครัฐ ช่วยให้สินค้าเหล่านี้คงระดับราคาอยู่ในระดับต่ำ พร้อม ๆ กับที่ไม่กระทบต่อบริษัทธุรกิจ ที่สามารถส่งผ่านต้นทุนสูงออกไปได้

รัฐบาลของนายกรัฐมนตรี “ฟูมิโอะ คิชิดะ” ก็ยืนกรานจะทำแบบเดียวกันนั้น เพื่อให้ชาวญี่ปุ่นสามารถรับมือกับราคาสินค้าที่พุ่งพรวดได้

คิชิดะเชื่อด้วยว่า สถานการณ์เช่นนี้อาจช่วยผลักดันแนวนโยบายของรัฐบาลใหม่ที่ต้องการสร้าง “ทุนนิยมในรูปแบบใหม่” เพื่อกระจายรายได้จากบริษัทธุรกิจที่มั่งคั่งไปสู่ประชาชนทั่วไปให้มากขึ้นด้วยการก่อให้เกิดสภาวะแวดล้อมที่เหมาะกับการขึ้นค่าแรงขึ้นในประเทศ

แต่การผลักดันให้บริษัทผู้ผลิตขึ้นค่าแรงในยามที่ต้นทุนและวัตถุดิบทุกอย่างแพงขึ้น ดูเหมือนเป็นเรื่องยากยิ่งกว่าการเข็นครกขึ้นภูเขาในสายตาของนักเศรษฐศาสตร์

นั่นทำให้เงินเฟ้อที่เกิดขึ้นคราวนี้ไม่เป็นผลดีใด ๆ ต่อเศรษฐกิจของญี่ปุ่นเลยแม้แต่น้อย

และที่ทำให้ปัญหาซับซ้อนมากยิ่งขึ้นคือการดิ่งลงอย่างรวดเร็วของค่าเงินเยน ที่ร่วงลงไปกว่า 10% แล้วในปีนี้ อันจะส่งผลให้ช่องว่างของความมั่งคั่งที่คิชิดะตั้งเป้าจะบีบให้ลดน้อยลง มีแต่จะถ่างกว้างมากขึ้น

ที่สำคัญที่สุดก็คือ “ค่าเงินเยน” ยิ่งร่วงลงไปมากเท่าใด ปริมาณหนี้ของรัฐบาลก็จะยิ่งพอกพูนมากขึ้นเป็นเงาตามตัว

อย่าลืมว่า ในเวลานี้ ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีหนี้สินมากที่สุดในโลก จากมาตรการกระตุ้นเงินเฟ้อในช่วง 8-9 ปีที่ผ่านมา สัดส่วนของหนี้รัฐบาลที่อยู่ในมือของแบงก์ชาติญี่ปุ่นสูงถึง 92% ของจีดีพี ในปี 2020 เทียบกับ 22% ในสหรัฐอเมริกา และ 18% ในเยอรมนี ถือว่าหนักหนาสาหัสอย่างยิ่ง

ขณะที่แนวทางแก้ปัญหาเงินเฟ้อและค่าเงิน อย่างเช่น การขึ้นอัตราดอกเบี้ย ก็ทำไม่ได้ เพราะจะส่งผลให้เศรษฐกิจชะงักงันและหดตัวมากยิ่งขึ้นไปอีก

คำถามสำคัญที่สุดในเวลานี้ก็คือ สถานการณ์เช่นนี้จะนำไปสู่อะไร ?

เป็นอย่างที่นักเศรษฐศาสตร์หลายคนเตือนเอาไว้ว่า “ญี่ปุ่น” กำลังเผชิญกับปัญหาซึ่งสามารถทำให้เศรษฐกิจหดตัวลงอย่างต่อเนื่องในระยะยาว

หรือกลับมายืนหยัดขยายตัวใหม่ได้อีกครั้ง อย่างที่แบงก์ชาติยืนกรานกันแน่นั่นเอง