เงินเยนอ่อนคนไทยแห่แลก ลุ้นเที่ยวญี่ปุ่นเปิดประเทศ ต.ค.นี้

เงินเยน

คนไทยแห่แลก “เงินเยน” ลุ้นเที่ยวญี่ปุ่น ต.ค.นี้ ค่าเงินแดนซามูไรอ่อนค่าสูงสุดรอบ 20 ปี “ttb analytics” ชี้โอกาสอ่อนแตะ 130 เยน/ดอลลาร์ เหตุนโยบาย “บีโอเจ” ผ่อนคลายสวนทาง “เฟด” ดึงสภาพคล่องกลับ “กสิกรไทย” ชี้เยนอ่อนค่ามากสุดในสกุลเงินเอเชีย ลูกค้า “ซุปเปอร์ริชสีส้ม”แลกรายละ 3 แสนเยน ลูกค้า “YouTrip” แลกเงินพุ่ง 2 เท่าทุกเดือน

นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี (ttb analytics) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ค่าเงินเยนที่อ่อนค่ามากสุดในรอบ 20 ปี มีโอกาสอ่อนค่าไปแตะ 130 เยนต่อดอลลาร์ จากสัญญาณการใช้นโยบายการเงินที่มีความแตกต่างกันระหว่างญี่ปุ่นกับสหรัฐ

โดยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เดินหน้านโยบายการเงินตึงตัว และดึงสภาพคล่องกลับ ส่วนธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ทำนโยบายการเงินผ่อนคลายเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ ทำให้ตลาดมีการคาดการณ์ว่าญี่ปุ่นจะมีสภาพคล่องล้นมาก

“เฟดมีนโยบายปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและลดงบดุล โดยในการประชุมเดือน พ.ค. 65 คาดการณ์ว่าจะเฟดจะขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ซึ่งหากเฟดขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง และปลายปีนี้อัตราดอกเบี้ยไปอยู่ที่ 2.5-3% โดยที่บีโอเจไม่มีทีท่าจะปรับนโยบายการเงินตาม จะยิ่งทำให้ส่วนต่างดอกเบี้ยถ่างมากขึ้น ค่าเงินเยนจะอ่อนค่า แต่การอ่อนค่าก็มีจุดต่ำ เพราะตลาด Price in ไปแล้ว คล้ายกับก่อนหน้านี้ที่ญี่ปุ่นทำให้เงินเยนอ่อนค่าเพื่อกระตุ้นการส่งออก” นายนริศกล่าว

เงินเยนอ่อนค่าแล้วเกือบ 6%

นางสาวกฤติกา บุญสร้าง นักวิเคราะห์งานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า การที่เงินเยนอ่อนค่าค่อนข้างมากช่วงนี้มาจากกระแสการเทขายพันธบัตร (บอนด์) ที่ค่อนข้างรุนแรง ส่งผลให้ธนาคารกลางญี่ปุ่นต้องเข้ามาซื้อบอนด์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นแรงกดดันให้เงินเยนอ่อนค่า

รวมถึงการที่เงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้นจากการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐจะปรับขึ้นดอกเบี้ย ก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้เงินเยนอ่อนค่า

ทั้งนี้ ค่าเงินเยนมีแนวโน้มอยู่ในฝั่งอ่อนค่าต่อเนื่อง โดยในปีนี้ ค่าเงินเยนอ่อนค่าราว 5.56% แล้ว (ณ สิ้นเดือน มี.ค. 2565) อ่อนค่าที่สุดในกลุ่มค่าเงินสกุลเอเชีย

ก่อนหน้านี้ ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และกรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ ระบุว่า เงินเยนอ่อนค่าสุดในรอบ 20 ปี โดยอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่วัน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากญี่ปุ่นยังต้องพยุงเศรษฐกิจของตนเองไว้ พยายามกดดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาล

โดยธนาคารกลางญี่ปุ่นได้เพิ่มขนาดของ Balance Sheet หรืองบดุลของตนเองอย่างรวดเร็วในช่วงตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา สวนทางกับหลาย ๆ ธนาคารกลางที่กำลังจะดูดสภาพคล่องกลับ

“ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าแปลกใจที่นักลงทุนจึงกังวลใจและเทขายเงินเยนมาตั้งแต่ต้น มี.ค.ที่ผ่านมา และส่งผลให้ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงเป็นประวัติการณ์” ดร.กอบศักดิ์ระบุ

ดร.กอบศักดิ์ยังระบุด้วยว่า คนที่อยากไปเที่ยวญี่ปุ่น ตอนนี้ถือว่าเป็นอัตราที่ดีมากที่แลกจากบาทดีสุดในรอบ 15 ปี

คนไทยแห่แลกเงินเยนตุน

นายปิยะ ตันติเวชยานนท์ ประธานกรรมการ บริษัท ซุปเปอร์ริชเคอเรนซี่ เอ็กซ์เชนจ์ (1965) หรือ “ซุปเปอร์ริชสีส้ม” เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในช่วงที่แนวโน้มค่าเงินเยนอ่อนค่าลงมาในรอบ 20 ปี อยู่ในระดับ 26 บาทต่อ 100 เยน เริ่มเห็นสัญญาณลูกค้าทยอยเข้ามาแลกซื้อเงินเยนเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่อง ตั้งแต่เดือน มี.ค.เป็นต้นมา ซึ่งคนไทยนิยมไปท่องเที่ยวญี่ปุ่นค่อนข้างมาก จึงเป็นโอกาสที่ดี ที่ลูกค้าทยอยแลกซื้อเงินเยนไว้ล่วงหน้า

“กลุ่มที่มาแลกเงินเยนเก็บไว้เป็นกลุ่มที่มีการวางแผนจะไปเที่ยวญี่ปุ่นอยู่แล้ว โดยธุรกรรมการแลกซื้อเฉลี่ยอยู่ที่ 3 แสนเยนต่อราย หรือ ราว ๆ เกือบ 8 หมื่นบาทต่อราย แม้จะไม่สูงเทียบเท่าก่อนช่วงเกิดโควิด-19 ระบาดที่มียอดการแลกซื้อเฉลี่ยราว 1 ล้านเยนต่อราย แต่ก็ถือว่าเพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนหน้านี้” นายปิยะกล่าว

“ดอลลาร์-ยูโร-เยน” ฮอต!

นายปิยะกล่าวว่า ช่วงนี้สกุลเงินที่มียอดขายมากที่สุดในไตรมาสที่ 1/2565 ใน 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.เงินดอลลาร์สหรัฐ 2.เงินยูโร 3.เงินเยน 4.เงินปอนด์สเตอร์ลิง และ 5.เงินฟรังก์สวิส โดยไม่เพียงเงินเยนที่มีคนมาแลกเพิ่มขึ้นเท่านั้น

แต่ภาพรวมปริมาณธุรกรรมแลกเงินทุกสกุลก็เพิ่มขึ้นราว 30-40% ส่วนหนึ่งมาจากการเปิดประเทศของหลายประเทศ และการผ่อนคลายมาตรการ Test & Go ของไทยที่ช่วยสนับสนุนให้นักท่องเที่ยวเข้ามา ทำให้มีปริมาณธุรกรรมทั้งขาเข้าและออก

โดยตัวเลขยอดขายในเดือน มี.ค.อยู่ที่ 1,620 ล้านบาท คิดเป็นการเติบโต 133% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อนยอดขายอยู่ที่ 696 ล้านบาท และจำนวนลูกค้าอยู่ที่ 8,249 ราย เติบโตเพิ่มขึ้น 388% จากปีก่อนที่อยู่ 1,689 ราย

“หลังจากค่าเงินเยนอ่อนค่า ลูกค้าเข้ามาแลกเงินเยอะขึ้น เพื่อรอญี่ปุ่นเปิดประเทศ ซึ่งโดยปกติคนไทยชื่นชอบไปเที่ยวญี่ปุ่นอยู่แล้ว และคนยังคงนิยมใช้เงินสดมากกว่าการใช้บัตร ทำให้ยอดขายเติบโตเพิ่มขึ้น โดยภาพรวมเราหวังยอดธุรกรรมเฉลี่ยอยู่ที่ 3,000 ล้านบาทต่อเดือน” นายปิยะกล่าว

ล็อกเรตแลกพุ่ง 2 เท่าทุกเดือน

นางสาวจุฑาศรี คูวินิชกุล ผู้ร่วมก่อตั้ง YouTrip ประเทศไทย กล่าวว่า ลูกค้า YouTrip จำนวนมากก็มีการมาแลกเงินเยนเก็บไว้มากขึ้นในช่วงที่เงินเยนอ่อนค่าสูงสุดในรอบ 20 ปี โดยช่วงตั้งแต่เดือน ม.ค.-เม.ย. 2565 มีการแลกเงินไว้ล่วงหน้า หรือล็อกเรตล่วงหน้าเพื่อเตรียมตัวไปเที่ยว สำหรับการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นประมาณ 2 เท่าในทุก ๆ เดือน

ขณะที่ภาพรวมการใช้จ่ายเป็นสกุลต่างประเทศ ทั้งในร้านค้าที่ต่างประเทศ และใช้จ่าย online ในช่วงไตรมาสที่ 1/2565 มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 185% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสกุลเงินที่มีการใช้จ่ายมากที่สุดในช่วงสงกรานต์ 5 อันดับแรก ได้แก่ ยูโร, ปอนด์สเตอร์ลิง, ดอลลาร์, ฟรังก์สวิส, ดอลลาร์สิงคโปร์ เป็นต้น”

เช่นเดียวกับความเห็นของนายอมร สุวจิตตานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ปริมาณธุรกรรมแลกซื้อเงินตราต่างประเทศ โดยเฉพาะสกุลเงินเยน-ญี่ปุ่นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามสัญญาณการอ่อนค่าของค่าเงินในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย. ซึ่งมีลูกค้าเข้ามาทยอยแลกเงินเยนเตรียมตัวไปท่องเที่ยว

ประกอบกับปัจจุบันการเดินทางไปญี่ปุ่นค่อนข้างง่าย ทำให้เห็นปริมาณธุรกรรมการแลกเงินเยนที่เป็นแบบครอบครัวเพิ่มขึ้น โดยกลุ่มดังกล่าวจะเข้ามาทยอยแลกเก็บธุรกรรมเฉลี่ยราว 1 แสนบาท เมื่อเทียบกับรายบุคคลจะอยู่ที่ 5 หมื่นบาท

ลุ้นไทยไปญี่ปุ่นได้ ต.ค. 65

นายเอนก ศรีชีวะชาติ นายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย-ญี่ปุ่น เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากกรณีที่ค่าเงินเยนอ่อนค่าที่สุดในรอบ 20 ปี ทำให้มีชาวไทยส่วนหนึ่งแลกเงินเยนเก็บไว้ ประเมินว่า กระแสดังกล่าวเป็นการที่คนไทยรีบแลกเงินเยนเอาไว้ก่อน เพื่อรอประกาศการเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวของทางการญี่ปุ่น

ส่วนปัญหาเงินเยนอ่อนค่าจะกระทบต่อนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นที่จะเดินทางเข้าประเทศไทยในอนาคตหรือไม่นั้น นายเอนกประเมินว่า อาจส่งผลต่อการตัดสินใจออกเดินทางท่องเที่ยวอยู่บ้าง แต่ในภาพรวมอาจไม่ส่งผลกระทบมากนัก เนื่องจากฐานะทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นยังอยู่ในระดับดีกว่าประเทศไทย

ปัจจัยหลักที่ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวทั้งสองฝั่งมากหรือน้อยนั้น ขึ้นอยู่กับมาตรการการเปิดปรเทศเป็นหลัก โดยปัจจุบันประเทศไทยมีมาตรการต้อนรับนักท่องเที่ยวที่ผ่อนคลายมากกว่าทางประเทศญี่ปุ่น ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลญี่ปุ่นอนุญาตให้ชาวต่างชาติที่มีจุดประสงค์ เช่น เพื่อติดต่อธุรกิจ เพื่อศึกษาต่อ ให้เดินทางเข้าญี่ปุ่นได้ ยกเว้นการเดินทางเพื่อการท่องเที่ยว และการยื่นขอวีซ่าของประเทศญี่ปุ่นยังคงมีขั้นตอนที่ซับซ้อนอยู่

นายเอนกกล่าวต่อว่า ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวของญี่ปุ่นเริ่มแจ้งความประสงค์นำนักท่องเที่ยวเข้ามายังประเทศไทยในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ซึ่งทั้งหมดต้องรอความชัดเจนของนโยบายรัฐบาลทั้งสองฝั่ง ว่าจะผ่อนคลายมาตรการอย่างแท้จริงเมื่อใด

“ถ้ามีการเปิดประเทศอย่างจริงจังทั้งสองฝั่ง เชื่อว่ามีนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นเดินทางเข้ามาแน่นอน และเดิมคาดว่าทางการญี่ปุ่นอาจผ่อนคลายให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมนี้ แต่จากการพูดคุยกับผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นกลับประเมินว่าญี่ปุ่นอาจผ่อนคลายมาตรการในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ช้ากว่าที่ตนคาดการณ์ไว้” นายเอนกกล่าว

ทั้งนี้ ประเมินว่าญี่ปุ่นยังเป็นประเทศที่คนไทยอยากไปเยือนเป็นอันดับต้น ๆ ร่วมกับประเทศในภูมิภาคอาเซียน สอดคล้องกับข้อมูลจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุว่า ในปี 2562 ก่อนสถานการณ์โควิด-19 มีนักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางไปยังประเทศญี่ปุ่นจำนวน 1,148,680 คน สูงสุดเป็นอันดับ 3 รองจากมาเลเซีย (1.7 ล้านคน), ลาว (1.3 ล้านคน)