วัคซีนไข้ทรพิษ รักษาฝีดาษลิง หาไม่ง่ายและเกือบหายจากสต๊อกยาโลก

REUTERS/Dado Ruvic/Illustration

ฝีดาษลิง ป้องกันได้ด้วยวัคซีนไข้ทรพิษ แต่วัคซีนไข้ทรพิษไม่ได้มีแพร่หลายในทุกประเทศ แถมเกือบถูกทำให้หายจากคลังวัคซีนโลก

วันที่ 23 พฤษภาคม 2565 การระบาดของโควิด-19 ในหลายประเทศมีแนวโน้มดีขึ้น รัฐบาลผ่อนปรนหลายมาตรการรวมถึงอนุญาตให้ปลดหน้ากากในที่สาธารณะ ตรงข้ามกับบางประเทศที่การระบาดมีแนวโน้มยังคงรุนแรงอยู่ ท่ามกลางระบาดใหญ่ของโควิดที่ยังไม่คลี่คลายดี แต่โลกกำลังจับตาการระบาดใหม่ที่มีต้นกำเนิดจากไวรัสยุคโบราณนั่นคือ “โรคฝีดาษลิง” (Monkeypox)

การระบาดของฝีดาษลิงที่เริ่มพบในหลายประเทศ ทำให้เมื่อ 21 พ.ค. ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลกถึงขั้นต้องจัดประชุมฉุกเฉินเพื่อหารือเกี่ยวกับการระบาดของฝีดาษลิงนี้โดยเฉพาะ ซึ่งโรคดังกล่าวเป็นโรคที่พบได้บ่อยในทวีปแอฟริกาตะวันตกและแอฟริกากลาง หลังจากมีการยืนยันว่าพบผู้ติดเชื้อไวรัสชนิดนี้มากกว่า 100 คนแล้วในยุโรป ซึ่งที่ผ่านมาแทบไม่เคยพบการระบาดนอกทวีปแอฟริกามาก่อน

อนามัยโลกกล่าวว่า หากเทียบกับโรคฝีดาษ (SmallPox) หรือไข้ทรพิษ ตามชื่อโรคในภาษาทางการ ซึ่งเป็นเชื้อโรคโบราณที่เคยระบาดมาก่อนในยุค ค.ศ.ที่ 17 นั้น โรคฝีดาษลิงถือว่ามีอันตรายน้อยกว่า และติดเชื้อได้ยากกว่าโรคไข้ทรพิษโดยทั่วไป อย่างไรก็ตาม แม้ฝีดาษลิงจะยังไม่มีวัคซีนหรือยารักษาโดยตรง แต่ WHO ชี้ว่า โรคฝีดาษลิงสามารถป้องกันได้ด้วย “วัคซีนไข้ทรพิษ” ซึ่งเป็นวัคซีนสำหรับโรคฝีดาษทั่วไปมีประสิทธิภาพป้องกันโรคฝีดาษลิงอย่างมีประสิทธิภาพถึงร้อยละ 85 

CDC/Handout via REUTERS

ฝีดาษ โรคโบราณที่เกือบถูกลืม

ฝีดาษลิง ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม  Orthopoxvirus ซึ่งเป็นไวรัสสายพันธุ์ใกล้เคียงกับไข้ทรพิษ ทว่าในปัจจุบันการระบาดของ “โรคไข้ทรพิษ” องค์การอนามัยโลกประกาศว่าหมดจากโลกของเราไปแล้ว โดยในอดีตไข้ทรพิษเคยระบาดสร้างความรุนแรงไปทั่วโลก สำหรับไทยพบการระบาดของไข้ทรพิษครั้งแรกในสมัยกรุงศรีอยุธยา พ.ศ.2460 จากนั้นพบการระบาดอย่างต่อเนื่องทุกปี

โดยมีการระบาดใหญ่ครั้งล่าสุดช่วงรัชสมัยรัชกาลที่ 6 และพบระบาดบางส่วนในช่วงรัชกาลที่ 9 ทว่าเมื่อเข้าสู่โลกยุคใหม่ที่เริ่มมีการฉีดวัคซีนและการปลูกฝีในประเทศแพร่หลาย การระบาดของไข้ทรพิษลดลง กระทั่งภายหลังปี พ.ศ. 2523 องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศว่าไข้ทรพิษถูกกวาดล้างหมดไปจากโลกแล้ว นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไม เมื่อฝีดาษลิงกลับมาระบาด กลุ่มประชากรที่เกิดภายหลังปี พ.ศ. 2523 จึงเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อโรคฝีดาษลิง เนื่องจากส่วนมากแทบไม่ได้รับการปลูกฝีหรือฉีดวัคซีนไข้ทรพิษเป็นวัคซีนภาคบังคับแล้ว

แม้โรคฝีดาษถูกกวาดล้าง (Eradicate) หมดไปจากโลกนับตั้งแต่ปี 2523 แล้ว แต่ปัจจุบันยังคงมีการเก็บตัวอย่างเชื้อฝีดาษที่มีชีวิตไว้สำหรับการศึกษาเพิ่มเติม โดยปัจจุบันมีเพียงห้องทดลองของรัฐบาลสองชาติเท่านั้น คือ

ห้องทดลองโรคติดเชื้อของศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐ (CDC) แอตแลนตา รัฐจอร์เจีย และศูนย์วิจัยไวรัสวิทยาและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งรัฐของรัสเซีย (VECTOR) เขตในโนโวซีบีร์สค์ ภูมิภาคไซบีเรีย ซึ่งทั้งสองล้วนเป็นสถานที่เก็บตัวอย่างเชื้อโรคอันตรายหลายชนิด ตั้งแต่ อีโบลา แอนแทรกซ์ รวมถึงไข้ทรพิษ ภายใต้ข้อกำหนดเพื่อวิจัยทางการแพทย์และความมั่นคงสำหรับป้องกันอาวุธชีวภาพ 

REUTERS/Christine Uyanik

ห้องแล็บทั้งสองเป็นเพียงแห่งเดียวที่ได้รับอนุญาตจากอนามัยโลกให้เก็บไวรัสไข้ทรพิษที่มีชีวิตได้

แม้ไม่พบไข้ทรพิษระบาดบนโลก แต่ปี พ.ศ. 2529 องค์อนามัยโลกได้แนะนำให้ทำลายเชื้อไข้ทรพิษที่ยังมีชีวิตอยู่ซึ่งถูกเก็บในห้องแล็บทั้งสอง โดยว่าเป็นความเสี่ยงที่อาจรั่วไหลโดยไม่ได้ตั้งใจ หรืออาจถูกนำไปใช้เป็นอาวุธชีวภาพ แต่อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์หลายคนโต้แย้งว่าตัวอย่างไวรัสที่มีชีวิตที่เหลืออยู่นั้นอาจเป็นภัยคุกคาม และไวรัสที่ร้ายแรงควรถูกกำจัดออกจากโลกทั้งหมด ขณะที่นักวิทยาศาสตร์บางส่วนโต้แย้งว่าตัวอย่างมีความจำเป็นสำหรับการวิจัยเกี่ยวกับการรักษาและพัฒนาวัคซีนที่ดีขึ้น 

ที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลกมีการถกเถียงเรื่องนี้มานานแล้วว่าควรเก็บตัวอย่างเชื้อที่มีชีวิตของโรคฝีดาษไว้หรือไม่ กระทั่งปี 2545 อนามัยโลกเห็นพ้องที่จะอนุญาตให้เก็บไวรัสไว้ชั่วคราวเพื่อวัตถุประสงค์ในการวิจัยเฉพาะ แต่ต้องอยู่ภายใต้ความปลอดภัยอันเข้มงวดอย่างยิ่ง นักวิทยาศาสตร์จะต้องสแกนลายนิ้วมือหรือจอตาเพื่อเข้าไปข้างใน จะสวมชุดเต็มตัว

รวมทั้งถุงมือและแว่นตา และอาบน้ำด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อก่อนออกจากห้องปฏิบัติการในทุกครั้งที่ทำการทดลองกับไวรัสมรณะเหล่านี้ โดยครั้งหนึ่งมีชาติสมาชิกอนามัยโลกเสนอแนะให้นำตัวอย่างเชื้อไปเก็บไว้บนสถานีอวกาศนานาชาติเพื่อความปลอดภัยจากการรั่วไหลหรือถูกนำไปทำอาวุธร้ายแรง 

แม้ห้องแล็บทั้งสองจะได้รับอนุญาตให้เก็บรักษาเชื้อที่มีชีวิตไว้ได้ ทว่าล่าสุดเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา CDC สหรัฐได้รับรายงานพบตัวอย่างเชื้อฝีดาษที่ยังมีชีวิต 6 ขวด ถูกเก็บในช่องแช่แข็งในศูนย์วิจัยวัคซีนของบริษัทยา Merck & Co. ที่รัฐเพนซิลเวเนีย จากการสอบสวนของ FBI ระบุว่า การพบนี้เป็นการพบโดยบังเอิญภายในห้องแช่แข็งเก่าของบริษัท 

REUTERS/Dado Ruvic/Illustration

เกือบหายจากสต๊อกวัคซีน

ด้วยความที่ถูกมองว่าเป็นโรคที่ไม่ได้พบการระบาดแล้ว วัคซีนไข้ทรพิษ ซึ่งมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคฝีดาษลิงได้นั้น จึงไม่ถูกจัดเป็นวัคซีนสำคัญที่ต้องแจกจ่ายอย่างแพร่หลายเหมือนวัคซีนชนิดอื่น ปัจจุบันมีวัคซีนไข้ทรพิษเพียง 2 ชนิดที่ได้รับการอนุมัติจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐคือ ACAM200 และ JYNNEOS (หรือที่รู้จักในชื่อ Imvamune หรือ Imvanex) เป็นวัคซีนสองชนิดที่ได้รับอนุญาตในปัจจุบันในสหรัฐอเมริกาเพื่อป้องกันไข้ทรพิษ โดย JYNNEOS ยังได้รับอนุญาตโดยเฉพาะเพื่อป้องกันโรคฝีดาษ

แต่วัคซีนสองชนิดนี้ก็ไม่ได้หาง่ายตามโรงพยาบาลทั่วไป วัคซีนโรคฝีดาษจัดเป็นวัคซีนเชิงกลยุทธ์ (Strategic National Stockpile) ที่มีจำนวนจำกัดและถูกจัดเก็บคงคลังภายใต้การควบคุมของ CDC สหรัฐโดยตอนนี้ได้รับอนุญาตให้ใช้ได้เฉพาะกรณีฉุกเฉิน หรือต่อเจ้าหน้าที่บุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเสี่ยงปฏิบัติงานใกล้ชิดกับโรคฝีดาษเท่านั้น

ด้วยความที่เป็นโรคซึ่งไม่พบการระบาดแล้ว จึงไม่ชัดเจนนักว่านอกเหนือสหรัฐจะมีประเทศอื่นที่จัดเก็บวัคซีนไข้ทรพิษ ซึ่งสามารถป้องกันเชื้อฝีดาษลิงได้นั้นในจำนวนเท่าใด โดยประเทศล่าสุดที่เปิดเผยว่ามีวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษในคลังวัคซีนเชิงกลยุทธ์คือ เกาหลีใต้ โดยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งเกาหลี (KCDC) เปิดว่า สามารถจัดหาวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษแจกจ่ายแก่ประชาชน 35 ล้านคนในทันที หากพบการระบาดของฝีดาษลิงในประเทศ

ทั้งนี้ แม้บรรดานักวิทยาศาสตร์จะเฝ้าจับตาการระบาดของฝีดาษลิง แต่ก็เชื่อว่าการระบาดของฝีดาษลิงจะไม่พัฒนาไปสู่การระบาดใหญ่เหมือนกับไวรัสโควิด-19 เนื่องจากไวรัสฝีดาษลิง ไม่ได้ระบาดง่ายเหมือนไวรัสโควิด SARS-COV-2 อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการพบโรคฝีดาษลิงที่ระบาดวงกว้างในหลายชาติรอบนี้ คงทำให้บรรดานักวิทยาศาสตร์และองค์การอนามัยโลกต้องปรับมุมมองต่อไวรัสมรณะจากยุคโบราณเหล่านี้เสียใหม่