วิกฤตหนี้ศรีลังกา จีนเข้าแทรกแซงการเจรจากับ IMF ให้กู้เพิ่มได้ แต่ไม่ลด

Motorists queue up outside a fuel station to buy gasoline in Colombo, Sri Lanka, Friday, May 20, 2022. (AP Photo/Eranga Jayawardena)

วิกฤตเศรษฐกิจที่ศรีลังกาเผชิญอยู่ ส่วนหนึ่งมาจากการเป็นหนี้จีนจำนวนมหาศาล การเจรจากับไอเอ็มเอฟเพื่อหาทางแก้ไข จีนเข้ามามีบทบาทสำคัญ

วันที่ 22 พฤษภาคม 2565 สำนักข่าว เอพี ของสหรัฐอเมริกา รายงานวิเคราะห์สถานการณ์วิกฤตหนี้มหาศาลของศรีลังกา ที่มีจีนเข้ามามีบทบาทหลัก ในฐานะเจ้าหนี้รายใหญ่และรายสำคัญ

จีนชูโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง เพื่อผลักดันการค้าในภูมิภาค ด้วยการออกเงินกู้ให้ก่อการสร้างท่าเรือและโครงสร้างพื้นที่ทั่วเอเชียและแอฟริกา

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับศรีลังกาก็คือ การเป็นหนี้จีนหลายพันล้านดอลลาร์ คุกคามความพยายามที่จะแก้ไขวิกฤตด้านการเงินขั้นร้ายแรง ถึงขั้นไม่สามารถนำเข้าน้ำมันและอาหารได้

หวั่นมีอีกหลายชาติเหมือนศรีลังกา

การดิ้นรนของศรีลังกาดูสุดขั้ว แต่ก็สะท้อนสภาพของประเทศอื่นๆ อีกหลายสิบประเทศ จากหมู่เกาะแปซิฟิกไปจนถึงชาติที่ยากจนที่สุดในเอเชียและแอฟริกาที่ลงนามร่วมข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative) ของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง

ศรีลังกาและชาติยากจนอื่นของเอเชีย ยินดีที่จีนมาช่วยทุ่มการลงทุนในประเทศ ขณะที่ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย หรือ เอดีบี ระบุว่า ภูมิภาคจำเป็นต้องลงทุนให้ได้ปีละ 1.7 ล้านล้านดอลลาร์ เพื่อรักษาการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

FILE- นายมหินทา ราชปักษา ต้อนรับนายสี จิ้นผิง เมื่อ 22 พ.ค. 2014  (AP Photo/Eranga Jayawardena, File)

แต่มีเสียงวิจารณ์จากคนศรีลังกาว่า รัฐบาลใช้จ่ายเกินตัว และว่าโครงการที่นำโดยจีน ลงทุนมากเกินไปทั้งที่ส่งผลดีต่อศรีลังกาน้อยมาก

หนี้ของชาติยากจนทั้งหมดล้วนสูงขึ้น จึงเพิ่มความเสี่ยงว่า ชาติอื่นๆ จะถลำเข้าสู่ปัญหาเช่นเดียวกับศรีลังกา

ประชากร 22 ล้านคนของศรีลังกาอยู่ในภาวะลำบากยากเข็ญ กระแสเงินต่างประเทศร่อยหรอตั้งแต่เดือนเมษายน นำไปสู่ภาวะอาหารขาดแคลน ประชาชนประท้วงไล่นายมหินทา ราชปักษา ให้ลาออก ส่วนหนี้ที่ศรีลังกา กู้ยืมจีน ญี่ปุ่น และชาติอื่นๆ ต้องระงับไว้

จีนลั่นแสดงบทบาทถกไอเอ็มเอฟ

จีนรั้งอันดับสาม รองจากญี่ปุ่น และเอดีบี ที่เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของศรีลังกา และครองสัดส่วนหนี้อยู่  10% แต่รัฐบาลจีนมีศักยภาพล้นเหลือกับการจัดการเกี่ยวกับเรื่องหนี้

รัฐบาลจีนสัญญาว่าจะแสดงบทบาทเชิงบวกในการเจรจากับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ ถึงเรื่องเงินกู้ฉุกเฉินให้ศรีลังกา โดยจีนเสนอที่จะให้ยืมมากขึ้น แต่ต้องอยู่ร่วมในกระบวนการที่ไม่ให้มีการตัดลดหนี้ของศรีลังกา เพราะกลัวว่า ลูกหนี้รายอื่นๆ ในโครงการหนึ่บแถบหนึ่งเส้นทาง จะเรียกร้องการผ่อนปรนหนี้แบบเดียวกัน

FILE – Chinese construction worker stands on land that was reclaimed from the Indian Ocean for the Colombo Port City project, i  (AP Photo/Eranga Jayawardena, File)

“ถ้าจีนโอนอ่อนให้ศรีลังกา ก็จะต้องยอมโอนอ่อนให้ลูกหนี้รายอื่นๆ พวกเขาไม่อยากยุ่งยากแบบนั้นแน่” นายดับเบิลยู. เอ. วิเชวาร์เดนา นักเศรษฐศาสตร์ที่เคยเป็นรองผู้ว่าการแบงก์ชาติศรีลังกา กล่าว

บรรดาผู้เชี่ยวชาญมองว่า ถ้าจีนพยายามที่จะไม่ให้มีการตัดลดหนี้ ก็จะไปขัดขวางการเจรจากับไอเอ็มเอฟ หรือเจ้าหนี้ภาคเอกชนที่จะไม่ปล่อยเงินให้อีก

อทิติ มิตตัล แห่งบริษัทที่ปรึกษา เวริสก์ เมเปิลครอฟต์ กล่าวว่า หากไม่ได้รับความร่วมมือจากรัฐบาลจีน เส้นทางหนี้ของศรีลังกาจะซับซ้อนเลยทีเดียว

An anti government protest in Colombo, Sri Lanka, Thursday, May 19, 2022. (AP Photo/Eranga Jayawardena)

เมื่อเดือนเมษายน นายรานิล วิกรามาสิงหะ ตอนนั้นเป็นผู้นำฝ่ายค้าน (ขณะนี้เป็นนายกรัฐมนตรี) ให้สัมภาษณ์สถานีรีพับลิก ทีวี ว่า จีนเสนอให้เงินกู้ 1 พันล้านดอลลาร์ แทนที่จะลดหนี้ให้ศรีลังกา ถึงแม้เงินจำนวนนั้นจะทำให้รัฐบาลมีเงินไว้ใช้จ่าย แต่ก็หมายถึงว่า หนี้ก็จะพอกพูนขึ้น

ด้านนายฉี เจิ้นหง เอกอัครราชทูตจีนประจำศรีลังกา กล่าวเมื่อวันที่ 25 เม.ย. ว่า การเจรจากับไอเอ็มเอฟ ย่อมต้องถูกข้อเสนอของจีนแทรกแซง ซึ่งปกติแล้วไอเอ็มเอฟมักจะให้ผู้กู้ยืมทำตามข้อตกลงที่เจ้าหนี้จะลดหนี้ให้

สหรัฐ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และรัฐบาลชาติอื่นๆ ต่างเป็นผู้ให้กู้ยืม แต่เป็นจำนวนที่น้อยกว่า ขณะที่ชาติต่างๆ ในโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ได้รับเงินทุนจากกลุ่มเอกชนน้อยมาก เพราะโครงการดูเสี่ยงเกินไป และยังขาดกรอบการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอย่างถูกกฎหมาย

ทำธุรกิจ ไม่ได้ทำการกุศล

 รัฐบาลบางประเทศเผชิญกับปัญหาเช่นกันแต่น้อยกว่าศรีลังกา เช่น เคนยา บรรดาคนขับรถบรรทุกประท้วงใหญ่ที่รัฐบาลขึ้นภาษีน้ำมันเพื่อจะเอาเงินไปจ่ายค่าก่อสร้างทางรถไฟที่ร่วมมือกับจีน

นอกจากนี้ยังมีประเทศที่ยกเลิกหรือลดขนาดโครงการลง เช่น มาเลเซียยกเลิกโครงการทางรถไฟ เมื่อปี 2019 (พ.ศ.2562) เพราะเห็นว่าแพงเกินไป หรือไทยเองต้องขอเจรจาต่อรองใหม่ในโครงการรถไฟความเร็วสูง เพราะเดิมมีงานที่บริษัทของไทยจะได้ประโยชน์น้อยเกินไป

ก่อนหน้านี้ จีนเคยปรับโครงสร้างหนี้ให้ประเทศอื่นอยู่บ้าง เช่น เอธิโอเปีย โน้มน้าวให้จีนยกเลิกดอกเบี้ยบางส่วนลงและยืดเวลาการชำระหนี้ 4 พันล้านดอลลาร์ จาก 10 ปี เป็น 30 ปี นอกจากนี้ยังลดจำนวนที่จ่ายแต่ละปีลงด้วย

เจ้าหน้าที่จีนกล่าวว่า โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยง ไม่ใช่การกุศล การกู้ยืมเป็นเรื่องของธุรกิจ แต่รายละเอียดไม่เป็นที่เปิดเผย

ในสายตาของรัฐบาลสหรัฐ รัสเซีย ญี่ปุ่น อินเดีย และชาติอื่นๆ ที่บ่นรัฐบาลจีน เห็นว่า จีนตั้งโครงการนี้ขึ้นมาเพื่อขยายอิทธิพล และลดอำนาจของพวกเขาลง

ส่วนบรรดาสมาชิกฝ่ายค้านมองว่า ศรีลังกาจำเป็นต้องให้จีนลดหนี้ลง พร้อมกล่าวโทษผู้นำประเทศที่ไปสร้างโครงการที่ไม่เป็นจริง และไม่มีปัญญาจะจ่ายเองตั้งแต่แรก อีกทั้งยังไม่อาจลงทุนในโครงการพัฒนาเศรษฐกิจเองด้วย

คาบีร์ ฮาชิม นักการเมือง กล่าวว่า เงินกู้ต่างประเทศที่เอามาสร้างทางหลวง สนามบิน ศูนย์แสดงสินค้าที่อยู่ในป่าในเขา ไม่มีทางที่จะได้เงินคืนกลับมาเป็นกระแสเงินต่างประเทศ และตอนนี้ศรีลังกาก็ไม่มีเงินดอลลาร์ ที่จะจ่ายคืนหนี้เป็นเงินดอลลาร์

ผุดท่าเรือใหญ่โตที่ไม่คุ้มค่า

เสียงวิจารณ์ที่ชัดเจนคือท่าเรือฮัมบันโตตา ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ ถูกยกเป็นตัวอย่างสำคัญถึงความประมาทของเจ้าหน้าที่รัฐ นอกจากจะสร้างในเมืองบ้านเกิดของนายมหินทา ราชปักษา ซึ่งตอนนั้นเป็นประธานาธิบดี ด้วยการกู้เงินจีนถึง 1.1 พันล้านดอลลาร์ หรือราว 37,400 ล้านบาท ทั้งที่แผนไม่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ

ตอนนั้นโปรโมตกันว่า ท่าเรือฮัมบันโตตาจะรองรับเส้นทางการขนส่งทางทะเล ลดความหนาแน่นของท่าเรือหลักที่กรุงโคลอมโบ  แต่สุดท้ายกลับไม่มีรายได้จากต่างประเทศเลย

โปรเจกต์ท่าเรือ

ต่อมาจีนจ่ายเงินประกันเอาท่าเรือออกมาให้บริษัทที่รัฐเป็นเจ้าของจัดการ คือบริษัท ไชน่า เมอร์แชนตส์ กรุ๊ป ซื้อสัญญาเช่านานถึง 99 ปี มูลค่า 1.1 พันล้านดอลลาร์ รวมที่ดินของนิคมอุตสาหกรรมด้วย

สรุปแล้ว ศรีลังกาต้องจ่ายเงินสดให้ธนาคารจีน อีกทั้งยังเปิดทางให้รัฐบาลต่างชาติเข้ามาควบคุมกิจการภายในประเทศศรีลังกาเอง ขณะที่เงินกู้จากจีนยังต้องเอาไปจ่ายค่าสร้างสนามบินใกล้เมืองฮัมบันโตตา ทั้งที่มีสายการบินใช้เพียงน้อยนิด

วิกฤตที่เกิดขึ้นจึงยิ่งเร่งเชื้อข้อกล่าวหาว่า จีนใช้กับดักหนี้เพื่อครองอิทธิพลในภูมิภาค

วิเชยะดาสา ราชปักษี สมาชิกสภา กล่าวว่า “จีนก็รู้ว่าพวกเราไม่มีปัญญาจะจ่ายคืนหนี้นี้ได้ เราจำเป็นต้องให้จีนละทิ้งส่วนหนึ่งของเงินกู้ ให้รู้ว่า คนจนธรรมดาสามัญ ไม่มีข้าวจะกิน เพราะต้องเอาเงินมาจ่ายหนี้ทุกวันนี้”

ปีนี้ ศรีลังกาเป็นหนี้ธนาคารจีนและเจ้าหนี้รายอื่นแล้ว 7 พันล้านดอลลาร์​ แต่ต้องระงับการจ่ายคืนไว้ตั้งแต่วันที่ 13 เม.ย. ระหว่างการเจรจากับไอเอ็มเอฟ ขณะที่รัฐบาลยังเป็นหนี้อีก 25,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งครึ่งหนึ่งของจำนวนนี้เป็นของนักลงทุนบอนด์ภาคเอกชน