จะเกิดอะไรขึ้น ? เมื่อดีมานด์น้ำมันโลก ทะยานขึ้นสู่จุดสูงสุด

น้ำมัน
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

“บีพี” บริษัทพลังงานของอังกฤษ เป็นผู้นำคำว่า “พีก ออยล์ ดีมานด์” ถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรกเมื่อ 2 ปีก่อน แล้วก็สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่ววงการ

โดย “เบอร์นาร์ด ลูนีย์” ซีอีโอของบีพี ระบุไว้ในเอกสารภาพรวมด้านพลังงานของบริษัทในปีนั้นว่า ความต้องการน้ำมันของโลกได้พุ่งขึ้นสู่จุดสูงสุดแล้ว และทางบีพีเองเตรียมการที่จะเพิ่มการลงทุนในด้านพลังงานทดแทนที่เป็นทางเลือกให้มากขึ้นกว่าเดิม 25 เท่าตัว ภายในปี 2030

และจะไม่ลงทุนใหม่ ๆ ใด ๆ ในการสำรวจหาแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติอีกแล้ว

นัยของคำว่า “พีก ออยล์ ดีมานด์” ในความคิดของนักวิเคราะห์ขณะนี้ก็คือ จุดซึ่งความต้องการน้ำมันจากทั่วโลกขึ้นไปถึงจุดสูงสุด หลังจากนั้นก็จะลดลงเรื่อย ๆ โดยเร็ว และไม่มีวันหวนกลับมาเพิ่มอีกต่อไปแล้ว

ข้อบ่งชี้ของบีพี ก็คือในทศวรรษนี้ เราจะได้เห็นความต้องการน้ำมันทั่วโลกลดลง 10% หลังจากนั้นในอีก 2 ทศวรรษต่อไป ก็จะลดลงในอัตราเร่งเร็วขึ้น คือรวมกันแล้วมากถึง 50%

ผิดไปจากทิศทางที่ควรจะเป็น คือความต้องการน้ำมันจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามการเติบโตทางเศรษฐกิจ

2 ปีให้หลัง ในเอกสารภาพรวมด้านพลังงานประจำปี 2022 บีพียอมรับว่า มีสถานการณ์ที่สร้างความปั่นป่วนให้กับตลาดน้ำมันโลกเกิดขึ้นในช่วง 2 ปีดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์ใหญ่ที่ทุกคนไม่เคยคาดคิดว่าจะเกิดขึ้นอย่าง โควิด-19 และการบุกยูเครนของรัสเซีย

สงครามรัสเซีย-ยูเครนส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบโลกพุ่งสูง เพราะเกิดความไม่แน่นอนขึ้นสูงมากในแง่ปริมาณน้ำมันในตลาด

กระนั้น บีพีก็ยังคงยืนยันว่า ความต้องการน้ำมันของโลกจะถึงจุดสูงสุดในราวกลางทศวรรษนี้ และจะเริ่มลดลงฮวบฮาบในเวลาต่อมา โดยแบ่งออกเป็น 3 ซีนาริโอ หรือ 3 ฉากทัศน์ ด้วยกัน ในฉากทัศน์แรก ความต้องการน้ำมันจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นจนถึงจุดสูงสุดในราวปี 2025 ที่ 101 ล้านบาร์เรลต่อวัน และจะทรงตัวอยู่ในระดับนั้นไปจนถึงปี 2030 จึงจะลดลงจนเหลือ 98 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2035 และ 92 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2040

นี่เป็นสถานการณ์ที่ส่งผลดีที่สุดต่อตลาดและอุตสาหกรรมน้ำมัน

ประการถัดมา บีพีชี้ว่า หากเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ของทุกชาติ เป็นจริงได้ 95% ความต้องการน้ำมันในปี 2025 จะเหลือเพียง 98 ล้านบาร์เรลต่อวันเท่านั้น ก่อนที่จะลดลงอีกเหลือเพียง 75 ล้านบาร์เรลในปี 2035

และอีกฉากทัศน์ที่เป็นกลาง ๆ บีพีคาดการณ์ว่า ในกรณีที่ความพยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลก บรรลุผลเพียง 75% ความต้องการน้ำมันโลกจะลดลงเหลือ 96 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2025 และลดลงเป็น 85 ล้านบาร์เรลในปี 2035

ไม่เพียงแค่บีพีเท่านั้นที่เชื่อว่า ความต้องการน้ำมันกำลังจะถึงจุดพีกสูงสุด ในเว็บบล็อกของ “จีโอโพลิติคัล อินเทลลิเจนซ์ เซอร์วิส” แคโรล แนคห์ลี ซีอีโอของบริษัทที่ปรึกษาด้านพลังงานอย่าง คริสตอล อีเนอร์ยี ก็คาดการณ์เช่นกันว่า การบริโภคน้ำมันของโลกจะถึงจุดพีกภายในช่วงใดช่วงหนึ่งใน 20 ปีข้างหน้านี้

โดยประเทศพัฒนาแล้วในกลุ่มโออีซีดี ความต้องการน้ำมันขึ้นถึงจุดพีกสุดมาแล้วในปี 2005 ที่ราว 50 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทำให้ความต้องการน้ำมันในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะในเอเชีย เท่านั้นที่เป็นตัวการขับเคลื่อนให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

โดยเฉพาะในช่วงปี 2009-2019 ที่ประเทศซึ่งไม่อยู่ในกลุ่มโออีซีดี บริโภคน้ำมันมากถึงราว 54% ของปริมาณการบริโภคทั้งหมด

ในช่วง 20 ปีหลังจากนี้ ความต้องการน้ำมันโลกจะถึงจุดสูงสุดแล้วจะทรงตัวอยู่ชั่วขณะ ก่อนที่จะลดลง การแข่งขันกัน “ขาย” และ “รักษาตลาด” ของผู้ค้าน้ำมันจะเข้มข้นขึ้น สะท้อนให้เห็นได้จากระดับราคาที่ลดลงไปเรื่อย ๆ ตามลำดับ

ผู้ขายในตลาดน้ำมันไม่เพียงต้องแข่งขันกันสูงในแง่ราคา ยังต้องเผชิญกับกฎเกณฑ์ใหม่ ๆ ที่แตกต่างออกไปจากเดิมที่คุ้นเคยกันอยู่อีกด้วย

ถึงขนาดที่การปรับลดการผลิตเพื่อดันราคาของกลุ่มโอเปก หรือการลดกำลังการผลิตเพื่อต่อสู้กับการแซงก์ชั่นของรัสเซีย จะไม่มีผลอีกต่อไป

ถึงที่สุดแล้ว ตลาดน้ำมันโลกจะกลายเป็นตลาดของผู้บริโภคไปแทบจะโดยสิ้นเชิงนั่นเอง

และไม่แน่นักว่า ระดับราคาน้ำมันในตลาดโลกในเวลานี้ จะเป็นตัวเร่งให้เกิด “พีก ออยล์ ดีมานด์” เร็วขึ้นด้วยซ้ำไป