อินเดีย-จีน แหล่งรายได้น้ำมันรัสเซีย ยอดสั่งซื้อพุ่งกระฉูด

อินเดีย-จีน แหล่งรายได้น้ำมันรัสเซีย ?
REUTERS/Tatiana Meel

จับตาแหล่งรายได้น้ำมันแห่งใหม่ของรัสเซีย โดยเฉพาะ อินเดีย-จีน บริโภคน้ำมันจากรัสเซียพุ่ง นักวิเคราะห์หวั่นคว่ำบาตรไม่มีผล

วันที่ 13 มิถุนายน 2565 เอพีรายงานว่า อินเดียและประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย กำลังกลายเป็นแหล่งรายได้น้ำมันที่สำคัญมากขึ้นสำหรับรัสเซีย แม้จะเผชิญแรงกดดันจากสหรัฐ ที่ไม่ต้องการให้ประเทศเหล่านี้เพิ่มการซื้อน้ำมันจากรัสเซีย ขณะที่สหภาพยุโรป (อียู) และพันธมิตร ตัดขาดการนำเข้าพลังงานจากรัสเซีย ตามมาตรการคว่ำบาตรกรณีที่รัสเซียบุกยูเครน

การขายน้ำมันให้ชาติเหล่านี้ช่วยกระตุ้นรายได้การส่งออกของรัสเซีย ในช่วงเวลาที่สหรัฐและพันธมิตรพยายามจำกัดกระแสการเงินที่สนับสนุนการทำสงครามของรัสเซีย

จับตา จีน-อินเดีย-ศรีลังกา แหล่งรายได้รัสเซีย ?

อินเดีย ประเทศขาดแคลนน้ำมันที่มีประชากร 1,400 ล้านคน บริโภคน้ำมันรัสเซียเกือบ 60 ล้านบาร์เรลแล้วในปีนี้ เมื่อเทียบกับ 12 ล้านบาร์เรลในปี 2564 ตามข้อมูลจากบริษัทข้อมูลสินค้าโภคภัณฑ์ “เคปเลอร์”

ขณะที่การขนส่งน้ำมันไปยังประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย เช่น จีน ก็เพิ่มขึ้นเช่นกันในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา แม้จะเพิ่มขึ้นในระดับที่น้อยกว่าอินเดีย

ระหว่างการให้สัมภาษณ์กับเอพี นายกรัฐมนตรีศรีลังกากล่าวว่า เขาอาจถูกกดดันให้ซื้อน้ำมันจากรัสเซียเพิ่มขึ้น ระหว่างที่เขากำลังตามล่าหาเชื้อเพลิงอย่างเอาเป็นเอาตาย เพื่อให้ประเทศสามารถเดินต่อไปได้ ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจที่เลวร้าย

นายกรัฐมนตรีศรีลังกา “รานิล วิกรมสิงเห” กล่าวเมื่อวันเสาร์ว่า เขาจะมองหาแหล่งอื่นก่อน แต่จะเปิดรับซื้อน้ำมันดิบจากรัสเซียเพิ่มเช่นกัน โดยในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ศรีลังกาได้ซื้อน้ำมันดิบจากรัสเซีย 99,000 ตัน สำหรับใช้ในโรงกลั่นเพียงแห่งเดียว

รัสเซียใช้ส่วนลดเป็นแรงจูงใจ

ตั้งแต่รัสเซียบุกยูเครนเมื่อช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ราคาน้ำมันในตลาดโลกพุ่งสูงไม่หยุด ขณะที่โรงกลั่นน้ำมันในอินเดียและอีกหลายประเทศได้รับข้อเสนอให้ซื้อน้ำมันจากรัสเซีย เพื่อแลกกับส่วนลด 30-35 ดอลลาร์ เมื่อเทียบกับน้ำมันดิบเบรนต์ และน้ำมันต่างประเทศอื่น ๆ ที่ซื้อขายกันอยู่ที่ 120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ความสำคัญของประเทศเหล่านี้ที่มีต่อรัสเซียยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อ 27 ประเทศอียู (ซึ่งเป็นตลาดหลักสำหรับเชื้อเพลิงฟอสซิล ที่นำรายได้จากต่างประเทศส่วนใหญ่มาสู่รัสเซีย) มีมติหยุดการซื้อน้ำมันส่วนใหญ่ภายในสิ้นปีนี้

“แมตต์ สมิธ” หัวหน้านักวิเคราะห์ของเคปเลอร์ ที่ติดตามการซื้อขายน้ำมันรัสเซีย กล่าวว่า ดูเหมือนจะมีแนวโน้มชัดเจนในขณะนี้ เนื่องจากการขนส่งน้ำมันอูราลไปยังยุโรป ส่วนใหญ่ถูกตัดขาด น้ำมันดิบจึงไหลไปยังเอเชียแทน โดยที่อินเดียกลายเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ที่สุด รองลงมาคือจีน ส่วนรายงานการติดตามเรือชี้ว่าตุรกีเป็นจุดหมายปลายทางที่สำคัญอีกแห่ง

โรงกลั่นคึกคัก

“ผู้คนต่างตระหนักดีว่า อินเดียเป็นศูนย์กลางการกลั่นน้ำมัน โดยรับซื้อน้ำมันมาในราคาถูก ก่อนจะนำไปกลั่น และส่งออกเป็นผลิตภัณฑ์ที่สะอาด อินเดียสามารถสร้างกำไรเป็นกอบเป็นกำจากวิธีนี้ได้” สมิธกล่าว

ในเดือนพฤษภาคม เรือบรรทุกน้ำมันรัสเซียประมาณ 30 ลำ บรรทุกน้ำมันดิบเดินทางไปยังชายฝั่งอินเดีย โดยขนถ่ายน้ำมันประมาณ 460,000 บาร์เรลต่อวัน ขณะที่เมื่อเดือนมกราคมถึงมีนาคม มีน้ำมันมาถึงชายฝั่งอินเดียเฉลี่ย 60,000 บาร์เรลต่อวัน ตามรายงานของศูนย์วิจัยพลังงานและอากาศบริสุทธิ์ในฟินแลนด์ ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระ

โรงกลั่นที่จีน ทั้งโรงกลั่นของรัฐและโรงกลั่นอิสระ เพิ่มการซื้อน้ำมันจากรัสเซียเช่นกัน โดยในปี 2564 จีนเป็นผู้ซื้อน้ำมันรัสเซียรายใหญ่สุด โดยรับน้ำมันเฉลี่ย 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตามข้อมูลจากสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ

แม้การนำเข้าน้ำมันของอินเดียจะเป็นสัดส่วนเพียง 1 ใน 4 ของจำนวนดังกล่าว แต่การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่สงครามเริ่มต้นขึ้น นับเป็นชนวนความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับอินเดีย

สหรัฐกดดันอินเดีย

สหรัฐตระหนักดีถึงความจำเป็นของอินเดียที่ต้องการพลังงานราคาไม่แพง แต่ “เรากำลังมองหาพันธมิตรและหุ้นส่วนที่จะไม่เพิ่มการซื้อพลังงานของรัสเซีย” แอนโทนี บลิงเกน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ กล่าวหลังการประชุมระหว่างสหรัฐ กับรัฐมนตรีต่างประเทศและรัฐมนตรีกลาโหมอินเดีย เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา

“เจนเน็ต เยลเลน” รัฐมนตรีคลังสหรัฐ กล่าวว่า ขณะเดียวกัน สหรัฐและพันธมิตรในยุโรปกำลังหารือกันอย่างแข็งขันเกี่ยวกับมาตรการประสานงาน ซึ่งอาจเป็นการร่วมมือกันเพื่อพยายามกำหนดราคาน้ำมันของรัสเซีย

“เป้าหมายคือเพื่อรักษาการไหลเข้าสู่ตลาดโลกของน้ำมันรัสเซียเพื่อป้องกันราคาน้ำมันดิบพุ่ง หลังจากพุ่งขึ้นแล้วกว่า 60% ในปีนี้ และยังคงพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง” เธอกล่าว

“แน่นอนว่า เป้าหมายคือการจำกัดรายได้ที่จะไปสู่รัสเซีย” เยลเลนกล่าว พร้อมกับยอมรับว่ายังไม่ได้ตัดสินใจใช้กลยุทธ์ที่แน่นอน

ยุโรปสามารถหาแหล่งพลังงานทางเลือกได้ประมาณ 60% จากการส่งออกน้ำมันดิบของรัสเซีย รัสเซียเองก็มีทางเลือกเช่นกัน

อินเดียสวนกลับ

รัฐมนตรีต่างประเทศของอินเดีย “สุพรหมณยัม ชัยศังกระ” เน้นย้ำถึงความตั้งใจของอินเดียที่จะทำในสิ่งที่เป็นผลประโยชน์สูงสุดของประเทศ

“หากอินเดียซื้อน้ำมันรัสเซียถือเป็นการให้ทุนทำสงคราม บอกผมหน่อย การซื้อก๊าซรัสเซียไม่ใช่การให้ทุนสำหรับทำสงครามหรือ ? มาร่วมมือกันหน่อยเถอะ” เขากล่าวในการประชุมครั้งล่าสุดในสโลวะเกีย โดยอ้างถึงการนำเข้าก๊าซรัสเซียของชาติยุโรป

การนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซียของอินเดีย เพิ่มขึ้นจาก 100,000 บาร์เรลต่อวันในเดือนกุมภาพันธ์ เป็น 370,000 บาร์เรลต่อวันในเดือนเมษายน และ 870,000 บาร์เรลต่อวันในเดือนพฤษภาคม

การนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซียที่เพิ่มขึ้นของอินเดีย ยังส่งผลต่อสัดส่วนการนำเข้าน้ำมันจากอิรักและซาอุดีอาระเบีย ซึ่งน้ำมันจากสองประเทศนี้ส่วนใหญ่จะถูกส่งไปยังโรงกลั่นต่าง ๆ ในซิกาและชัมนคร ทางชายฝั่งตะวันตกของอินเดีย โดยจนถึงเดือนเมษายน น้ำมันจากรัสเซียมีสัดส่วนน้อยกว่า 5% ของน้ำมันดิบที่แปรรูปที่โรงกลั่นน้ำมันชัมนคร แต่ในเดือนพฤษภาคม น้ำมันจากรัสเซียคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 1 ใน 4 ตามรายงานของศูนย์วิจัยพลังงานและอากาศบริสุทธิ์

การส่งออกผลิตภัณฑ์น้ำมันของอินเดีย เช่น ดีเซล เพิ่มขึ้นเป็น 685,000 บาร์เรลต่อวัน จาก 580,000 บาร์เรลต่อวัน ก่อนการรุกรานยูเครน

น้ำมันดิบรัสเซียผ่านเข้าสู่ตลาดด้วยวิธีใด ?

“ลอรี มิลเวอร์ทา” หัวหน้านักวิเคราะห์ซีอาร์อีเอ กล่าวว่า การส่งออกน้ำมันดีเซลของอินเดีย ส่วนใหญ่เพื่อจำหน่ายในเอเชีย แต่ประมาณ 20% ถูกส่งผ่านคลองสุเอซ มุ่งหน้าสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนหรือแอตแลนติก โดยหลัก ๆ แล้วคือยุโรป หรือไม่ก็สหรัฐ

“เป็นไปไม่ได้ที่จะตรวจสอบปริมาณน้ำมันดิบรัสเซียที่แน่นอน ในผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการกลั่นแล้วส่งออกมาจากอินเดีย และอินเดียกำลังจัดหาช่องทางให้น้ำมันดิบของรัสเซียผ่านเข้าสู่ตลาด” เขากล่าว

การนำเข้าของจีนก็เพิ่มขึ้นเช่นกันในปีนี้ ซึ่งช่วยให้รัฐบาลของประธานาธิบดีรัสเซีย “วลาดีมีร์ ปูติน” มียอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่ 96,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 4 เดือน สิ้นสุด ณ เดือนเมษายน

อย่างไรก็ตามไม่ชัดเจนว่า การคว่ำบาตรการส่งออกของรัสเซีย จะลดกระแสเงินสดของรัสเซียได้หรือไม่

เมื่อพูดถึงการคว่ำบาตร “มาตรการเหล่านั้นมีผลจริงหรือ ? และหากไม่มีผลใด ตลาดน้ำมันจะรับมือกับเรื่องนี้อย่างไร ?” มิลเวอร์ทา กล่าว