อียู เพิ่มแซงก์ชั่น รัสเซีย มหกรรมทำร้ายตัวเอง ?!

รัสเซีย น้ำมัน
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

 

เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2565 สหภาพยุโรป (อียู) ประกาศการแซงก์ชั่นทางเศรษฐกิจต่อรัสเซียเพิ่มเติมอีกครั้ง เป็นครั้งที่ 6 เป้าหมายสำคัญในครั้งนี้ก็คือการตกลงใจที่จะห้ามการนำเข้าพลังงานจากรัสเซีย ที่รั้งรอกันมานานแล้ว

โดยคาดหวังว่าด้วยการกระทำดังกล่าวจะส่งผลให้เกิดแรงกดดันทางเศรษฐกิจขึ้นในรัสเซีย มากพอที่จะยับยั้งการเดินหน้าบุกยึดครองยูเครน ยุติสงครามที่ยืดเยื้อมามากกว่า 3 เดือนลง

แต่การทำสงครามเศรษฐกิจก็เป็นเช่นเดียวกันกับการสู้รบกันด้วยอาวุธ เหมือนกับการสาดน้ำใส่กัน เดือดร้อนเปียกปอนด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย

การสู้รบแบบนี้ไม่มีชัยชนะพ่ายแพ้เกิดขึ้นในฉับพลัน ทุกอย่างจึงขึ้นอยู่กับว่า ใครปรับตัว ทนทานกับความทุกข์ยาก เดือดร้อนจากศึกเศรษฐกิจได้มากกว่า นานกว่า เท่านั้น

ที่ผ่านมา การแซงก์ชั่นเศรษฐกิจรัสเซียส่งผลไม่ใช่น้อย ชาวรัสเซียในประเทศแห่กันซื้อหากักตุนสินค้า โดยเฉพาะสินค้าที่จำเป็นต้องนำเข้าจากต่างประเทศที่ราคาพุ่งกระฉูด ดัชนีราคาผู้บริโภคของรัสเซียพุ่งขึ้นถึง 17.5 % ในเดือนเมษายน ค่าเงินรูเบิลร่วงลงหนักเป็นประวัติการณ์ เศรษฐกิจประเทศทรุดตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ

ADVERTISMENT

แต่หลังจากนั้น ทุกอย่างก็ทรงตัวได้ ค่าเงินรูเบิลของรัสเซียเริ่มขยับขึ้นสูงอีกครั้งเมื่อเทียบกับดอลลาร์ หลังจาก “วลาดิมีร์ ปูติน” บังคับให้ใช้รูเบิลเท่านั้นในการชำระค่าพลังงาน

ถึงตอนนี้ รูเบิลแข็งค่าขึ้น 40% เมื่อเทียบกับระดับในเดือนมกราคม ถีบตัวขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 7 ปี เมื่อเทียบกับดอลลาร์ จนล่าสุดธนาคารกลางรัสเซียต้องลดดอกเบี้ยลงอีกครั้ง เป็นครั้งที่ 3 ในระยะเวลาเพียงเดือนเดียว เพื่อระงับการแข็งค่าของรูเบิล

ADVERTISMENT

“อิสกันเดอร์ ลุทส์โก” หัวหน้าทีมยุทธศาสตร์ของไอทีไอแคปิตอลชี้ว่า รูเบิลแข็งค่าเพราะได้รับ “แรงหนุนเทียม” ที่เกิดจากมาตรการแคปิตอลคอนโทรล ประกอบกับการที่ราคาน้ำมันโลกแพงขึ้นมหาศาลจากการแซงก์ชั่น ทำให้รัสเซียแม้จะขายน้ำมันได้น้อยลง แต่ได้เงินเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ความต้องการดอลลาร์ในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราลดลง ทำให้รัสเซียมีดอลลาร์ส่วนเกินอยู่ในมือมหาศาล จากการขายน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ

นั่นทำให้ปูตินสามารถเตือนอียูได้ว่า อย่าแซงก์ชั่นพลังงานจากรัสเซีย เพราะเท่ากับเป็นการ “ฆ่าตัวตายทางเศรษฐกิจ”เนื่องจากจะยิ่งทำให้ราคาพลังงานพุ่งสูงขึ้น และผลักดันอัตราเงินเฟ้อให้สูงยิ่งขึ้นไปอีก

รัสเซียส่งออกน้ำมันดิบคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 20 เปอร์เซ็นต์ของโลก และส่งออกก๊าซธรรมชาติสูงถึง 17.5% ของโลก

อียูตั้งเป้าลดการนำเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติลงให้ได้ 90% ภายในสิ้นปีนี้ ทั้งที่ผ่านท่อลำเลียงและจากการขนส่งทางเรือจากท่าเรือต่าง ๆ

การขาดหายไปดังกล่าวส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติทั่วโลกอย่างชัดเจน ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกพุ่งขึ้นไปเกือบ 120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลอีกครั้ง

ประเทศที่เผชิญปัญหาหนักที่สุดก็คือชาติที่นำเข้าพลังงานสุทธิ อย่างเช่นหลายประเทศในยุโรป และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

รัสเซียเองเผชิญปัญหาไม่น้อยไปกว่ากัน หลังจากการแซงก์ชั่นหลายระลอกแรก ๆ ปูตินต้องพึ่งพาพลังงานเป็นหลักในงบประมาณของประเทศ สัดส่วนของรายได้จากการขายน้ำมันและก๊าซพุ่งขึ้นเป็น 65% ในงบประมาณของรัฐ เทียบกับสัดส่วนเพียงแค่ 30% เมื่อตอนก่อนสงคราม

ไวยาเชสลาฟ มิสเชนโก ผู้เชี่ยวชาญตลาดพลังงานชี้ว่า แม้จะเดือดร้อนเหมือนกันทั้ง 2 ฝ่าย แต่ดูเหมือนรัสเซียจะรับมือกับการแซงก์ชั่นได้ดีกว่าอียู

อียูต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียสูงถึง 36% และพึ่งพาการนำเข้าก๊าซจากรัสเซียอีกกว่า 40%

การหาแหล่งที่มาของพลังงานในสัดส่วนขนาดนั้น ทำได้ไม่ง่ายนักในชั่วระยะเวลาสั้น ๆ

ในขณะที่รัสเซียสามารถส่งออกน้ำมันไปยังจีน และอินเดีย ทดแทนส่วนหนึ่งของการส่งออกไปยังอียูได้ แม้จะไม่ทั้งหมดก็ตาม

เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา อินเดียนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า จนกลายเป็นผู้นำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซีย รายใหญ่ที่สุดของโลกไปแล้ว

รายได้จากการขายน้ำมันดิบของรัสเซีย เพิ่มขึ้นเป็น 20,000 ล้านดอลลาร์ต่อเดือน เพิ่มจากเมื่อตอนต้นปีนี้ถึง 50% ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า อียูอาจต้องใช้เวลาอีกนานนับปี ในการหาแหล่งนำเข้าน้ำมันทดแทนรัสเซีย

กระนั้น ผู้เชี่ยวชาญบางรายประเมินว่า มูลค่าของเศรษฐกิจรัสเซียในเวลานี้หดตัวลงเหลือเพียงครึ่งเดียวของมูลค่าเศรษฐกิจก่อนสงคราม

อันเป็นความเป็นจริงที่สะท้อนความเดือดร้อนสาหัสสากรรจ์ที่การบุกยูเครนก่อให้เกิดขึ้นกับคนรัสเซีย

เพียงแต่ไม่ได้เกิดขึ้นกับ “วลาดิมีร์ ปูติน” กับขุนศึกที่แวดล้อมอยู่รอบตัวเท่านั้นเอง