ชำแหละผลกระทบ 3 ด้าน หลัง “เฟด” ขึ้นดอกเบี้ยแรง 0.75%

เฟด
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : นงนุช สิงหเดชะ

 

หลังจากเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคมพุ่งทะยาน 8.6% สูงสุดในรอบ 40 กว่าปี ทำให้เกิดการคาดหมายว่าความตั้งใจเดิมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่จะขึ้นดอกเบี้ยในเดือนมิถุนายนเพียง 0.5% คงเป็นไปได้ยาก แต่น่าจะปรับขึ้นมากถึง 0.75% ซึ่งในที่สุดการประชุมเฟดเมื่อวันที่ 15 มิถุนายนก็เป็นไปตามคาด กล่าวคือ มีมติขึ้นดอกเบี้ย 0.75% มากที่สุดนับตั้งแต่ปี 1994 ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยขยับไปอยู่ในช่วง 1.5-1.75%

หากดูจากแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของคณะกรรมการรายบุคคล หรือ dot plot บ่งชี้ว่า เมื่อถึงสิ้นปีอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ที่ 3.4% ปีหน้า 3.8% สูงสุดนับจากปลายปี 2007 เพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 1% พร้อมกันนี้ได้ปรับลดคาดการณ์จีดีพีปีนี้ลงเหลือเพียง 1.7% จากเดิม 2.8%

ส่วนตลาดและนักลงทุน คาดว่าจากนี้ไปจนถึงต้นปีหน้าเฟดน่าจะขึ้นดอกเบี้ยประมาณ 9-10 ครั้ง ทำให้อัตราดอกเบี้ยเบ็ดเสร็จจะอยู่ที่ 4% โดยในการประชุม 3 ครั้งถัดไปจะขึ้นอย่างน้อยครั้งละ 0.5%

อย่างไรก็ตาม แถลงการณ์ของเฟดยังให้ภาพเศรษฐกิจในทางบวก โดยระบุว่า กิจกรรมเศรษฐกิจโดยรวมเร่งตัวขึ้น อัตราการจ้างงานแข็งแกร่งในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา แม้ว่าไตรมาสแรกกิจกรรมจะชะลอลงบ้างก็ตาม ส่วนเงินเฟ้อยังสูงขึ้นสะท้อนให้เห็นความไม่สมดุลระหว่างอุปสงค์กับอุปทาน

ด้าน “เจอโรม พาวเวลล์” ประธานเฟด แถลงหลังการประชุมว่า ชัดเจนว่าการขึ้นดอกเบี้ย 0.75% เป็นการขึ้นมากผิดปกติ และตนไม่คาดว่าการขึ้นขนาดนี้จะกลายเป็นเรื่องธรรมดา ส่วนการประชุมเดือนกรกฎาคมน่าจะปรับขึ้นระหว่าง 0.5-0.75% อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจจะปรับเท่าใดขึ้นกับการประชุมแต่ละครั้ง และขึ้นกับสถานการณ์และข้อมูลในขณะนั้น เพื่อให้เงินเฟ้อดีขึ้น แต่เฟดตั้งใจจะสื่อสารความตั้งใจอย่างชัดเจนให้มากที่สุดเท่าที่สามารถทำได้

ตลาดหุ้นสหรัฐตอบสนองในทางบวก โดยดาวโจนส์เพิ่มขึ้น 303.70 จุด หรือ 1% ปิดที่ 30,668.53 จุด เอสแอนด์พี ปรับขึ้น 54.51 จุด หรือ 1.46% ปิดที่ 3,789.99 จุด แนสแดค เพิ่มขึ้น 270.81 จุด หรือ 2.5% ปิดที่ 11,099.15 จุด

บรรดานักวิเคราะห์ชี้ว่า การขึ้นดอกเบี้ยอย่างดุดันของเฟดอาจส่งผลต่อโลกใน 3 ด้าน คือ 1.อาจทำให้เศรษฐกิจโลกถดถอย 2.กระทบต่อการตัดสินใจของธนาคารกลางอื่น ๆ 3.ผลกำไรของบริษัทต่าง ๆ ลดลง

“คริสตินา ฮูเปอร์” นักกลยุทธ์ตลาดโลกของอินเวสโค ระบุว่า ในระดับหนึ่งถือได้ว่าเฟดคือธนาคารกลางโลก ความเคลื่อนไหวของเฟดเพื่อควบคุมเงินเฟ้อสูง อาจทำให้เศรษฐกิจโลกถดถอย อย่างไรก็ตาม ยังมีความหวังว่าเฟดจะประสบความสำเร็จในการชะลอเศรษฐกิจลงอย่างนุ่มนวลหรือ soft landing โดยไม่ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐถดถอย ด้วยการขึ้นดอกเบี้ยมากในระดับพอเพียงโดยอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลในแต่ละช่วง

สตีเฟ่น โมเนียร์ ประธานเจ้าหน้าที่ลงทุนของ Banque Lombard Odier กล่าวว่า การที่ ธนาคารกลางสหภาพยุโรป (อีซีบี) เรียกประชุมฉุกเฉินก่อนการประชุมเฟด สะท้อนให้เห็นความกลัวว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยมากถึง 0.75% ซึ่งจะกระทบต่อสินทรัพย์เสี่ยงในตลาด และทำให้ตลาดพันธบัตรรัฐบาลในยุโรปมีความแตกต่างกัน (fragmentation) มากขึ้น

“คาร์สเทน เบรสกี้” หัวหน้าทีมเศรษฐกิจโลกของดอยช์แบงก์ ไอเอ็นจี ระบุว่า การเปลี่ยนท่าทีของเฟดไปสู่การขึ้นดอกเบี้ยอย่างดุเดือด อาจมีผลต่อการตัดสินใจของผู้วางนโยบายในยุโรป ซึ่งหมายถึงว่าเราอาจเห็นว่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น และทำให้เงินยูโรอ่อนค่าลง เพิ่มแรงกดดันต่อเงินเฟ้อของยุโรป ซึ่งเป็นเรื่องที่อีซีบีกังวล ดังนั้น น่าจะทำให้กรรมการสายเหยี่ยวของอีซีบีผลักดันให้ขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าที่วางแผนไว้เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ


กาย สเตียร์ หัวหน้าตลาดเกิดใหม่ของโซซิเอเต เจเนอราล ให้ความเห็นว่า หากเศรษฐกิจโลกถดถอยสิ่งที่นักลงทุนต้องระวังก็คือ ผลกำไรของบริษัทต่าง ๆ จะลดลง ตอนนี้มีแนวโน้มมากขึ้นที่เศรษฐกิจโลกจะถดถอย เนื่องจากปัญหาหลายอย่างสมทบเข้ามา ทั้งปัญหาห่วงโซ่อุปทาน ต้นทุนที่สูงขึ้นจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน และการแยกจากกันในเชิงภูมิรัฐศาสตร์