ทำไมญี่ปุ่นจึงเกือบขจัดการตายจากอาวุธปืนได้เด็ดขาด ก่อนเหตุยิง ชินโซ อาเบะ

ชินโซ อาเบะ
People watch TV news reporting Japan’s former Prime Minister Shinzo Abe was shot, in Tokyo, Friday, July 8, 2022. (Kyodo News via AP)

ก่อนเกิดเหตุสะเทือนขวัญ ชินโซ อาเบะ อดีตนายกรัฐมนตรีถูกยิงกลางฝูงชน ขณะกล่าวปราศรัยหาเสียง จนเสียชีวิต เพิ่งมีรายงานสถานการณ์อาชญากรรมจากอาวุธปืนของญี่ปุ่น เปรียบเทียบกับเหตุการณ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่าในสหรัฐอเมริกา

วันที่ 8 กรกฎาคม 2565  บิสิเนส อินไซเดอร์ เผยแพร่รายงานหัวข้อข่าวว่า ญี่ปุ่นเกือบจะกำจัดการตายจากอาวุธปืนได้เด็ดขาด (Japan has almost completely eliminated gun deaths) ในฐานะตัวอย่างประเทศที่ควบคุมความสูญเสียในชีวิตจากอาวุธปืนได้

รายงานชิ้นนี้เพิ่งเผยแพร่เมื่อ 6 ก.ค. เปรียบเทียบกับสถานการณ์มือปืนกราดยิงใส่ผู้ร่วมขบวนพาเหรดฉลองวันชาติสหรัฐอเมริกา 4 ก.ค. ใกล้เมืองชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ มีผู้เสียชีวิต 7 ราย และบาดเจ็บกว่า 30 คน นอกจากนี้ยังเกิดเหตุยิงหมู่หลายพื้นที่ทั่วประเทศ รวมถึงบัฟฟาโล นิวยอร์ก ยูวัลเด เท็กซัส จนเกิดคำถามว่า สหรัฐจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร

สำหรับญี่ปุ่น มีประชากร 127 ล้านคน แต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากอาวุธปืนไม่ถึง 10 ราย

ปี 2018 (พ.ศ.2561) ญี่ปุ่นมีคนตายจากอาวุธปืน 9 ราย เทียบกับสหรัฐในปีเดียวกัน 39,740 ราย ส่วนปี 2021 มีเพียงคนเดียวในญี่ปุ่นที่เสียชีวิตจากอาวุธปืน

ชินโซ อาเบะ
นายชินโซ อาเบะ ล้มกองอยู่กับพื้นหลังถูกยิง ระหว่างปราศรัยหาเสียง เมื่อ 8 ก.ค. 2022 (Kyodo News via AP)

ญี่ปุ่นแยกจากอเมริกาปมอาวุธปืน

เอียน โอเวอร์ทัน ผู้อำนวยการองค์กรรณรงค์ควบคุมอาวุธปืนของอังกฤษ  Action on Armed Violence กล่าวกับสื่อบีบีซีว่า ตั้งแต่ปืนเริ่มเข้าไปในประเทศญี่ปุ่น ทางการญี่ปุ่นใช้กฎหมายเข้มงวดในการควบคุมอาวุธชนิดนี้

“พวกเขาเป็นประเทศแรกในโลกที่ตรากฎหมายควบคุมอาวุธปืน ผมคิดว่านั่นเป็นรากฐานที่สื่อสารว่า ปืนจะต้องไม่มีส่วนสำคัญในสังคมพลเรือน” โอเวอร์ทัน กล่าว

ความสำเร็จของญี่ปุ่นในการควบคุมอาวุธปืนเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ของประเทศ หลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นหันหน้าสู่แนวทางยึดสันติภาพและต่อต้านสงคราม ถือเป็นหลักการสำคัญของประเทศ

เจ้าหน้าที่ตำรวจญี่ปุ่นเริ่มพกอาวุธหลังจากกองทัพสหรัฐติดอาวุธนี้ให้เพื่อรักษาความปลอดภัย ในปี 1946 (พ.ศ.2489)

นาทีตำรวจเข้ารวบตัวคนร้ายที่ยิงนายชินโซ อาเบะ

แต่ญี่ปุ่น ตรากฎหมายตั้งแต่ปี 1958 (พ.ศ.2501) บัญญัติว่า ไม่ควรมีบุคคลใดครอบครองอาวุธปืน ไม่ว่ากระบอกเดียวหรือหลายกระบอก อีกทั้งต้องไม่ครอบครองดาบ ไม่ว่าเล่มเดียวหรือหลายเล่ม

แม้ว่าต่อมารัฐบาลจะผ่อนปรนกฎหมายดังกล่าว แต่ในทางปฏิบัติ ญี่ปุ่นยังคงควบคุมอาวุธปืนอย่างเข้มงวด และถือเป็นเรื่องสำคัญในการแยกญี่ปุ่นออกจากสหรัฐอเมริกา ในขณะที่อเมริกาอนุญาตให้ประชาชนครอบครองปืนของตนเองได้

จะมีปืนต้องผ่านการทดสอบเข้ม

ปัจจุบัน หากชาวญี่ปุ่นคนใดต้องการครอบครองอาวุธปืน จะต้องเข้าอบรมเต็มเวลาตลอดทั้งวัน ต้องผ่านการสอบข้อเขียน และต้องผ่านการทดสอบการยิงอย่างถูกต้องไม่น้อยกว่า 95% จากนั้นต้องไปเข้ารับการประเมินสุขภาพจิตที่โรงพยาบาล

ขณะเดียวกันบุคคลนั้นต้องให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบภูมิหลัง ประวัติส่วนตัว ในที่นี้รวมถึงประวัติด้านอาชญากรรม การสัมภาษณ์เพื่อนและครอบครัว หากผ่านการทดสอบ บุคคลนั้นจะซื้อได้แต่ปืนสั้นและปืนลมไรเฟิล ห้ามซื้อปืนพก จากนั้นทุก ๆ 3 ปีจะต้องเข้าอบรมและทำข้อสอบอีก

 

ยิ่งมีปืนน้อย ยิงลดอัตราการตาย

ญี่ปุ่นมีแนวความคิดว่า ยิ่งอาวุธปืนในสังคมมีน้อยเท่าใด ก็จะส่งผลต่ออัตราการตายให้ลดลงได้ ดังนั้นแต่ละจังหวัด ซึ่งส่วนใหญ่มีประชากรครึ่งเดียวของโตเกียวที่มี 12 ล้านคน จึงจำกัดให้มีร้านขายปืนได้สูงสุดแค่ 3 ร้าน กล่องใส่กระสุนขายได้เฉพาะกล่องเปล่า และเมื่อเจ้าของอาวุธปืนเสียชีวิต ญาติต้องนำอาวุธมามอบให้ทางการ ห้ามส่งทอดแก่ผู้ใด

ด้วยเงื่อนไขดังกล่าว ทั้งพลเรือนและเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงแทบไม่ใช้อาวุธปืนเลย

มีกฎด้วยว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่นอกเวลาราชการห้ามพกพาอาวุธปืน และการเผชิญหน้าหรือต่อสู้กับผู้ต้องสงสัยให้ใช้ศิลปะป้องกันตัวพร้อมอาวุธป้องกันตัวอื่น

จุดเกิดเหตุที่อดีตนายกฯ อาเบะถูกยิง This aerial photo shows the scene of gunshots in Nara, western Japan Friday, July 8, 2022.  . (Kyodo News via AP)(Kyodo News via AP)

ดังจะเห็นได้ว่า อาชญากรรมร้ายแรงของญี่ปุ่น ส่วนใหญ่มาจากการใช้อาวุธมีด คดีสะเทือนขวัญที่สุดเกิดเมื่อเดือนก.ค. 2016 (พ.ศ.2559) คนร้ายแทงเหยื่อในสถานดูแลผู้สูงอายุ เสียชีวิตถึง 19 ราย

ความพิเศษอีกด้านในการควบคุมอาวุธปืนของญี่ปุ่น มาจากการที่ประชาชนญี่ปุ่นเคารพและมีความสัมพันธ์เข้ากันได้ดีกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ มากกว่าเงื่อนไขเดียวกันในสหรัฐ

เงื่อนไขนี้เหมือนกับไข่กับไก่ใครเกิดก่อนกัน

หากตำรวจเลือกอาวุธที่เป็นอันตรายน้อยกว่าต่อประชาชน สาธารณชนก็จะหวาดผวาน้อยกว่า รู้สึกว่าจะไม่ถูกตำรวจยิง ดังนั้นประชาชนก็จะไม่เห็นความสำคัญที่ต้องมีปืนไว้กับตัว

เหตุกราดยิงที่สหรัฐ  เมืองไฮแลนด์พาร์ก รัฐอิลลินอยส์ ในวันชาติสหรัฐ 4 ก.ค. 2022 (Brian Cassella/Chicago Tribune via AP)

สำหรับสหรัฐ กองกำลังตำรวจฝึกมาแบบทหารในการใช้อาวุธปืนอัตโนมัน และใช้รถหุ้มเกราะ จึงไม่มีความเชื่อใจกันระหว่างประชาชนกับคนในสถาบันความมั่นคง ปัจจัยนี้เป็นส่วนที่สร้างวัฒนธรรมความกลัวที่มักนำไปสู่สถานการณ์ตึงเครียด

แม้ว่าตัวอย่างของญี่ปุ่นอาจไปใช้กับวัฒนธรรมของสหรัฐไม่ได้ แต่อย่างน้อยจะได้เห็นภาพว่า จะควบคุมความรุนแรงอันไร้เหตุผลที่กลายเป็นลักษณะเด่นของการใช้ชีวิตในสหรัฐได้บ้าง

อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องที่ต้องติดตามเช่นกันว่า หลังเกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญ อดีตเจ้าหน้าที่กองกำลังป้องกันตนเองทางทะเล หรือเทียบเท่ากองทัพเรือ ยิงนาย ชินโซ อาเบะ อดีตนายกรัฐมนตรี กลางเมืองนารา ญี่ปุ่นจะเปลี่ยนแปลงแนวทางควบคุมอาวุธปืนหรือไม่และอย่างไร

…….