
นอกจากเสียงประณามจากทั่วสารทิศทั้งในญี่ปุ่นและนานาประเทศต่อการใช้ความรุนแรงของมือปืนที่ลอบยิงสังหารนายชินโซ อาเบะ อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ทีมสอบสวนพยายามสอบสวนหาแรงจูงใจของคนร้าย เบื้องต้น พบว่าเพิ่งออกจากงานเมื่อเดือนพ.ค. ด้วยเหตุผลว่า เหนื่อย
วันที่ 9 กรกฎาคม 2565 สำนักข่าว เอพี รายงานผลการสอบสวนคดีลอบสังหาร นายชินโซ อาเบะ อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ด้วยอาวุธปืน เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2565 ว่าผู้ต้องสงสัยที่ถูกจับกุมในที่เกิดเหตุเมืองนาระ เป็นชายวัย 41 ปี มีชื่อว่า เท็ตสึยะ ยามะงะมิ อายุ 41 ปี
นายยามะงะมิ อยู่อาศัยที่เมืองนาระ พื้นที่ก่อเหตุ ฝั่งตะวันตกของญี่ปุ่น ผู้ต้องสงสัยรายนี้เคยเข้าร่วมกองกำลังป้องกันตนเองทางทะเลของญี่ปุ่น หรือ Maritime Self-Defense Force มีสถานะเทียบเท่ากองทัพเรือของประเทศอื่น ช่วงปี 2555-2558 โดยประจำอยู่ที่ฐานคุเระ จังหวัดฮิโรชิมา

จากรายงานของ เจแปนไทมส์ นายยามะงะมิเข้าทำงานในบริษัทเมนูแฟกเจอริง ที่ภูมิภาคคันไซ ช่วงฤดูใบไม้ร่วง (ก.ย.ถึงพ.ย.) ปี 2020
เจ้าหน้าที่บริษัทผู้จัดหางานในจังหวัดโอซาก้า ให้ข้อมูลว่า นายยามะงะมิไม่ได้มีปัญหาอะไรกับบริษัทที่ทำงานด้วย แต่เมื่อเดือนเม.ย.ปีนี้ บอกกับบริษัทจัดหางานว่าต้องการลาออก ด้วยเหตุผลสุขภาพ บอกว่าเหนื่อย จากนั้นชายหนุ่มก็ลาออกในเดือนพ.ค.
“ผมไม่เห็นว่าเขามีแนวคิดทางการเมืองอะไร ผมเชื่อมโยงเขากับการโจมตีนี้ไม่ได้เลย” เจ้าหน้าที่รายดังกล่าวเผย
ยามะงามิอาศัยช่องที่ในสังคมญี่ปุ่นที่แทบไม่มีคนเสียชีวิตด้วยอาวุธปืน และแทบไม่มีคนครอบครองอาวุธปืนจากการควบคุมด้วยกฎหมายอย่างเข้มงวด โดยประดิษฐ์ปืนขึ้นเอง
ตำรวจจระบุว่าปืนดังกล่าวมีชนาด 15 นิ้ว หรือราว 40 เซนติเมตร ผู้เชี่ยวชาญสังเกตว่าน่าจะเป็นลักษณะ muzzle-loading คือการใส่กระสุนทางปากกระบอก
จากการค้นบ้านผู้ต้องสงสัย เจ้าหน้าที่พบอาวุธคล้ายกับปืนลูกซองที่ผู้ก่อเหตุน่าจะประกอบขึ้นเอง และบางกระแสข่าวว่า พบสารประกอบระเบิดภายในที่พักของผู้ต้องสงสัยด้วย

สื่อท้องถิ่นรายงานว่า นายยามะงะมิให้ปากคำตำรวจว่า ไม่พอใจนายอาเบะ และตั้งเป้าหมายนายอาเบะไว้เพื่อตั้งใจจะสังหาร หลังก่อเหตุแล้ว ไม่มีเจตนาจะหลบหนีใด ๆ
ขณะที่บีบีซีรายงานว่า ผู้ต้องสงสัยให้ปากคำว่า มีความแค้นต่อ “องค์กรบางแห่ง” และเชื่อว่าอาเบะมีความเกี่ยวพันกับองค์กรดังกล่าว
แม้การใช้อาวุธปืนประหัตประหารกันหาได้ยากมากในสังคมญี่ปุ่น แต่ละปีเฉลี่ยแล้วมีไม่ถึง 10 ราย เทียบกับอังกฤษที่มี 33 ราย และสหรัฐมีถึง 37,000 รายในช่วงเวลาเดียวกัน แต่อาชญากรรมลอบสังหารทางเมืองของญี่ปุ่นไม่ถึงกับไม่เคยเกิดมาก่อน
บุคคลแรกที่ถูกลอบยิงสังหารเสียชีวิต คือนายฮิโรบุมิ อิโตะ นายกรัฐมนตรีคนแรก ถูกกลุ่มชาตินิยมเกาหลีปลิดชีพเมื่อปีค.ศ. 1909 หรือพ.ศ. 2452
ต่อมานายทาคาฮาชิ โคเระคิโยะ นายกรัฐมนตรีช่วงปี 1921-1932 ถูกทหารลอบฆ่า หลังไปตัดงบกองทัพ ตามด้วยนายหยวน ฉงสือ นายกรัฐมนตรี ปี 1918-1921 ถูกสมาชิกขวาจัดแทงเสียชีวิต
อีกท่านหนึ่งที่เสียชีวิตขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ช่วงปี 1929-1931 คือนายโอสะจิ ฮามะงูจิ ถูกยิงบาดเจ็บและเสียชีวิตในที่สุด จากนั้นปี 1932 อินูไค สึโยชิ นายรัฐมนตรีถูกกลุ่มเจ้าหน้าที่ทหารเรือลอบสังหาร เสียชีวิต
ส่วนเหตุการณ์ไม่นานมานี้มากนัก คือนายยุกกิ อิชิอิ สมาชิกสภา ถูกฆาตกรรมในปี 2002 (พ.ศ.2555) โดยกลุ่มอิทธิพลมาเฟีย รวมถึงนายกเทศมนตรีเมืองนางะซากิ ถูกสมาชิกยากูซ่าลอบยิงสังหารหน้าสำนักงานรณรงค์หาเสียงของตนเองในปี 2007

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่จำนวนผู้เสียชีวิตจากอาวุธปืนปีละไม่เกิน 10 รายจากประชากร 125 ล้านคน เมื่อปีที่แล้ว มีผู้เสียชีวิตจากอาวุธปินเพียงรายเดียว บาดเจ็บ 4 คน และมีเหตุเกี่ยวข้องกับอาวุธปืนเพียง 10 คดี ในจำนวนนี้มีสาเหตุเกี่ยวข้องกับแก๊งมาเฟีย 8 คดี
หากดูสถิติในกรุงโตเกียวจะไม่พบเหตุการณ์ใดที่มีผู้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บเกี่ยวข้องกับอาวุธปืนเลย แม้จะมีการตรวจยึดอาวุธปืนได้ทั้งหมด 61 กระบอก
“ชาวญี่ปุ่นอยู่ในภาวะช็อก เหตุการณ์นี้เป็นสัญญาณเตือนว่า ความรุนแรงจากอาวุธปืนเกิดในญี่ปุ่นได้เช่นกัน ดังนั้นการคุ้มกันนักการเมืองน่าจะเป็นเรื่องที่ต้องทบทวน” นายชิโร คาวะโมโตะ อาจารย์ประจำคณะการจัดการความเสี่ยง มหาวิทยาลัยนิฮอน กรุงโตเกียว กล่าว
เหตุการณ์ของนายอาเบะ ทีมรักษาความปลอดภัยต้องเจอกับคำถามหนักหน่วง เพราะการทำร้ายด้วยปืนเป็นเรื่องแปลกมากสำหรับสังคมญี่ปุ่น จนทำให้มีการคุ้มกันหลวม ๆ แม้แต่กับบุคคลที่เป็นอดีตนายกรัฐมนตรี
….